ปวดต่อมน้ำเหลือง

ปวดต่อมน้ำเหลือง เมื่อไหร่ ได้เรื่องเมื่อนั้น

ปวดต่อมน้ำเหลือง สัญญาณเตือน เตรียมป่วย

ปวดต่อมน้ำเหลือง เป็นอีกหนึ่งอาการที่ร้องบอกว่าร่างกายกำลังไม่ปกติ อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือเป็นอะไรที่มากกว่านั้นได้ แต่อาการจะเป็นอะไรได้บ้างนั้น รวมทั้งปวดต่อมน้ำเหลืองเป็นสัญญาณของอะไรบ้าง ไปอ่านกันค่ะ

ต่อมน้ำเหลือง

ต่อมน้ำเหลือง เป็นหนึ่งในระบบน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าเม็ดถั่วลันเตาไปจนถึงถั่วแดง รวมตัวกันเป็นกลุ่มอยู่ตามจุดต่างๆ 9 แห่ง ในร่างกาย คือ

  1. กกหู
  2. คอ
  3. ท้ายทอย
  4. ใต้ขากรรไกร
  5. ใต้คาง
  6. ไหปลาร้า
  7. ข้อศอก
  8. รักแร้
  9. ขาหนีบ
ปวดต่อมน้ำเหลือง
ระบบน้ำเหลืองในร่างกายของคนเรา โดยจุดเขียวๆ คือบริเวณของต่อมน้ำเหลือง

ทั้งนี้ในภาวะที่ร่างกายปกติ ไม่มีภาวะของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ จะตรวจไม่พบก้อนต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากตัวต่อมจะอยู่แทรกไปกับไขมัน และเนื้อเยื่อต่างๆ

หน้าที่ของต่อมน้ำเหลือง คือกรองน้ำเหลืองที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย เพื่อดักจับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย และมีหน้าช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน หากต่อมน้ำเหลืองอาการอักเสบ จึงเป็นสัญญาณว่าร่างกายของเราเกิดการติดเชื้อ หรือเกิดสิ่งแปลกปลอมขึ้น

ปวดต่อมน้ำเหลือง

อาการ ปวดต่อมน้ำเหลือง เป็นอีกหนึ่งสัญญาณสุขภาพว่าร่างกายเกิดอาการติดเชื้อ จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวด จากการต่อสู้กับเชื้อต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกาย ในบางครั้งต่อมน้ำเหลืองจะบวมโตจนขึ้นเป็นก้อน เช่นที่หลังกกหู ที่ข้างลำคอ หรือที่รักแร้ แต่หากบวมที่บริเวณขาหนีบจะเรียกว่า ไข่ดัน แต่สำหรับชื่ออย่างเป็นทางการของอาการเหล่านี้คือ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบว่า เป็นภาวะที่ต่อมน้ำเหลืองบวมขึ้น จนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ อาจเกิดขึ้นในที่เดียว หรือหลาย ๆ ที่พร้อมกัน ในบางรายอาจเป็นแค่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย อีกทั้งยังเป็นอาการที่เกิดได้แบบทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรังจนต้องรักษาในระยะยาว

ต่อมน้ำเหลืองที่บวมปวดในหลายจุด เกิดขึ้นจากการที่มีการติดเชื้อลามไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง นอกจากนั้นแล้ว การที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ แล้วส่งผลมาที่ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้ๆ โดยไม่มีการติดเชื้อในต่อมน้ำเหลือง เช่นฟันผุ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ เป็นต้น

สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ คือ

การติดเชื้อที่อวัยวะต่าง ๆ แล้วส่งผลต่อต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ

  • มีแผล หรืออักเสบในอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ช่องปาก อวัยวะเพศ
  • มีการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จนเป็นหวัด ก็ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมแดง และเป็นหนอง จนรู้สึกปวดได้
  • ภูมิต้านทานต่ำ

ต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อโดยตรง ทำให้มีการอักเสบโตหลายต่อมพร้อมกัน เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นผลจากการแพ้ยา หรือบางครั้งต่อมน้ำเหลืองก็อักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

ส่วนใหญ่แล้วอาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและบริเวณที่อักเสบ โดยอาการที่พบได้หลัก ๆ คือ

  • กดไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้วเจ็บ
  • ต่อมน้ำเหลืองแข็งตัว หรือขยายตัวผิดปกติจนเห็นเป็นก้อนนูนขึ้นมาชัดเจน
  • ผิวหนังบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบแดง ขึ้นเป็นริ้ว
  • มีหนองในต่อมน้ำเหลือง
  • มีของเหลวไหลออกจากต่อมน้ำเหลือง และคั่งอยู่ใต้ผิวหนัง

การสังเกตง่ายๆ

  • กดที่จุดต่อมน้ำเหลืองแล้วเจ็บ
  • รู้สึกปวดต่อมน้ำเหลือง
  • แขนขาบวม
  • เหงื่อออกขณะนอนหลับ

 การรักษา

การรักษาอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ จะเป็นการรักษาที่สาเหตุ คือ หากเกิดจากติดเชื้อในร่างกาย หรือมีบาดแผล ก็จะรักษาแผล รักษาการติดเชื้อ หรือหากเกิดเพราะฟันผุ ก็จะต้องรักษาฟันให้เรียบร้อย หรือให้ยาปฏิชีวนะหากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นแล้วจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่นให้ยาแก้ปวด แก้อักเสบ

ระวัง! หากเจอก้อนบวมแดงนูนออกมาตามร่างกาย ห้ามเจาะเด็ดขาด เพราะอาจทำให้กลายเป็นโรคแทรกซ้อนได้

การป้องกัน

  1. รักษาความสะอาดของร่างกาย
  2. ระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผล
  3. เลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น หรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  4. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  5. พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  7. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอีกหนึ่งโรคร้ายที่มีอาการเตือนอย่างอาการ ปวดต่อมน้ำเหลือง หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต โดยการสังเกตตนเองอยู่เสมอ เมื่อพบเจอสิ่งผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที โรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกจุดที่มีต่อมน้ำเหลือง ไม่ว่าจะเป็น คอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา ช่องอกหรือช่องท้อง แต่ยังไงก็ตามเซลล์น้ำเหลืองก็ยังอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ หรือกระเพาะ จึงสามารถเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้หมดทุกที่ (แม้ไม่มีต่อมน้ำเหลืองก็ตาม)

สาเหตุมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  1. ปัจจัยทางเคมี วัตถุทางเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สารเคมีปราบศัตรูพืช น้ำยาย้อมผม เป็นต้น
  2. ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีสมรรถภาพภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น โรคเอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น
  3. ปัจจัยทางพันธุกรรม การเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น มีความชัดเจนที่เกิดมาจากกรรมพันธุ์ทางครอบครัว เช่น พี่น้องอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามลำดับ หรือเป็นพร้อมกัน
  4. สาเหตุจากไวรัส การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัส HIV เป็นต้น

การตรวจและรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

วิธีการตรวจหามะเร็งต่อมน้ำเหลืองแพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้ และตรวจร่างกายเป็นลำดับ หรือตัดชิ้นเนื้อของต่อมน้ำเหลืองออกไปตรวจทางพิษวิทยา ส่วนการรักษาจะใช้วิธีการให้ยาเคมีบำบัด จำนวนครั้งในการให้ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแลในเคสนั้นๆ ซึ่งการรักษาโรคนี้จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอยู่ หากตัวโรคมีความรุนแรงมากจะใช้วิธีการฉายแสงจากภายนอก หรือในคนไข้ที่มีข้อห้ามในเรื่องของการให้ยาก็จะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้เช่นกัน โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะไม่ต้องผ่าตัด เนื่องจากเป็นโรคที่ตอบสนองต่อยาและแสงเคมีบำบัดมากๆ อยู่แล้ว

การดูแลตัวเอง

วิธีการดูแลตนเองสำหรับโรคนี้ คือ

  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาจจะเน้นอาหารที่มีพลังงานเยอะ เช่น ไข่ขาว หรืออาหารที่มีโปรตีนสูงก็ช่วยได้ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงยาชุด ยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน
  • ควรออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้สุขภาพดี ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สมองเสื่อม … ความชราที่สามารถชะลอได้

บำบัด อาการก่อนมีประจำเดือน ด้วยวิธีธรรมชาติ

บ้างาน มากๆ อาจเสี่ยงป่วย โรคซึมเศร้า

ที่มา

  • มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง
  • โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
  • กรมการแพทย์
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.