บำบัดอาการก่อนมีประจำเดือน

บำบัด อาการก่อนมีประจำเดือน ด้วยวิธีธรรมชาติ

วิธีแก้ไข อาการก่อนมีประจำเดือน

สาเหตุของ อาการก่อนมีประจำเดือน นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในรอบเดือนของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือเป็นผลสะสมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในระยะยาว จึงทำให้ผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนเกิดอาการก่อนมีประจำเดือนได้มากกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น

อาการก่อนมีประจำเดือนพบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย ท้องอืด ปวดหลัง เจ็บเต้านม ปวดศีรษะข้างเดียว และปวดตามข้อ นอกจากนี้อาจมีอาการทางจิตใจร่วมด้วย เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า และวิตกกังวล

ที่สำคัญ อาการอย่างหนึ่งที่มักเกิดก่อนมีประจำเดือนคือ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ผลที่ตามมาคือ อาการง่วง ซึม ขาดสมาธิ และอยากกินของหวาน ๆ

วิธีแก้ อาการก่อนมีประจำเดือน

  1. กินอาหารที่อุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตครบส่วน เช่น ข้าวซ้อมมือ
  2. สูบบุหรี่ให้น้อยลงหรือเลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
  3. ลดปริมาณเกลือในอาหาร เพราะเกลือทำให้เกิดอาการน้ำคั่งในร่างกาย
  4. กินผักผลไม้สดมากๆเพื่อป้องกันท้องผูก
  5. หากอยู่ในระหว่างกินยาเม็ดคุมกำเนิด ให้หยุดยา 2- 3 เดือน เพื่อดูว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่
  6. กำหนดวันนัดหมายธุระหรืองานเลี้ยงสำคัญนอกช่วงมีประจำเดือน
  7. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้

นอกจากผู้หญิงบางส่วนจะมีอาการก่อนมีประจำเดือนแล้ว ในระหว่างที่มีประจำเดือนผู้หญิงบางคนก็ยังต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดประจำเดือนอีกด้วย

ปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนจะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของการปวดประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพักๆที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย ถ้าปวดรุนแรงอาจมีเหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็นได้

ส่วนใหญ่คนที่มีอาการปวดประจำเดือนมักจะไม่ทราบสาเหตุ สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารโพรสตาแกลนดิน ซึ่งทำหน้าที่ช่วยปิดรูหลอดเลือดที่รั่ว และทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว เพื่อขับเยื่อบุมดลูกที่ลอกออกมาเป็นระดู ปรกติแล้วอาการปวดประจำเดือน จะเกิดกับหญิงสาวที่รอบเดือนยังคลาดเคลื่อนอยู่ อาการปวดประจำเดือนมักจะหายไปหลังจากมีลูกคนแรกหรือเมื่อกินยาเม็ดคุมกำเนิด

คลายปวดประจำเดือน

กินอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม และแมกนีเซียมให้มากขึ้น จะช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้เหมือนกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสารอาหารเหล่านี้ช่วยให้ผนังหลอดเลือดคลายตัว จึงลดการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริวได้ อาหารที่มีวิตามินซี ได้แก่ ผักสดและผลไม้ อาหารที่มีวิตามินอี เช่น น้ำมันพืช จมูกข้าวสาลีและเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น ส่วนแหล่งที่ดีของธาตุแคลเซียมคือ อาหารทะเล ส่วนแมกนีเซียมพบในถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น

นอกจากนี้การนอนพักผ่อน ใช้ถุงร้อนประคบ และควรทำจิตใจให้สบายไม่เครียดก็จะช่วยลดอาการปวดท้องได้

ข้อควรสังเกต

  • อาการปวดประจำเดือนมากเมื่ออายุมากขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกงอกผิดที่ อุ้งเชิงกรานอักเสบ มดลูกอักเสบ ถุงน้ำที่รังไข่ เนื้องอก เป็นต้น จึงควรปรึกษาแพทย์
  • ประจำเดือนขาด มักมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่อาจทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอได้ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปรกติ ความอ้วน โรคเบาหวาน การออกกำลังกายหักโหม การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว ความเครียด ปัญหาทางอารมณ์ หรือแม้แต่การเดินทางโดยสารเครื่องบิน ก็อาจทำให้รอบเดือนผิดปรกติได้
  • ประจำเดือนมามากผิดปรกติ มักจะเกิดกับเด็กสาวที่เริ่มมีประจำเดือน หรือกับสตรีที่ถึงวัยใกล้หมดประจำเดือน ผู้หญิงที่ใช้ห่วงคุมกำเนิดก็อาจเกิดอาการนี้ได้ เมื่อประจำเดือนมามากผิดปรกติจอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ จึงควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักใบสีเขียวเข้ม เป็นต้น

ข้อมูลเรื่อง “บำบัดอาการก่อนมี ประจำเดือน ด้วยวิธีธรรมชาติ” จากนิตยสารชีวจิต

อาการก่อนมีประจำเดือน

ต่อเรื่องน่าห่วงของสาว ๆ เกี่ยวกับ อาการก่อนมีประจำเดือน กันอีกนิด

อาการน่าห่วงของสาว ๆ เธออยากฆ่าตัวตาย เพราะ อาการก่อนมีประจำเดือน

มีสาว ๆ คนไหนกำลังเผชิญกับภาวะอารมณ์แปรปรวนช่วงก่อนมีประจำเดือนบ้างไหมคะ แล้วมีที่รุนแรงจนทำให้รู้สึกอยาก ฆ่าตัวตาย หรือไม่

แม้หลายคนบอกว่า เป็นหนึ่งในอาการ PMS – Premenstrual Syndrome (ช่วงอาการก่อนมีประจำเดือน) โดยระบุอย่างเจาะจงต่อภาวะนี้ว่า PMDD – Premenstrual dysphoric disorder ซึ่งก็คือกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน ความเห็นส่วนใหญ่จะเป็นไปในทาง “ไม่ได้มีอะไรต้องซีเรียส” แต่เชื่อเถอะ ถ้ามีคนคิด ฆ่าตัวตาย มันคือเรื่องซีเรียสกว่าที่คิด

วันนั้นของเดือนกับความคิด ฆ่าตัวตาย

ล่าสุดทาง BBC THAI ได้เผยแพร่คลิปที่ให้ผู้หญิงหลายคนออกมาแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกที่ต้องเผชิญกับ PMDD พวกเธอต่างระบุว่า รู้สึกไม่โอเคและเต็มไปด้วยความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ บางคนต้องย้ำกับเจ้าหน้าที่ถึงความรุนแรงหรือความซีเรียสของอาการของเธอกับเจ้าหน้าที่ถึง 17 หน ทั้ง ๆ ที่เมื่อมีคน ๆ หนึ่งอยากฆ่าตัวตาย มันไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรเพื่อจะชี้ให้ใครสักคนเห็นถึงความรุนแรงของอาการนี้

“มีคน ๆ หนึ่งอยากจบชีวิต” มันยังไม่ร้ายแรงพออีกหรือ

เรื่องราวของพวกเธอ ทำให้เราได้เห็นแง่มุมของอาการ PMDD ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์แปรปรวนปกติ ที่แค่ไปสปา ไปเล่นกับสุนัข กินช็อกโกแลต แล้วมันจะดีขึ้น ความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายนี้มันอยู่กับพวกเธอได้นานถึง 2 สัปดาห์ และมาทุก ๆ เดือน เราจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องเผชิญกับภาวะนี้อย่างจริงจัง

ในปัจจุบัน มีวิธีการรักษาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการ PMDD นี้ได้มาเป็นทางเลือกให้ผู้หญิงอย่างเรา ๆ เช่น การกินยาต้านซึมเศร้า ไปจนถึงการผ่าตัดรังไข่ออกไป (ซึ่งจะแก้ปัญหาได้แน่นอน) แต่ก็อาจจะเผชิญกับผลข้างเคียงอยู่บ้าง

แล้วลูกเพจสาว ๆ คนไหน มีประสบการณ์ต้องเผชิญกับอาการ PMS หรือ PMDD มาแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง ได้นะคะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้มากขึ้น รวมไปถึงสร้างความเข้าใจ ว่าอาการผิดปกติเหล่านี้ ไม่ได้เป็นความผิดที่ตัวผู้ป่วยเลย แต่เป็นจากสภาวะร่างกายที่ต้องรักษาและดูแลอย่างจริงจัง

สาววัยเจริญพันธุ์เสี่ยงพีเอ็มเอสสูง

นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ – นรีเวชวิทยา ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้ความรู้ว่า

“กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนหรือพีเอ็มเอสนั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในช่วง 5 – 10 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมาโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง เอสโทรเจนและโปรเจสเทอโรนในช่วงระหว่างการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ปัญหาจากความเครียด โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น”

ขณะที่ แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร อธิบายเพิ่มเติมถึงผู้หญิงที่มีโอกาสเกิดอาการก่อนมีประจำเดือนว่า

“กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนนี้พบได้มากถึงร้อยละ75 ในผู้หญิงอายุ 30 – 40 ปี และอาการนี้จะหายไปเมื่อผู้หญิงหมดประจำเดือนถาวร ขณะที่ในผู้หญิงที่ตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างแล้วจะไม่มีอาการนี้”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรุนแรงของภาวะพีเอ็มเอสในปัจจุบันว่า

“ผู้ที่มีอาการพีเอ็มเอสและพีเอ็มดีดี (PMDD -Premenstrual Dysphoric Disorder) หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง จะถูกรบกวนอย่างมากจากอาการผิดปกติต่างๆ ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ ถ้าเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นก็อาจเป็นทุกรอบเดือน รอบละประมาณ 4 – 5 วัน ถ้าคำนวณตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ก็จะมีจำนวนวันที่ต้องทนทรมานจากอาการเหล่านี้สูงถึง 3 – 5 ปีทีเดียว

“สำหรับอุบัติการณ์และข้อมูลในประเทศไทยยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งเมื่อเกิดอาการในผู้หญิงแล้วมักจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ ากลุ่มอาการพีเอ็มเอสและพีเอ็มดีดีนั้น มีอุบัติการณ์สูงในผู้หญิงไทย ที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์และวัยทำงาน ซึ่งแม้จะมีอุบัติการณ์สูงแต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่างๆ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง”

ปัจจัยเสี่ยงพีเอ็มเอสที่ผู้หญิงต้องรู้

นอกจากผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ จะมีโอกาสเผชิญกับภาวะกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนสูงแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทองไกรพิบูลย์ ยังอธิบายถึงปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมในการเกิดภาวะดังกล่าวไว้ในหนังสือ รู้ลึกและเข้าใจโรคภายในของผู้หญิง ดังนี้

  • พันธุกรรม ที่ทำให้ร่างกายมีความไว / ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศสูงกว่าผู้หญิงทั่วไป เพราะมีการศึกษาพบว่า ในฝาแฝดและคนในครอบครัวเดียวกันมักมีอาการเหมือนกัน
  • เชื้อชาติ เพราะพบว่าผู้หญิงบางเชื้อชาติมีอาการก่อนมีประจำเดือนน้อยกว่าเมื่อเทียบผู้หญิงอีกเชื้อชาติหนึ่ง
  • บุคลิกภาพพื้นฐานของแต่ละคน พบว่าอาการรุนแรงมักเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ซึมเศร้าหรือเกิดภาวะเครียดได้ง่าย
  • ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ผู้หญิงที่ไม่ได้ออกกำลังกายจะพบอาการก่อนมีประจำเดือนได้มากกว่า

7 อันดับผลกระทบจากพีเอ็มเอส

ศาสตราจารย์ลอเรน เดนเนอร์สไตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเพศศึกษาและสุขภาพ แผนกจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นออสเตรเลีย ได้ทำการวิจัยเชิงคุณภาพในกลุ่มผู้หญิงและแพทย์ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก 4 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ฮ่องกงปากีสถาน และไทย พบว่า

“ผู้หญิงจำนวนมากในเอเชียแปซิฟิกที่ประสบภาวะพีเอ็มเอสและพีเอ็มดีดี แต่กลับไม่พยายามหาวิธีรักษา เนื่องจากมีความเชื่อที่ผิดว่าอาการก่อนมีประจำเดือนเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณบอกว่าประจำเดือนกำลังจะมา หรือเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงทุกคนต้องประสบอยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้ตระหนักเลยว่าอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจนำไปสู่ความรุนแรงของอาการที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว”

สำหรับประเทศไทยมีการวิจัยเชิงปริมาณยืนยันว่า กิจกรรมในชีวิตประจำวันและสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากอาการพีเอ็มเอสมี 7 อันดับ ดังนี้

  1. ประสิทธิภาพการทำงาน 66 เปอร์เซ็นต์
  2. ความเป็นระเบียบภายในบ้าน 53 เปอร์เซ็นต์
  3. คู่รักและครอบครัว 23 เปอร์เซ็นต์
  4. เพื่อนและผู้ร่วมงาน 13 เปอร์เซ็นต์
  5. กิจกรรมยามว่าง 12 เปอร์เซ็นต์
  6. กิจกรรมทางเพศ 12 เปอร์เซ็นต์
  7. การเรียน 8 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม อาการก่อนมีประจำเดือนสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการหมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่งดเว้นการกินเหล้า สูบบุหรี่ และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์นะคะ

บทความอื่นที่น่าสนใจ

เดินเร็ว วันละนิด ชีวิตยืนยาว

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

17 วิธีตรวจ เนื้องอก ด้วยตัวเอง ฉบับสาวทำงาน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต


© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.