10 คำศัพท์พุทธศาสนา ที่เชื่อว่าหลายคนเข้าใจผิด
เชื่อว่ามีคำศัพท์พุทธศาสนาหลายคำ ที่คุณผู้อ่านมักเข้าใจผิดกันเสมอ บ้างอาจเป็นเพราะในบริบทภาษาไทยและในทางพุทธมีความหมายคนละอย่าง บ้างอาจเป็นเพราะเราได้ยินได้ฟังมาแบบผิด ๆ
กาม
หลายคนเข้าใจว่า “กาม” คือเรื่องลามก หยาบคาย เรื่องเพศเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว “กาม” หมายถึง ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่กามมี 2 ลักษณะ คือ 1) กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้เกิดความปรารถนา ได้แก่ราคะ โลภะ อิจฉา (อยากได้) เป็นต้น 2) วัตถุกาม วัตถุอันน่าปรารถนา ได้แก่ กามคุณ 5 คือ คือ รูป (สิ่งที่ตามองเห็น) เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กายสัมผัส)
วาสนา
ชาวไทยเราถือว่า “วาสนา” เป็นคำเชิงบวกหมายถึง ลาภยศ บารมี จึงไม่มีความจำเป็นที่คนเราจะต้องละแต่อย่างใด แต่ในทางพุทธศาสนา คำว่า “วาสนา” มิได้มีความหมายเชิงบวกเช่นในภาษาไทย หากแต่หมายถึงอาการทางกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็วหรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น
อบายมุข
พูดถึงคำนี้ทีไรคนมักนึกถึงแต่สุราหรือของมึนเมา แท้จริงแล้วในทางพุทธอบายมุข คือ ช่องทางของความเสื่อม มี 4 อย่างคือ 1) เป็นนักเลงหญิง 2) เป็นนักเลงสุรา 3) เป็นนักเลงการพนัน 4) คบคนชั่วเป็นมิตร
อีกหมวดหนึ่งมี 6 อย่าง คือ 1) ติดสุราและของมึนเมา 2) ชอบเที่ยวกลางคืน 3) ชอบเที่ยวดูการเล่น 4) เล่นการพนัน 5) คบคนชั่วเป็นมิตร 6) เกียจคร้านการงาน
สันโดษ
หลายคนเข้าใจว่าคำนี้หมายถึง การอยู่ลำพัง ไม่พึ่งวัตถุอำนวยความสะดวกใดๆ แต่ที่จริงแล้วสันโดษ หมายถึง ความยินดี, ความพอใจด้วยปัจจัย 4 คือ ผ้านุ่งผ้าห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่ง และยา ตามมีตามได้, ยินดีในของของตน, การมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร
สังขาร
หลายคนได้ยินบ่อยๆ ว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” จนพานเข้าใจไปแล้วว่า สังขาร ในทางพุทธหมายถึง ร่างกายที่โรยราตามอายุขัย ความจริงแล้ว สังขาร นั้นไม่ได้แปลว่าร่างกายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายว่า การปรุงแต่ง หรือ สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ได้ด้วยซึ่งการปรุงแต่งนี้มีทั้งปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ ทั้งที่เป็นกุศล เป็นอกุศลและเป็นกลางๆ
เวทนา
คำว่า เวทนา กับ สงสาร มักมาคู่ๆ กันเสมอ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เวทนาแปลว่า สงสาร ที่จริงแล้ว เวทนา (ทางพุทธอ่านว่า เว-ทะ-นา) หมายถึง ความรู้สึกสุขทุกข์ มี 3 อย่าง คือ 1) สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย 2) ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย และ 3) อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉย ๆ
อธิษฐาน
หลายคนเข้าใจว่าการอธิษฐาน คือการตั้งจิตปรารถนา เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความจริงแล้ว อธิษฐาน ยังมีอีกสองความหมายคือ 1) ในทางพระวินัย แปลว่าการตั้งใจกำหนดเอาไว้ เช่นได้ผ้ามาผืนหนึ่งตั้งใจว่าใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิ อธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน 2) ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน
บารมี
คำนี้หลายคนเข้าใจว่า หมายถึง อำนาจ แต่ในทางพุทธ บารมี หมายถึง คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง มี ๑๐ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา และอุเบกขา
กรรม
เชื่อว่าหลายคนเข้าใจผิดว่า กรรม คือสิ่งที่เคยทำเมื่อชาติปางก่อน แล้วให้ผลมายังชาตินี้ แท้จริงแล้ว กรรม หมายความว่า การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือ ทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ให้ผลได้ทั้งในปัจจุบันและภพหน้า รวมทั้งกรรมเลิกให้ผล (อโหสิกรรม)
มานะ
ในภาษาไทย เราใช้คำว่ามานะ แปลว่า บากบั่น เพียรพยายาม แต่ในทางพุทธ มานะ แปลว่า ความถือตัว, ความสำคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มักใช้คู่กับ ทิฏฐิ ซึ่งแปลว่า ความเห็นดื้อดึง ถึงผิดก็ไม่ยอมแก้ไข เมื่อเรียกรวมกันแล้วหมายความว่า ถือรั้น อวดดี หรือดึงดื้อถือตัว
อ้างอิงจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ป.อ. ปยุตฺโต
บทความน่าสนใจ
คุณลักษณะของ ครูที่ดี ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร
ลิขิตชีวิตด้วยธรรมและคำสอนพ่อ – ดารินทร์ ยิ่งเจริญ จากลูกพ่อค้าสู่ เจ้าของธุรกิจ 400 ล้าน
พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ทรงสอนเหมือนกัน โดย พระกรภพ กิตติปญฺโญ
ยิ้มไว้ก่อน ท่าน ว สอนไว้! 8 วิธีสลายความเครียด สูตร ว.วชิรเมธี