รู้จักสาเหตุและแนวทางการป้องกันการเกิด ไซนัส อักเสบ
ไซนัส ( sinus) หมายถึง โพรงอากาศรอบๆ ดวงตาและจมูก จากจมูกจะมีโพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกที่เป็นโครงสร้างของใบหน้าทั้งหมด 4 คู่ คือโพรงอากาศที่หน้าผาก ที่หัวตา ที่แก้ม และที่ฐานของกะโหลกศีรษะ
โดยไซนัสจะมีเยื่อเมือกบุอยู่ภายใน เมื่อไรก็ตามที่เยื่อเมือกบุโพรงอากาศเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสขึ้นมา เช่น เชื้อที่ทำให้เกิดไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เยื่อเมือกบุโพรงอากาศอักเสบ บวม และเต็มไปด้วยเสมหะและหนอง ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดรอบๆเบ้าตา ใบหน้า และขมับ
ในผู้ใหญ่จะพบบ่อยว่าเป็นไซนัสอักเสบที่โพรงอากาศบริเวณแก้ม ส่วนเด็กเล็กๆจะพบบ่อยตรงโพรงอากาศบริเวณหัวตา
สาเหตุ
-
- ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น เชื้อไวรัส ใครที่เป็นไข้หวัดและมีอาการนานเกินกว่า 7-10 วันให้สงสัยแล้วว่าน่าจะมีการอักเสบของไซนัสร่วมด้วย หรือถ้าไซนัสอักเสบและมีหนองแสดงว่าติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจจะเกิดจากเชื้อราก็ได้ แต่ในลักษณะนี้มักจะเกิดในรายที่เป็นเรื้อรังและเป็นมานาน
- ฟันผุเพราะโพรงอากาศที่แก้มจะอยู่ติดกับฟันบน ถ้าเรามีรากฟันอักเสบเป็นหนองหรือฟันผุจะสามารถเชื่อมต่อเข้าไปยังส่วนนี้ได้
- ดำน้ำแล้วสำลักน้ำสกปรกเข้าไปในจมูก หรือการขึ้นที่สูงด้วยความเร็ว เช่น เดินทางด้วยเครื่องบิน
- ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยตรงที่บริเวณไซนัส เช่นถูกชกต่อยทำร้าย
- สำหรับในเด็ก อาจเกิดจากเด็กเอาวัตถุใส่ในจมูก แล้วเอาออกไม่ได้ เมื่อปล่อยไว้เป็นเวลานานจะมีการติดเชื้อและลามไปถึงไซนัสได้เช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีไซนัสแบบรักษาอย่างไรก็ไม่หาย หรือเป็นต่อเนื่องติดต่อกันสามเดือนขึ้นไป ซึ่งเรียกว่าโรคไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อและมีปัจจัยส่งเสริมอื่นๆคือ หนึ่ง สภาพแวดล้อมไม่ดีอยู่ในที่แออัด สอง เนื่องจากสุขภาพไม่ดี เช่น เป็นโรคแพ้อากาศ เป็นโรคริดสีดวงจมูก เป็นโรคขาดอาหาร เป็นโรคโลหิตจาง เป็นต้น
อาการของโรค
ส่วนใหญ่มีน้ำมูกข้นลักษณะแบบหนอง มีกลิ่นเหม็น น้ำมูกจะไม่ไหลออกทางด้านหน้าแต่จะไหลลงคอ มีอาการคัดจมูกข้างที่เป็น เจ็บคอเพราะหนองจากไซนัสที่ไหลลงคอบ่อยจะทำให้ระคาย ทำให้ไอหรือมีเสียงแหบได้ ปวดตื้อๆตรงบริเวณที่เป็นไซนัส อาจจะมีไข้ต่ำๆ รู้สึกอ่อนเพลียไม่สบาย บางคนอาจจะรู้สึกหูอื้อ
แนวทางในการรักษา
-
- รักษาเรื่องการติดเชื้อ ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเหมาะกับเชื้อ
- ระบายหนองจากบริเวณที่เป็นไซนัส
- หากเกิดจากการอุดตันของรูเปิดของไซนัส เช่น ผนังกั้นจมูกคด ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
- โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ดังนั้นต้องป้องกันการเป็นซ้ำ ด้วยการเคร่งครัดในการกินยาตามที่แพทย์สั่ง มิฉะนั้นจะเกิดการดื้อยาได้ การดูแลตัวเองของผู้ป่วย
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง ดังนั้นสิ่งหลักๆที่ต้องดูแล คือการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดี โดยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งระมัดระวังไม่ให้เกิดความเครียด
อาหาร ต้านไซนัสอักเสบ
-
- ผักและผลไม้สด เพื่อให้ได้รับวิตามินซีและสารไบโอเฟลโวนอยด์
- หอยนางรมและถั่วเปลือกแข็ง เพื่อให้ได้รับธาตุสังกะสี
- ข้าวกล้องและถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อให้ได้รับวิตามินบีชนิดต่างๆ
- เมล็ดทานตะวันและน้ำมันพืช เพื่อให้ได้รับวิตามินอี
- เครื่องเทศและสมุนไพรที่ช่วยขับเสมหะ เช่น หอม กระเทียม ขิง พริก อบเชย