ในหลวงรัชกาลที่๙ พระมหากษัตริย์ผู้อ่อนน้อมและไม่ถือพระองค์
เมื่อเอ่ยถึงพระมหากษัตริย์ เราจะต้องคิดถึงชนชั้นสูงที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดกับราษฎรที่สุด และยังทรงเป็นต้นแบบของความอ่อนน้อม อ่อนโยน ไม่ถือพระองค์ไม่ว่ากับราษฎรหรือใครก็ตาม
ในหนังสือสองธรรมราชา สัมภาษณ์และรวบรวมโดย อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ กล่าวถึง ปาฏกถาจากศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ว่า
“พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติต่อพระภิกษุสงฆ์ด้วยความคารวะนอบน้อมยิ่งกว่าคนธรรมดาเสียอีก เช่น เวลาบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ ท่านก็ทรงนั่งพับเพียบต่อหน้าพระ เมื่อทรงเข้าไปทักสมณะผู้ใหญ่ ท่านก็ทรงคุกพระชงฆ์ลงไปกับพื้นเพื่อพูดกับพระ
“ครั้งหนึ่งมีภิกษุชราที่ท่านอาราธนามาเดินไม่ไหว พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเข้าไปประคองแขน และไปส่งจนถึงรถ ทรงทำเองแท้ๆ ไม่ได้ใช้มหาดเล็กเลย”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงแต่มีพระราชจริยวัตรอันงดงามกับพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น กับราษฎรก็ไม่ต่างกัน เรื่องนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2534 ว่า
“…ทรงคุยกับราษฎรนี่ไม่โปรดยืน ทรงถือขนบธรรมเนียมไทยที่ไม่ยืนค้ำผู้เฒ่าผู้แก่ จะประทับลงรับสั่งกับราษฎรเสมอมา แม้จะเป็นตอนเที่ยง แดดร้อน ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นพระราชจริยวัตรนี้ มาตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว…
“…ข้อสำคัญรับสั่งว่า ต้องเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของราษฎร ให้เขามีความสนิทสนมพอที่จะเอ่ยปากเล่าความทุกข์ของเขาให้ฟังได้…”
สายใยความผูกพันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับราษฎรนั้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในสยามรัฐรายวัน ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2505 ว่า
“…เท่าที่ผมทราบมานั้น ไม่มีอะไรจะทำให้ทั้งสองพระองค์สำราญพระราชหฤทัยเกินไปกว่าการที่ได้ทรงพบปะกับราษฎรของพระองค์ แม้จะใกล้หรือไกลก็ตามที ตามที่มีคำพังเพยแต่ก่อนว่า รัชกาลที่ 1 โปรดทหาร รัชกาลที่ 2 โปรดกวีและศิลปิน รัชกาลที่ 3 โปรดช่างก่อสร้าง (วัด) นั้น ผมกล้าต่อให้ได้ว่า รัชกาลที่ 9 นี้ โปรดราษฎร และคนที่เข้าเฝ้าฯ ได้ใกล้ชิดที่สุดเสมอไปก็คือราษฎร มิใช่ใครที่ไหนเลย
พระราชจริยวัตรอันอ่อนโยน และงดงามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แสดงออกต่อราษฎรนั้น ยังทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ข้าราชการชั้นสูงทั้งหลายอีกด้วย
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เคยรับสั่งว่า
“ท่านไม่นั่งเก้าอี้ ท่านลงไปประทับพื้นกับเขา เราก็เหมือนกัน เราเห็นท่านทำอย่างนั้น เราก็ต้องทำอย่างนั้น ไม่ใช่เราไปเป็นนายเขา เราต้องอยู่ในระดับเดียวกับชาวบ้านที่เราไปช่วย”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบดีว่าราษฎรของพระองค์นั้น เมื่อยากจนก็ยากจนถึงที่สุด แม้แต่จะออกมาร้องทุกข์ต่างๆ ก็ทำได้ยาก พระองค์จึงทรงเข้าไปในถิ่นทุรกันดารด้วยพระองค์เอง
ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บันทึกไว้ในหนังสือ ทำเป็นธรรม ว่า
“แม้บางบ้านจะโย้เย้ บางบ้านต้องลอดใต้บ้าน บันไดจะทำด้วยไม้กระบอกอย่างไรก็ตาม จะทรงย่องด้วยฝีพระบาทอันแผ่วเบา ไปทอดพระเนตรจนถึงก้นครัว ทอดพระเนตรเห็นถึงความขมขื่นแร้นแค้น ทรงสัมผัสด้วยความสลดพระทัย
“…บางครอบครัวมีความทุกข์ ถึงขนาดบนดวงหน้าปราศจากความรับรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งสองพระองค์จะทรงเข้าพระทัยเป็นอย่างดีด้วยภาษาใจ…”
เรื่องราวความไม่ถือพระองค์ต่อราษฎรมีมากมายจนนับไม่ถ้วน เช่น เรื่องราวน่ารักๆ เรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นดอยไปทรงเยี่ยมชาวไทยภูเขา ซึ่งอยู่ท้ายดอยจอมหด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ครั้งนั้นผู้ใหญ่บ้านชาวลีซอต้องการแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ จึงกราบทูลให้พระองค์เสด็จไปที่บ้าน พระองค์ทรงตอบรับและเสด็จฯ ตามผู้ใหญ่บ้านเข้าไปในบ้าน ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมุงหญ้าแห้ง ผู้ใหญ่บ้านนำที่นอนมาปูเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระองค์ จากนั้นจึงรินเหล้าที่ต้มเองใส่ในถ้วยที่มีคราบดำๆ จับอยู่ด้านในจนเขรอะ หนึ่งในคณะผู้ตามเสด็จกระซิบกราบทูลพระองค์ว่า ควรจะทรงทำท่าเสวย แล้วส่งเหล้าถ้วยนั้นพระราชทานแก่คณะผู้ติดตาม แต่ปรากฏว่าพระองค์ทรงยกเหล้าถ้วยนั้นขึ้นเสวยจนหมด และรับสั่งกับผู้ตามเสด็จฯ ในภายหลังว่า
“ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด”
เรื่องราวการเข้าถึงราษฎรอย่างใกล้ชิด และยังทรงเข้าถึงด้วยความอ่อนโยนและไม่ถือพระองค์ เป็นแบบอย่างที่ดีในการให้ประชาชนดำเนินรอยตาม และสิ่งที่พระองค์ทำนี้ จะยังคงสถิตอยู่ในใจของปวงชนตราบนิจนิรันดร์
เรื่อง: อุรัชษฎา ขุนขำ
ภาพ: AMARIN.INTRA
ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือครองใจคน เรียบเรียงโดย อมิตา อริยอัชฌา
หนังสือของขวัญแด่พ่อ เรียบเรียงโดย สุวิสุทธิ์
หนังสือสองธรรมราชา สัมภาษณ์และรวบรวมโดย อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์
บทความน่าสนใจ
พิพิธภัณฑ์การเกษตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เอกกษัตริย์นักจิตกรรม
บรรพชาอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช