คนหูเบา

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: เป็น คนหูเบา เชื่อคนง่าย ทำอย่างไรดี

เป็น คนหูเบา และเชื่อคนง่าย จะทำอย่างไรดี?

ถาม:  เป็น คนหูเบา และเชื่อคนง่าย จะทำอย่างไรดี?

ตอบ: คนหูเบา ต้องฝึกให้ตัวเองมีสติสัมปชัญญะบ่อย ๆ คือระลึกได้ และรู้ตัวอยู่เสมอว่า กำลังทำ พูด หรือ คิดอะไรอยู่ พอมีสติและประสบการณ์แล้ว ก็สามารถแยกแยะได้ว่า คำพูดของใครน่าเชื่อถือ และอย่าด่วนสรุปเชื่อทันที ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสสอนอยู่ในกาลามสูตร ถึง 10 ประการ อันเป็นหลักให้เราต้องตรึกตรองอย่างรอบคอบ ได้แก่

1. มา อะนุสสะเวนะ อย่าด่วนปลงใจเชื่อด้วยการฟังตาม ๆ กันมา

2. มา ปะรัมปะรายะ อย่าด่วนปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา

3. มา อิติกิรายะ อย่าด่วนปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ

4. มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ อย่าด่วนปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

5. มา ตักกะเหตุ อย่าด่วนปลงใจเชื่อเพราะเดาว่าเป็นเหตุผลกัน

6. มา นะยะเหตุ อย่าด่วนปลงใจเชื่อเพราะการอนุมานคาดคะเน

7. มา อาการะปะริวิตักเกนะ อย่าด่วนปลงใจเชื่อด้วยการเดาจากอาการที่เห็น

8. มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา อย่าด่วนปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว

9. มา ภัพพะรูปะตายะ อย่าด่วนปลงใจเชื่อเพราะผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อถือ

10. มา สะมะโณ โน คะรูติ อย่าด่วนปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

ดังนั้นเราจะเชื่อต่อเมื่อได้สอบสวนไตร่ตรองพิจารณาจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า หากธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงยึดถือน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ต้องเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่เสมอ

ธรรมะจากพระอาจารย์ ดร.พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโต  : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา

 

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)

Image by Jacquelynne Kosmicki from Pixabay


บทความน่าสนใจ

ความเชื่อและความจริง พระราชญาณกวี

Q : หมอดูทักว่าเราชะตาขาด แบบนี้ถึงทำความดีแค่ไหนก็อดเสียวไม่ได้เหมือนกัน เราควรคิดอย่างไร

Q : “คนเกิดวันอาทิตย์ต้องใส่ เสื้อแดง ถึงจะถูกโฉลก” ศาสตร์แบบนี้เราเชื่อถือได้แค่ไหน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.