ใครเป็นสาวกของขนมไทยๆ ต้องไม่พลาดขนมไทยยอดฮิตอีกหนึ่งชนิดอย่าง ขนมชั้น แน่นอน เพราะทั้งอร่อย หวานมัน ส่วนวิธีทำนั้น จะยากหรือไม่? มาดูกันค่ะ
ขนมชั้น ขนมไทยที่มีลักษณะเป็นชั้นๆ สีเขียวจากใบเตยและสีขาวในสมัยก่อนมีรสหวานมัน เนื้อนุ่มหนึบ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่องสีสันให้มีความน่ากินยิ่งขึ้น วันนี้เราเลยนำสูตรขนมไทยๆ นี้มาฝากกันค่ะ
การทำ ขนมชั้น ต้องเตรียมส่วนผสม และวิธีการทำอย่างไรบ้าง
ส่วนผสมขนมชั้น (สำหรับ 1 ถาดกลาง) เตรียม 5 นาที ปรุง 30 นาที
- แป้งมัน 1½ ถ้วย
- แป้งเท้ายายม่อม ½ ถ้วย
- แป้งข้าวเจ้า ¼ ถ้วย
- หัวกะทิ 2¼ ถ้วย
- หางกะทิ 1 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 2 ถ้วย
- สีผสมอาหารตามชอบ
- น้ำมันพืชสำหรับทาพิมพ์
วิธีทำขนมชั้น
1. ผสมแป้งทั้งสามชนิดเข้าด้วยกัน ค่อย ๆ ใส่หัวกะทิลงนวดจนแป้งนุ่มแล้วจึงใส่หัวกะทิที่เหลือลงไป คนให้เข้ากัน
2. ใส่น้ำตาลและหางกะทิลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟอ่อนจนน้ำตาลละลายและเดือด ยกลงจากเตา พักไว้ให้อุ่น จากนั้นใส่ส่วนผสมแป้งในข้อ 1 ลงไป คนให้เข้ากัน
3. แบ่งแป้งออกมาครึ่งหนึ่งผสมกับสีผสมอาหารตามชอบ พักไว้
4. ทาน้ำมันพืชให้ทั่วพิมพ์แล้ววางลงในลังถึง นึ่งโดยใช้ไฟแรงประมาณ 2 นาที จากนั้นปรับเป็นไฟกลาง เปิดฝาออก ใส่แป้งผสมสีให้มีชั้นหนาประมาณ ½ เซนติเมตร ปิดฝา นึ่งต่ออีก 3 นาที จึงใส่แป้งผสมสีลงไปสลับชั้นกันแต่ละชั้น นึ่งต่อชั้นละ 3 นาที ทำจนได้จำนวนชั้นที่ต้องการ ยกลงจากเตา พักไว้ให้เย็น แกะออกจากพิมพ์พร้อมเสิร์ฟ
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 163.17 กิโลแคลอรี
โปรตีน 1.46 กรัม ไขมัน 11.51 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 15.29 กรัม ไฟเบอร์ 0.20 กรัม
♦ ที่มาของ ขนมชั้น
ประวัติของขนมชั้นนั้นในภาษาไทยยังไม่มีข้อมูล ว่ามีที่มาอย่างไร แต่เจอในข้อมูลภาษาอังกฤษของ ขนมชั้น ประเทศมาเลเซียว่า ขนมKueh Lapis หรือขนมชั้นในภาษามาเลย์ (คุย kue มาจากภาษาจีนหมิ่นใต้หรือหมินหนาน แปลว่า ขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวจ้าว แป้งมันและแป้งหมี่ดังเช่น ขนมเค้ก ขนมไข่เป็นต้น) นิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีน ฮารีรายอ ในมาเลเซีย สิงคโปร์ เว็บไซต์ของมาเลเซียเขียนว่ารับขนมชนิดนี้มาจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอิทธิพลของชาวดัชต์หรือเนเธอร์แลนด์ เจ้าอาณานิคมอินโดนีเซีย โดยขนมเปลี่ยนจากการอบเป็นการนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการทำอาหารที่นิยมมากกว่าในประเทศแถบนี้ ดังนั้น ทำให้ขนมชั้นจึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Steamed layer cake โดยขนมชั้นสามารถพบได้ในประเทศต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม
อินโดนีเซียมีขนมอิทธิพลดัชต์นามว่า lapis legit เป็นขนมหวานที่นิยมในอินโดนีเซีย และมีต้นแบบมาจากขนมเค้กที่เรียกว่า Spekkoek (koek คือเค้ก ส่วน spek แปลว่าท้องหมู อาจจะตีความได้ว่าหน้าตาที่เป็นชั้นๆ ของขนมนี้คล้ายกับหมูสามชั้นหรือเบคอน) ของชาวดัตช์ เชื่อกันว่าขนมนี้อาจจะมีต้นแบบแรกสุดมาจากชาวเยอรมัน เราจะเห็นได้ว่ามีขนมของชาวเยอรมันที่หน้าตาคล้ายๆ กันคือ ฺBaumkuchen ที่เหมือนกับขอนไม้รูปวงกลมเป็นชั้นๆ เพียงแต่ spekkoek ไม่มีช็อกโกแลตเคลือบเท่านั้นเอง
ส่วน ขนมชั้น ในประเทศไทย มีมาเมื่อไหร่ไม่ทราบแน่ชัด แต่ชาวดัชต์ปกครองอินโดนีเซียปี ค.ศ. 1800-1942 ก็ประมาณ สมัย ร.1-ร.8 ของไทย แสดงว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือกรุงธนบุรี น่าจะยังไม่มีขนมชั้น ขนมชั้นเป็นที่จัดอยู่ในขนมประเภทแข้น (กึ่งแห้งกึ่งเปียกหรือแข็ง) ในอดีตนิยมใช้ขนมชั้นในงานฉลองยศ เพราะมีความหมายถึงลำดับชั้น ยศถาบรรดาศักดิ์ คนโบราณนิยมทำกันถึง 9 ชั้น เพราะถือเคล็ดเสียงของเลข “9”ว่าจะได้“ก้าวหน้า” ในหน้าที่การงาน
ส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์สยาม ที่กล่าวถึง ขนมชั้นที่เก่าแก่สุดเท่าที่พบคือ ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ในสมัย ร.5 แสดงว่าในสมัย ร.5 นี้ ชาวสยามรู้จักกับขนมชั้นแล้ว นอกจากนี้พระยาอนุมานราชธน “เสฐียรโกเศศ” (มีชีวิตช่วง 14ธันวาคม พ.ศ. 2431 – 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 5 แผ่นดิน ร.5-ร.9) ได้เขียนไว้ว่าขนมชั้นยังจัดอยู่ ในชุดของขนมแต่งงานซึ่งในพิธีขันหมาก
ขอบคุณข้อมูล www.nomchan.blogspot.com