ความอ้วน ป้องกันได้
ความอ้วน เป็นปัญหาของใครหลายคน …. ปัจจุบันการดูแลสุขภาพมีแนวโน้มจะได้รับการใส่ใจมากขึ้นทั้งในระดับปัจเจกและในระดับสังคม โดยเฉพาะปัญหาพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค หรือที่อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต เรียกว่า “โรคที่ไม่ใช่โรค”
หนึ่งในนั้นคือ โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ต่อการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนคนไทยทั้งชายและหญิง
ชีวจิตจึงนำเสนอสาเหตุก่อโรคอ้วนของคนแต่ละวัย พร้อมวิธีป้องกัน เพื่อให้ผู้อ่านใช้เป็นข้อมูลในการดูแลสุขภาพ ช่วยสร้างหุ่น ฟิต เฟิร์ม
ทั้งนี้จะขอแบ่งช่วงวัยเป็น 4 ช่วง คือ วัยเด็ก อายุ 0-12 ปี วัยรุ่น 13-19 ปี วัยทำงาน 20-59 ปี และวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
วัยเด็กกินให้สมวัย เพื่อคุณค่าทางโภชนาการ
วัยเด็ก คือช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด-อายุ10 ปี เป็นวัยที่ต้องงอาศัยการดูแลจากพ่อแม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแม่ที่เป็นคนเลี้ยงดู และควบคุมการกินอาหารเพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการซึ่งทำให้เด็กเจริญเติบโตและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
เหตุทำเด็กอ้วน
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงสาเหตุสำคัญของโรคอ้วนในวัยเด็กสรุปได้ ดังนี้
- เด็กกินอาหารมากเกินความจำเป็น (Overfeeding) โดยเฉพาะเด็กเล็กก่อนวัยเรียนที่กินอาหารเสริมหรือนมผงมากเกินไป จนได้รับพลังงานเกินความต้องการของร่างกาย
- ทัศนคติของสังคมไทยชอบให้เด็กอ้วน สังคมไทยมองเด็กอ้วน จ้ำม้ำ ว่าเป็นเด็กน่ารัก เมื่อโตแล้วเด็กจะผอมเอง เราควรทำความเข้าใจและปรับทัศนคติดังกล่าวเสียใหม่ เพราะเด็กอ้วนมีโอกาสจะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนในอนาคต
- การกินอาหารไม่มีประโยชน์ เด็กวัยเรียนต้องเผชิญกับสิ่งยั่วยุมากมาย โดยเฉพาะ อาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูง อาหารที่มีไขมันและโซเดียมเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายมาก ส่งผลให้เด็กอ้วนง่าย
กินให้สมวัย
โรคอ้วนในเด็กเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วย ทั้งในระดับนโยบายของรัฐบาล โรงเรียน และชุมชน แต่ที่สำคัญที่สุดคือครอบครัว ที่จะเป็นหน่วยหลักในการสรรหาอาหารสุขภาพให้เด็ก รวมถึงควรทำกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กๆได้ใช้พลังงาน
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้คำแนะนำวิธีป้องกันโรคอ้วนในเด็กไว้ดังต่อไปนี้
- ควรให้ลูกกินแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เกิดมา
- ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อยนาน 6 เดือน
- ควรจำกัดอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลปริมาณสูงให้น้อยลง
- กินผักผลไม้ เมล็ดถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสีเป็นประจำ
- ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละ 60 นาที
นอกจากนี้ ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนคลินิก (เบาหวาน หัวใจ โรคกลุ่มเมตาบอลิก) ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำการให้เด็กๆกินอาหารตามหลักธงโภชนาการ คือ กินอาหารให้เหมาะสมกับ อายุ เพศ ขนาดรูปร่าง และการใช้พลังงานในแต่ละวัน โดยเน้นกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย เพื่อช่วยสร้างสุขภาพ เสริมภูมิต้านทานและป้องกันโรค
เรียกน้ำย่อยกันก่อนที่วัยน่ารักน่าชัง”วัยเด็ก ยังเหลืออีกสามวัย คือ วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ อยากผอมสุขภาพดีกันทั้งครอบครัว ต้องอ่านนะค่ะ อ่านได้ที่ คอลัมน์ เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 396 (1 เมษายน 2558) หุ่นดี อ่อนเยาว์ อายุยืนแน่นอนจ้า…
เรื่องโดย: พทป.ชารีฟ หลีอรัญ, สุนิสา สมคิด