” 10 พระบรมราโชวาทเพื่อการทำงาน “
ซีเคร็ตน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น จึงรวบรวม ” 10 พระบรมราโชวาทเพื่อการทำงาน ” อันทรงคุณค่า มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยทุกคน นำไปปรับใช้ในการทำงาน
- “…..การทำงานด้วยใจรักนั้น ต้องหวังผลงานเป็นสำคัญแม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้น จะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ…การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงคนโดยมากไม่ชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองช้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…”
พระบรมราโชวาทในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 กรกฎาคม 2506
2. “ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงาน ย่อมจะต้องมีปัญหาต่างๆ เป็นอุปสรรค ขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ ยากที่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหลีกเลี่ยงพ้นได้ คนก็มีปัญหาของคน สังคมก็มีปัญหาของสังคม ประเทศก็มีปัญหาของประเทศ แม้กระทั่งโลกก็มีปัญหาของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและกิจการงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสำคัญเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า ผู้ใดมีสติปัญญาคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก ผู้นั้นก็มีหวังบรรลุถึงเป้าหมาย มีความสำเร็จสูง ถ้าเป็นตรงกันข้าม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จสมหวังได้”
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2539
3. “การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิด ความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง โต้เถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติงาน”
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2541
4. “ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ”
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2533
5. “เมื่อทำงานใหญ่ ๆ ซึ่งประกอบด้วยส่วนย่อยหลาย ๆ ส่วน หรือมีขั้นตอนปฏิบัติหลายขั้นตอน จะต้องถือว่างานทุกขั้นทุกส่วนมีความสำคัญ และต้องพยายามกระทำงานแต่ละส่วนแต่ละขั้นตอนนั้นให้เสร็จสมบูรณ์ พอเหมาะพอดีเสมอกัน ไม่ละเว้นหรือไม่เน้นหนักในส่วนหนึ่งส่วนใดให้เกินพอดีไป งานที่ทำจึงจะสำเร็จผลสมบูรณ์แท้จริงโดยไม่มีจุดบกพร่อง”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2535
6. “เมื่อจะใช้วิชาการจำเป็นต้องเลือกสรรเฉพาะแต่ส่วนที่ถูกต้องตรงกับงานที่ทำ มิใช่นำมาใช้พร้อมกันทั้งหมด หรือนำมาใช้ด้วยอาการที่เรียกว่าเถรตรง เพราะการทำงานดังนั้นจะทำให้ความคิดเกิดสับสน ตึงเครียด และลังเลสงสัย จนทำงานไม่ได้ หรือทำได้ไม่สำเร็จ เนื่องจากตกเป็นทาสของวิชา”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2530
7. “ในอันที่จะทำงานของตนให้ประสานกับงานอื่น และประสานกับฝ่ายอื่นบุคคลอื่น จะปฏิบัติตัวปฏิบัติงานอย่างคับแคบมิได้เป็นอันขาด ท่านจะต้องทำตัวทำใจให้กว้างขวาง หนักแน่น และเที่ยงตรง ยึดถือเหตุผลความถูกต้อง ความพอเหมาะพอควร และประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเป็นเป้าหมาย”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2527
8. “การทำงานที่จะทำสัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2520
9. “เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2530
10. “ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามจนแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คน หลายๆ ทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน”
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2533
นี่คือ “พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส” เรื่องการทำงานบางส่วนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสกับประชาชนชาวไทย
หากใครกำลังรู้สึกท้อแท้กับการทำงาน สามารถนำไปพิจารณาปรับใช้ในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้
ขอบคุณรูปจาก daily.rabbit