ไต, โรคไต, อาหารโรคไต, ผู้ป่วยโรคไต, ไตเรื้อรัง

โรคไต อาหาร กินผิดชีวิตไตสั้น

โรคไต อาหาร ต้องกินอย่างไร ไตพัง ไตดี

โรคไต อาหาร ยังคงเป็นประเด็นให้หลายคนกลัวทุกครั้งที่กิน กินอะไรเพื่อเลี่ยงโรคไต และกินแบบไหนไตพัง

สำหรับคนทํางานคงต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพประจําปีกันอยู่แล้ว หากได้รับรายงานผลตรวจ แนะนําให้ทุกคนเพ่งไปที่ค่าครีเอทินีน (Creatinine) หรือค่าที่ชี้วัดการ ทํางานของไตในการขับของเสียที่เกิดจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ คนปกติต้องอยู่ที่ 1-1.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ใครที่ค่าครีเอทินีนปริ่มๆ จะแตะเพดานมาตรฐานแล้ว ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะไตกําลังทํางานผิดปกติหรืออาจมีภาวะไตวายเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า “คนปกติค่าครีเอทินีนจะอยู่ระหว่าง 1-1.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าเกินจาก 1.5 แสดงว่าไตสูญเสียการทํางานไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่จะไม่แสดงอาการผิดปกติ เพราะไตมีสองข้าง ข้างหนึ่งทํางานน้อย อีกข้างหนึ่งจะช่วยทํางานแทนเหมือนคนที่บริจาคไตให้น้องหรือญาติ เขาก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แม้ไตจะเหลือข้างเดียวหรือเหลือการทํางานเพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์”

กินอะไรเสี่ยงไตพัง

สําหรับคนทั่วไปที่ยังไม่มีภาวะไตวาย แต่มีอาการ ดังต่อไปนี้คือ ขาบวม น้ำหนักลด ผมร่วง หน้าซีดและอ่อนเพลีย คุณหมอสุรศักดิ์อธิบายว่า เป็นผลมาจากไตสูญเสียการทํางานไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะต้องรีบกลับมาเช็กพฤติกรรมการกินของตัวเองด่วน เพราะมียาและอาหารบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของไต เมื่อปรับพฤติกรรมการกินให้ถูกต้องอาจทําให้เปอร์เซ็นต์การทํางานของไตขยับสูงขึ้นได้

  • กินยาผิดชีวิตสั้นลง

คุณหมอสุรศักดิ์สรุปพฤติกรรมการกินยาเสี่ยงไตพังไว้ว่า ยาส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาวิจัยมาแล้วเป็นอย่างดีว่า มีคุณมากกว่ามีโทษ จึงสมควรให้มีการใช้ในผู้ป่วย แต่ยาบางชนิดถ้าเราไม่กินตามคําแนะนําของแพทย์ ก็อาจมีผลเสียต่อไตและตับได้ มีกลุ่มยาที่ส่งผลต่อการทํางานของไตที่ต้องเฝ้าระวังหลายชนิด

ดังนี้ ยาแก้ปวดหรือพาราเซตามอล เป็นยาที่มีรายงานว่า มีความเป็นพิษต่อไตเป็นอันดับหนึ่ง คนไข้ไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ บางคนกินต่อกันนานเป็นปีหรือหลายปี จึงมีโอกาสทําให้ไตทํางานผิดปกติ ยาต้านการอักเสบซึ่งไม่ใช่กลุ่มสเตียรอยด์ เช่น ยาแก้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้ออักเสบ ยาแก้ข้ออักเสบ ยาแก้อาการปวดท้องประจําเดือน ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์แรงจึงช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ซึ่งควรกินภายใต้การดูแลของแพทย์ ปกติไม่ควรกินนานเกิน 7 วัน

นอกจากนี้ผู้ที่กินยากลุ่มนี้แล้วมีความเสี่ยงต่อภาวะไตวายคือ ผู้มีอายุเกิน 60 ปี ผู้ที่มีโรคประจําตัว เช่น เป็นโรคไตอยู่เดิม โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่มีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากอาการท้องเสีย อาเจียนรุนแรง ดื่มน้ำไม่ได้ เพราะจะทําให้ปัสสาวะน้อย ซึ่งจะทําให้ร่างกายไม่สามารถขับยาออกได้เต็มที่ จึงเกิดการสะสมของพิษยา อาจทําให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ดังนั้น ผู้ที่กินยากลุ่มนี้จึงได้รับคําแนะนําว่า ต้องดื่มน้ำตามมากๆ นั่นเอง

  • สมุนไพรจีนที่ต้องระวัง

นอกจากกลุ่มยาแผนปัจจุบันที่หากกินไม่ถูกอาจ ทําให้ไตพังแล้ว ยังมีสมุนไพรจีนบางชนิดที่มีผลเสียต่อไต คุณหมอสุรศักดิ์อธิบายดังนี้ “มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับพิษของสมุนไพรจีนซึ่งเป็นที่ยอมรับในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พบว่า สมุนไพรจีนช่วยลดน้ำหนักบางชนิดตรวจพบกรดแอริสโทโลคิก (Aristolochic Acid) ซึ่งพบว่าสารตัวนี้จะทําให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันถ้ากินในปริมาณมาก แต่ถ้ากินติดต่อกันเป็นเวลานานจะทําให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาไตทํางานผิดปกติอยู่แล้วยิ่งเสี่ยงอันตราย

  • อาหารที่ต้องระวัง

คราวนี้มาสู่หัวข้ออาหารที่ควรระวัง คุณหมอสุรศักดิ์สรุปไว้ดังต่อไปนี้

มะเฟือง ที่ประเทศไต้หวันมีรายงานทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่ไตมีปัญหาอยู่แล้วเมื่อดื่มน้ำคั้นมะเฟืองสดทีเดียว 5-6 ลูก ทําให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ สันนิษฐานว่าเป็นเพราะการดื่มน้ำมะเฟืองคั้นสด เนื่องจากในมะเฟืองมีสารออกซาเลต(Oxalate) ซึ่งสารนี้สามารถตกตะกอนในท่อไตได้จึงทําให้คนไข้ปัสสาวะน้อยหรือปัสสาวะไม่ออกทําให้ไตมีปัญหาได้

ลูกเนียง ในลูกเนียงพบกรดเจนโคลิก (Djenkolic Acid) ซึ่งสารนี้สามารถตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วในท่อไตได้เช่นกัน จึงควรกินในปริมาณพอเหมาะ

ไต, โรคไต, อาหารโรคไต, ผู้ป่วยโรคไต, ไตเรื้อรัง
ยาและอาหารบางชนิด ส่งผลต่อการทำงานของไต

กินอยู่เพื่อไตแข็งแรง

นอกจากเลี่ยงพฤติกรรมการกินที่ส่งผลเสียต่อไตแล้ว เรายังสามารถช่วยป้องกันไตไม่ให้ถูกทําลายและเสริมการทํางานให้แข็งแรงได้ด้วย คุณหมอสุรศักดิ์แนะนําดังนี้

1.กินยาเท่าที่จําเป็นและต้องกินตามคําแนะนําของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเอง โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจําตัว เช่น โรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

2.ไม่กินอาหารรสเค็มจัด เนื่องจากอาหารรสเค็มจะทําให้ไตต้องทํางานหนักขึ้น จึงควรกินอาหารรสชาติปานกลาง

3.ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย แนะนําให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้วขึ้นไป

4.กินผักผลไม้ เพราะมีสารโพแทสเซียมและแอนติออกซิแดนต์สูง ซึ่งจะช่วยลดระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ เมื่อความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติก็จะช่วยให้ไตทํางานเป็นปกติ

5.ออกกําลังกายสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และเบาหวาน ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลต่อการทํางานของไต

อย่าลืมนําคําแนะนําดีๆไปปรับใช้นะคะ เพื่อให้ระดับครีเอทินีนอยู่ในเกณฑ์ปกติ สุขภาพไตจะแข็งแรง รวมถึงสร้างความสดชื่นให้ร่างกาย โดยรวมของเราทุกระบบด้วยค่ะ


บทความอื่นที่น่าสนใจ

Christine Buell  คุณครูผู้ให้ บริจาคไต เพื่อชีวิตใหม่ของอดีตลูกศิษย์

ลดเค็ม ช่วย ไต ด้วยสมุนไพรไทย

โรคหัวใจ ออกกำลังกายได้หรือไม่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.