3 เครื่องเทศลดอ้วน ป้องกันโรคเยี่ยม
เครื่องเทศลดอ้วน ได้จริงหรือ? ขอตอบเลยว่าความเผ็ดร้อนไม่มีดีแค่ช่วยให้อาหารรสชาติจัดจ้าน แต่มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพหลายอย่าง เรียกได้ว่าใครที่กำลังลดน้ำหนักไม่ควรพลาด มาอ่านกันให้ไวเลยค่ะ
พริกแดงเผ็ดร้อน ลดอ้วน
เมื่อกล่าวถึงเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดต้องยกนิ้วให้พริกแดง
การศึกษาหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตีพิมพ์ใน The British Journal of Nutrition แสดงให้เห็นว่า ความเผ็ดร้อนจากพริกแดงช่วยเพิ่มการทำงานของระบบเผาผลาญ โดยเฉพาะหากกินร่วมกับอาหารที่มีไขมัน แต่อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยเพอร์ดู(Purdue University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า
พริกแดงช่วยควบคุมความอยากอาหารและเพิ่มระบบเผาผลาญ หลังมื้ออาหารในผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารรสเผ็ดมากกว่าผู้ที่ชอบกินอาหารรสเผ็ดเป็นประจำ การศึกษานี้แบ่งอาสาสมัครผู้มีน้ำหนักตัวเกินออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกชอบกินอาหารรสเผ็ดเป็นประจำ นักวิจัยจึงให้โรยพริกแดงป่นลงในอาหารวันละ 1.8 กรัม ส่วนกลุ่มที่สองไม่ชอบกินอาหารรสเผ็ด นักวิจัยให้โรยพริกแดงป่นลงในอาหารวันละ 0.3 กรัม
หลังสิ้นสุดการทดลองพบว่า พริกแดงป่นช่วยเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายและมีส่วนช่วย ให้ระบบเผาผลาญทำงานดีขึ้น ช่วยให้ความอยากอาหารในมื้อถัดไปลดลง โดยได้ผลดีกับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารรสเผ็ด นักวิจัยสรุปว่า พริกแดงมีผลเพิ่มระบบเผาผลาญอย่างเห็นได้ชัดในผู้ที่ไม่กินรสเผ็ดเป็นประจำ อาจเพราะผู้ที่กินรสเผ็ดเป็นประจำมีระบบเผาผลาญสูงอยู่แล้ว
ทั้งเตือนว่า แม้พริกแดงจะช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญ แต่ก็ควรกินอาหารที่ให้พลังงานต่ำและมีประโยชน์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการลดน้ำหนักจึงจะประสบผลสำเร็จ และไม่ควรกินพริกแดงมากเกินไป เพราะอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน
อบเชยหอม ลดน้ำตาล ไขมัน ความดัน
อบเชยเป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม ได้จากการลอกเปลือกไม้ของต้นอบเชย นิยมใช้แต่งกลิ่น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า อบเชยมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และความดันโลหิต ซึ่งเป็น 3 ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังอันตราย
สมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) เปิดเผยการค้นพบสรรพคุณอันน่าทึ่งของผงอบเชยในวารสาร Diabetes Care โดยนักวิจัยทดลองให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชายและหญิง ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 52 ปี กินผงอบเชยโดยโรยลงในอาหารปริมาณแตกต่างกัน คือ วันละ 1 กรัม 3 กรัม และ 6 กรัม ส่วนกลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่ได้รับผงอบเชยปลอม
หลังจากผู้ป่วยโรคเบาหวานกินอาหารใส่ผงอบเชยครบ 40 วัน นักวิจัยตรวจสอบผลเลือดและพบว่า กลุ่มที่เติมผงอบเชยลงใน อาหารมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 18 – 29 เปอร์เซ็นต์ ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง 23 – 30 เปอร์เซ็นต์ ระดับไขมันแอลดีแอลคอเลสเตอรอลลดลง 7–27 เปอร์เซ็นต์ และระดับ คอเลสเตอรอลรวมลดลง 12–26 เปอร์เซ็นต์
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผงอบเชยปลอมมีระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง อีกหนึ่งข้อมูลจากงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Diabetes Science and Technology ทดลองในผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุง 22 คน โดยให้ผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่งดื่มน้ำสกัดจากอบเชย (an aqueous extract of cinnamon) วันละ 500 มิลลิลิตร นาน 12 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำสกัดจากอบเชยมีระดับความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) ระดับน้ำตาล และระดับไขมัน ในเลือดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่ม จึงสรุปว่า อบเชยมีประสิทธิภาพลดระดับน้ำตาล ไขมัน ในเลือด และความดันโลหิต
ขิง ต้านอักเสบ ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่
ขิงมีสารจินเจอรอล (Gingerol) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ทั้งยับยั้งการขยายขนาด และแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ การศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Osteoarthritis and Cartilage ระบุว่า การกินขิงสด สามารถช่วยลดการอักเสบและบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบบริเวณหัวเข่าได้
ชายและหญิงที่มีอาการปวดหัวเข่าเรื้อรัง อายุระหว่าง 42 – 85 ปี ได้รับชุดอาหารที่มีขิงสดเป็นส่วนประกอบทุกวัน หลัง 6 เดือน นักวิจัยพบว่า อาสาสมัครมีอาการเจ็บหัวเข่า ลดลงและสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยมีเกณฑ์วัดระดับความเจ็บปวดสูงสุดที่ 100 คะแนน ก่อนทดลอง อาสาสมัครให้คะแนนความเจ็บปวดมากถึง 76 คะแนน และหลังทดลอง ให้คะแนนลดลงเป็น 41 คะแนน
หลังจากนั้นนักวิจัยทดลองเปลี่ยนชุดอาหารให้อาสาสมัครอีกครั้ง โดยเปลี่ยนกลับมาเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของขิง และให้กินติดต่อกันนาน 6 เดือน ผลปรากฏว่า อาสาสมัครกลับมามีอาการปวดหัวเข่าเพิ่มขึ้น โดยให้คะแนนความเจ็บปวดมากขึ้นถึง 82 คะแนน
ไม่เพียงมีผลต้านการอักเสบ ขิงยังช่วยต้านโรคมะเร็งได้อีกด้วย พิสูจน์โดยมหาวิทยาลัย มินนิโซตา (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิจัยคัดเลือกหนูทดลองที่มีร่างกายแข็งแรง จากนั้นฉีดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่เข้าไปในร่างกาย แล้วจึงแบ่งหนูทดลอง ออกเป็น 2 กลุ่ม หนูทดลองกลุ่มแรกได้รับการฉีดสารจินเจอรอลซึ่งสกัดจากขิงปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนหนูทดลองอีกกลุ่มไม่ได้รับสารสกัดหรือยาชนิดใด เพื่อต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ผ่านไป 15 วัน ก้อนมะเร็งปรากฏในร่างกายหนูทดลองทั้งสองกลุ่ม โดยพบก้อนมะเร็ง 4 ก้อนในหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารจินเจอรอล ส่วนหนูทดลองอีกกลุ่มพบก้อนมะเร็งมากถึง 13 ก้อน หลังจากนั้น 49 วัน
นักวิจัยวัดขนาดก้อนมะเร็งในหนูทดลอง พบว่า กลุ่มที่ได้รับ สารจินเจอรอลมีขนาดของก้อนมะเร็ง 0.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ในขณะที่หนูทดลองอีกกลุ่ม มีขนาดก้อนมะเร็งใหญ่กว่าถึง 2 เท่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมินนิโซตายื่นขอจดสิทธิบัตรการค้นพบครั้งนี้แล้ว โดยมีการวิจัย ต่อเนื่องเพื่อใช้ประโยชน์จากสารจินเจอรอลรักษามะเร็งในคนต่อไป
เพราะมีเครื่องเทศแฝงอยู่ในสารพัดอาหารรอบตัว เพียงรู้จักเลือกกิน ก็เตรียมตัว ฉลาด หุ่นดี อ่อนเยาว์ อายุยืนได้ง่ายๆค่ะ
(สนับสนุนข้อมูล : คอลัมน์ชีวจิต+ นิตยสารชีวิต ฉบับที่ 363)
บทความน่าสนใจอื่นๆ