กราโนล่า

กราโนล่า มูสลี่ อาหารเช้าของคนรักสุขภาพ

กราโนล่า มูสลี่ ความแตกต่างของคนรักสุขภาพ

กราโนล่า อาจจะเป็นอาหารเช้าที่สุดโปรดของคนรักสุขภาพหลายๆคน เเต่ก็ไม่จริงเสมอไปหรอกนะ มูสลี่ก็เป็นอาหารเช้าที่ดีต่อสุขภาพเหมือนกัน เผลอๆ อาจมีเเคลอรี่ที่น้อยกว่ากราโนล่าด้วยซ้ำ เเล้วอะไรคือความเเตกต่างของกราโนล่าและมูสลี่ ถ้าจะเลือกกินอะไรน่าจะเป็นเมนูสุขภาพของโปรดมากกว่ากัน เราลองมาหาคำตอบกันดูนะ

ความแตกต่างระหว่างมูสลี่และกราโนล่า

กราโนล่าและมูสลี่ มีความเหมือนที่ทำมาจากธัญพืช เมล็ดถั่ว และผลไม้แห้งเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกกันในกระบวนการทำอยู่นะ  คือ มูสลี่จะไม่ถูกผ่านกระบวนการปรุงและอบ  แต่ตรงกันข้ามกับกราโนล่า ที่ผ่านการปรุงและอบ แถมมีการเติมสารให้ความหวาน (น้ำตาล น้ำผึ้ง) และน้ำมันเข้าไป เพิ่มความเป็นเนื้อเดียวกันของกราโนล่า ทำให้มีรสชาติ กรุบๆ และกินง่ายมากขึ้น

มูสลี่สามารถกินหรือเสิร์ฟในรูปแบบเย็น (แช่ในของเหลว นม โยเกิร์ต) หรือแบบร้อน  (ปรุงสุก อบ คั่ว)ได้ แต่กราโนล่าเหมาะกับการเสิร์ฟหรือกินในรูปแบบเย็น เช่น โรยในนม โยเกิร์ต หรือแม้แต่เทใส่มือ แล้วกินเป็นของว่างได้เลยเช่นกัน

มูสลี่

มูสลี่เป็นอาหารที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 โดยนายแพทย์ชาวสวิส Maximilian Bircher-Benner  เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล จนได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายมากในฝั่งยุโรป

มูสลี่, กราโนล่า, อาหารสุขภาพ, ธัญพืช, อาหารแคลอรีต่ำ
มูสลี่จะไม่ถูกผ่านกระบวนการปรุงและอบ กินได้ทั้งรูปแบบเย็นและแบบร้อน

มูสลี่ดั้งเดิมเป็นข้าวโอ๊ตรีดแบนๆ แต่ปัจจุบันมีธัญพืชต่างๆร่วมด้วย เช่น ควินัว ลูกเดือย เมล็ดถั่ว และผลไม้แห้งต่างๆมากมาย เนื่องจากมูสลี่ไม่ได้ผ่านกระบวนการอบจึงไม่จำเป็นต้องใส่สารให้ความหวาน หรือน้ำมันเพิ่มเข้าไปในมูสลี่

เราสามารถกินมูสลี่ได้ 2 วิธี คือ แช่ในของเหลว นม น้ำส้ม ฯลฯ ค้างคืนไว้เย็นๆ  เพื่อให้มูสลี่มีความนุ่มและพองตัว จนกลายเป็นโจ๊ก หรือสามารถนำมูสลี่มาปรุงสุกได้เหมือนกัน เช่น  บดหรือขยี้มูสลี่ แล้วผสมลงไปในการหุงข้าว หรือในหม้อนมร้อน ช็อกโกแล็ตร้อนๆ กินแบบอุ่นก็ได้เช่นกัน หรือใส่มูสลี่ในโยเกิร์ต ก็จะได้รสสัมผัสในการกินโยเกิร์ตอีกแบบ มีอะไรให้เคี้ยวหนึบๆ ได้ตลอดทั้งวัน (แต่ให้รู้ไว้ด้วยนะว่ามูสลี่มันดิบ ฮ่าๆๆ)

กราโนล่า คืออะไร

กราโนล่ามีส่วนผสมที่คล้ายๆกับมูสลี่อย่างที่บอกไป เช่น ธัญพืช เมล็ดถั่ว ผลไม้แห้ง แต่กราโนล่าผ่านการปรุงสุก (อบ) มาแล้ว

มีการเพิ่มส่วนผสมอย่างสารให้ความหวานและน้ำมันเข้าไปด้วย จนเข้าเป็นเนื้อเดี่ยวกันจับเป็นก้อน มีรสชาติหวาน กรอบ กรุบๆ (จำไว้เลยนี้คือข้อแตกต่าง)

กราโนล่า, อาหารสุขภาพ, ธัญพืช, อาหารแคลอรีต่ำ, ซีเรียล
กราโนล่าจะผ่านการปรุงและอบ มีการเติมสารให้ความหวาน และน้ำมันเข้าไป

กราโนล่าเหมาะกับการนำไปโรยบนโยเกิร์ต หรือโรยเป็นหน้าซีเรียลอาหาร แต่ข้อควรระวังคือความหวานในกราโนล่านะจ๊ะ อาจทำให้อ้วนได้ หากมีปริมาณน้ำตาลที่สูง หรือเติมน้ำตาลเพิ่มเข้าไปอีก รับรองว่าอ้วนแน่นอน  และมีเเนวโน้มว่ากราโนล่าจะมีปริมาณแคลอรี่ที่สูงกว่ามูสลี่จากสารให้ความหวานและน้ำมันนี่แหละ

แจกสูตร กราโนล่า โฮมเมด

สำหรับ 5 ถ้วย

ส่วนผสม

  • ข้าวโอ๊ต 200 กรัม
  • น้ำมันมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะ
  • เมเปิ้ลไซรัป 4 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือเล็กน้อย
  • ถั่วต่าง ๆ (ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ วอลนัท อัลมอนด์) 1 ถ้วย
  • ผลไม้แห้งต่าง ๆ 1 ถ้วย (แอ๊ปเปิ้ล กล้วย กีวี่ สตรอว์เบอร์รี่ มะม่วง)

วิธีทำ

  1. อุ่นน้ำมันมะพร้าวและเมเปิ้ลไซรัปในหม้อใบเล็กพอร้อน
  2. ราดน้ำมันมะพร้าวและเมเปิ้ลไซรัปลงบนข้าวโอ๊ตแล้วเคล้าให้เข้ากัน
  3. วางกระดาษรองอบลงบนถาด เกลี่ยข้าวโอ๊ตที่ผสมแล้วลงถาดให้ทั่ว นำเข้าอบประมาณ 30 นาทีที่อุณหภูมิ 140 องศาเซลเซียส (ก่อนครบ เวลา 10 นาทีจึงใส่ถั่วและผลไม้แห้ง)
  4. เมื่อครบเวลาทิ้งให้เย็นในเตาอบแล้วจึงเก็บใส่โหล เก็บได้นาน 2 อาทิตย์ – 1 เดือน

Tips:

* หากไม่มีเตาอบ ใช้วิธีผัดไฟอ่อนไปเรื่อย ๆ จนส่วนผสมแห้ง
* ผลไม้ที่กินไม่หมดนำมาหั่นตากแห้งเก็บไว้กินได้ใช้เวลาตาก 2 – 3 วันขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้

ข้อมูลโภชนาการ ต่อ 1 ถ้วย

พลังงานต่อหนึ่งถ้วย 307.60 กิโลแคลอรี
โปรตีน 7.37 กรัม ไขมัน 21.58 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 24.72 กรัม ไฟเบอร์ 4.70 กรัม

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

งานวิจัยแนะนำ กินอาหารอย่างไร ไม่ให้เป็นไขมันพอกตับ

แก้กรดไหลย้อน ด้วยอาหารอร่อย ลดการใช้ยา

HOW TO กินอาหารน้ำตาลต่ำช่วยป้องกัน ไขมันพอกตับ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.