อ้วน ตัวการมะเร็งเต้านมที่ไม่ควรมองข้าม (พร้อมวิธีตรวจเต้านมง่ายๆ)

ความอ้วนกับมะเร็งเต้านม ความสัมพันธ์กันของโรคเรื้อรัง

หลายคนคงเคยได้ยิน ว่าอย่าปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่ามาตรฐานมากๆ เพราะอาจนำพาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ มาด้วย หนึ่งในนั้นคือโรคร้ายที่ใครๆก็กลัว นั่นก็คือโรคมะเร็งนั่นเอง แล้ว ความอ้วนกับมะเร็งเต้านม สัมพันธ์กันอย่างไร เรามีคำอธิบาย โดยจะขอยกตัวอย่างมะเร็งผู้หญิง (มะเร็งเต้านม) ที่ระดับคอเลสเตอรอล ฮอร์โมน มีอิทธิพลต่อร่างกายอย่างเห็นได้ชัด

ความอ้วนกับมะเร็งเต้านม, มะเร็งเต้านม, ตรวจเต้านม, ความอ้วน, ฮอร์โมนเพศหญิง
การมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่สูงติดต่อกันนานๆ เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านม

ฮอร์โมนเพศหญิงกับการเกิดโรคมะเร็ง

หากระดับฮอร์โมนเพศหญิงมีการทำงานที่เป็นปกติ ฮอร์โมนเอสโทรเจนจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆต่อร่างกายมนุษย์ แต่หากมีปัจจัยทางพันธุกรรมและระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ และโรคยอดฮิตที่เราจะยกขึ้นมาพูดถึงก็คือ โรคมะเร็งในผู้หญิงนั่นเอง

แพทย์หญิงชัญวลี  ศรีสุโข สูตินรีแพทย์และคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร ชีวจิต ระบุว่า ฮอร์โมนเอสโทรเจนทั้งที่อยู่ในระดับปกติและระดับผิดปกติสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งในผู้หญิงได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสุขภาพของแต่ละบุคคล ดังนี้

1. พันธุกรรม เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งผู้หญิง คนที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็ง แม้จะมีระดับเอสโทรเจนปกติ แต่ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพ วิถีชีวิตประจำวันเป็นสำคัญ

2. ฮอร์โมนขาดสมดุล การมีระดับฮอร์โมนเพศสูงเกินไปเป็นเวลานานก็อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งผู้หญิงได้ และเนื่องจากฮอร์โมนเอสโทรเจนผลิตมาจากรังไข่โดยเซลล์ไข่ ปัจจัยใดก็ตามที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ไข่ย่อมมีผลต่อฮอร์โมนเอสโทรเจนทั้งสิ้น

3. ปัจจัยจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) สามารถทำให้ผู้หญิงเป็นมะเร็งตามอวัยวะต่างๆได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเต้านม รังไข่ โพรงมดลูก หรือปากมดลูก ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนมากน้อยแตกต่างกันไป โดยคุณหมอชัญวลีได้ให้รายละเอียดไว้ดังนี้

-โรคมะเร็งเต้านม นอกจากปัจจัยทางพันธุกรรมและพฤติกรรมแล้ว การมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่สูง (ทั้งฮอร์โมนเอสโทรเจนและฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน) ติดต่อกันเป็นเวลานานๆก็เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านมได้

-โรคมะเร็งรังไข่ เมื่อมีฮอร์โมนเอสโทรเจนสูง รังไข่ถูกกระตุ้นให้ทำงานตลอดเวลา (ในผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตร ไม่ได้กินยาคุมกำเนิด) ก็อาจเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะอาศัยปัจจัยอย่างอื่นดังที่ได้กล่าวไปแล้วร่วมด้วย

-โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนเอสโทรเจนมีส่วนในการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้มากที่สุด เพราะระดับฮอร์โมน
เอสโทรเจนที่สูงจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ร่วมกับภาวะผิดปกติของประจำเดือน ไข่ไม่ตก ภาวะถุงน้ำในรังไข่
หลายใบ ซึ่งล้วนมีส่วนทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติและเกิดเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

-โรคมะเร็งปากมดลูก สาเหตุหลักๆของมะเร็งชนิดนี้คือเชื้อไวรัสที่เรารู้จักกันในชื่อเอชพีวี(HPV) และถ้าหากมีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนสูง จะทำให้เยื่อบุต่างๆในอวัยวะสืบพันธุ์หนาตัว และเมื่อเกิดการหนาตัวจะทำให้ไวรัสมีอาหารกิน จึงง่ายต่อการติดเชื้อ ทำให้เซลล์ผิดปกติและเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งเต้านมกับปัจจัยต่างๆ ของร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของสตรีไทยอีกด้วย

ความอ้วนกับมะเร็งเต้านม, มะเร็งเต้านม, ตรวจเต้านม, ความอ้วน, น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

ความอ้วนกับมะเร็งเต้านม

ระดับไขมันในร่างกายมีผลต่อระดับฮอร์โมนเพศ ยกตัวอย่างหญิงในวัยหมดประจำเดือนอาจมีปริมาณฮอร์โมนเอสโทรเจนสูงเกินสมดุลของร่างกาย ก่อให้เกิดความผิดปกติต่างๆที่มาจากความไม่สมดุลนี้ โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า

“ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าเกณฑ์มีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น และมีโอกาส 20 – 40 เปอร์เซ็นต์ที่โรคมะเร็งเต้านมจะลุกลามเมื่อเทียบกับผู้หญิงในวัยเดียวกันแต่มีน้ำหนักตัวปกติ”

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างไขมันกับฮอร์โมนเพศ อาจารย์แพทย์หญิงอรวิน วัลลิภากร ภาควิชาสูติศาสตร์- นรีเวชวิทยา สาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเอาไว้ดังนี้

“เนื่องจากคอเลสเตอรอลนั้นเป็นสารตั้งต้นของการเกิดฮอร์โมน เมื่อทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ต่างๆ ก็จะกลายเป็น
ฮอร์โมนเอสโทรเจน หลังหมดประจำเดือน รังไข่ที่ทำหน้าที่หลักในการผลิตฮอร์โมนเพศทั้งเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน (จากการตกไข่) จะหยุดทำงาน

“เหลือเพียงต่อมหมวกไตและการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไขมันที่ผลิตได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า โดยปกติจะไม่ส่งผลต่อ
ร่างกาย แต่ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่อ้วนและมีระดับไขมันสูงจะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนสูงขึ้นอย่างเดียว
โอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งผู้หญิงจึงมากขึ้นไปด้วย”

ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจึงถือเป็นวิธีการป้องกันสารพัดโรคอันดับต้นๆที่ควรทำค่ะ

แม้โรคมะเร็งเต้านมจะดูน่ากลัว แต่หากเรารู้วิธีการตรวจเช็กร่างกายและรู้ว่าเจ้ามะเร็งเต้านมนี้ไม่ชอบอะไร เราก็จะป้องกันได้โดยง่าย

มาตรวจเต้านมกันเถอะ

มะเร็งเต้านมนั้นเป็นโรคที่หากตรวจพบได้เร็ว จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายเป็นปกติได้มากขึ้น การตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งที่ควรทำทุกๆเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีเป็นต้นไป โดยตรวจในช่วงที่ประจำเดือนหมดไปแล้วประมาณ 3 – 5 วัน

ตามขั้นตอนที่ระบุในหนังสือ 100 เรื่องน่ารู้ มะเร็งในผู้หญิง โดย คุณหมอชัญวลี ศรีสุโข สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ดังต่อไปนี้

ดู เป็นการสังเกตว่า เต้านมมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เช่น บิดเบี้ยว เป็นก้อนนูน ถือว่าผิดปกติ ทำโดย 1.ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ

2.ใช้มือเท้าสะเอว เกร็งหน้าอก

3.โน้มตัวไปด้านหน้า ประสานมือที่ท้ายทอย เกร็งกล้ามเนื้อหน้าอก ทั้งสามท่านี้จะช่วยให้เราสังเกตความผิดปกติได้ง่ายขึ้น

บีบ บีบดูว่ามีน้ำออกจากหัวนมหรือไม่

คลำ ทำโดยยกแขนขวาขึ้น วางมือไว้ที่ท้ายทอย ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง กดคลึงเต้านมขวา วนไปเรื่อยๆ แล้วสลับข้าง นอกจากนั้นยังสามารถกดดูบริเวณรักแร้ว่าพบก้อนผิดปกติด้วยหรือไม

ตรวจเต้านม, เช็กความเสี่ยงมะเร็ง, ความอ้วนกับมะเร็งเต้านม, มะเร็งเต้านม, โรงมะเร็งเต้านม

ก้อนมะเร็งมีลักษณะอย่างไร

อาจเป็นก้อนหนา ๆ ไม่มีขอบชัดเจน ไม่ค่อยเคลื่อนที่ หากคลำดูแล้วไม่มั่นใจควรไปพบแพทย์


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

หลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม ต้องออกกำลังกายได้ด้วยท่านี้

ประสบการณ์สุขภาพ สู้ โรคมะเร็งเต้านม พันธุ์ดุ ด้วยวิถีกายใจ แบบชีวจิต

รักษามะเร็งเต้านม ด้วยแมคโครไบโอติกส์

5 วิธีบู๊สต์พลัง ป้องกันมะเร็งเต้านม

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.