ทำงานออฟฟิศ ก็เสี่ยง ฮีทสโตรก ได้
เมื่อสาเหตุของโรค ฮีทสโตรก คือความร้อนและแสงแดด คนจึงมักคิดกันว่า ผู้ที่มีอาชีพอยู่ในภาคแรงงานหรือทำงานภายนอก ท่ามกลางไอแดดระอุเท่านั้นที่เสี่ยงต่อโรคนี้ แท้จริงแล้วคนทำงานในออฟฟิศตลอดวันก็เสี่ยงเป็นโรคนี้เช่นกัน
นายแพทย์ศักดา อาจองค์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า
“โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) นี้ คนไทยรู้จักกันในชื่อ โรคลมแดด หรือโรคลมเหตุร้อน เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกิน 41 องศาเซลเซียส จนไม่สามารถควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้
“โดยปกติกลไกของร่างกายเมื่อได้รับความร้อน จะระบายความร้อนออกหลายทาง เช่น ทางลมหายใจและทางเหงื่อ เมื่อสูญเสียน้ำ สมองส่วนไฮโปทาลามัสจะสั่งการให้เกิดความรู้สึกหิวน้ำ ซึ่งเป็นกลไกปรับตัวสู้กับความร้อนของร่างกายที่สูงขึ้น
“แต่ผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก ขณะที่ร่างกายขับเหงื่อออกมา สมองจะไม่มีทางรู้เลยว่าร่างกายขาดน้ำ เพราะความเข้มข้นของเลือดจะไม่เปลี่ยนแปลง
“เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป ต่อมเหงื่อจะหยุดทำงานทันที ทำให้ความร้อนในร่างกายไม่ได้ระบายออก อุณหภูมิในร่างกายจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
“ส่งผลให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เบาๆ แล้วหาย เช่น เมื่อยล้า อ่อนเพลียเบื่ออาหาร ไปจนอาการรุนแรง เป็นสาเหตุให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ตับ ล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้”