สุดยอด สารอาหารบำรุงหัวใจ
สุดยอด สารอาหารบำรุงหัวใจ หลายคนอยากทราบว่า นอกจากอาหารธรรมชาติแล้ว ยังมีสารอาหารหรือวิตามินอะไรบ้างที่ช่วยบำรุงหัวใจ
ชีวจิต คัดสรร 3 สุดยอด สารอาหารที่พบทั้งในอาหารธรรมชาติ และในรูปแบบอาหารเสริมที่ใช้ป้องกันและช่วยสนับสนุนการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยจะแนะนำวิธีกินและปริมาณที่เหมาะสมเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาสุขภาพ
โคเอนไซม์คิวเท็น ลดเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว
โคเอนไซม์คิวเท็น (CoEnzyme Q10) คือสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ ช่วยเปลี่ยนอาหารเป็นพลังงานแก่เซลล์ลดอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการบำรุงผิว ป้องกันริ้วรอย ทั้งมีบทบาทเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ (University of Maryland Medical Center) ให้ข้อมูลว่า โคเอนไซม์คิวเท็นอาจมีผลช่วยรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เมื่อกินเสริมควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์
ภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้เลือดไหลเวียนออกจากหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือเกิดจากการคั่งของเลือดในหัวใจห้องซ้ายและปอด ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้หรือเกิดการคั่งของเลือดในหัวใจห้องขวา ทำให้หลอดเลือดดำที่คอโป่ง ตับโต จุกแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ และมีอาการบวม
การศึกษาหลายเรื่องแสดงให้เห็นว่า โคเอนไซม์คิวเท็นอาจมีส่วนช่วยลดอาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการบวมของขาและลดการคั่งของเลือดในปอด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจาก American College of Cardiology Foundation, Issuing Body ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JACC. Heart Failure พบว่า โคเอนไซม์คิวเท็นช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวได้ถึงร้อยละ 50
แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกการศึกษาที่จะให้ผลทางบวก ดังนั้นไม่ควรกินโคเอนไซม์คิวเท็นเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนตัดสินใจ

HOW TO EAT
ดร.แอนดรูว์ ไวล์ (Dr. Andrew Weil) พ่อมดแห่งวงการแพทย์ทางเลือก แนะนำให้กินโคเอนไซม์คิวเท็นอย่างน้อยวันละ 90 – 120 มิลลิกรัม หรือกินแบบแคปซูลขนาด 30 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 เวลา สำหรับผู้ที่กินยาสแตติน (Statins) ยานี้ไม่เพียงยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกาย แต่ยังขัดขวางการสร้างโคเอนไซม์คิวเท็นอีกด้วย โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หากมีระดับโคเอนไซม์คิวเท็นในร่างกายต่ำอาจมีผลให้อาการยิ่งทรุดหนัก
นอกจากนี้ยัง แนะนำให้ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ และผู้มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจควรพิจารณาการกินโคเอนไซม์คิวเท็นเสริมด้วย
โคเอนไซม์คิวเท็นละลายได้ดีในไขมัน จึงควรกินพร้อมมื้ออาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหรือไขมันดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอกนอกจากนี้สามารถพบโคเอนไซม์คิวเท็นในเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา