โรคต้อหิน อาการที่ไม่ควรมองข้าม และต้องรีบรักษาก่อนจะสายเกินไป

โรคต้อหิน หนึ่งในโรค ที่คนไม่ค่อยอยากให้เกิดกับตัว มากพอๆ กับโรคร้ายแรงชนิดอื่น เพราะเมื่อไรที่เป็นแล้ว ส่วนมากจะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น ดังนั้นเรามารู้จัก กับโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า

โรคต้อหิน

ต้อหินเป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบได้ทั่วไป เกิดขึ้นจาก การเสื่อมของเส้นประสาทตา โดยสาเหตุ มักมาจากความดันลูกตาสูงเกิด ทำให้เกิดการกดทับที่ขั้วประสาทตา ซึ่งหากเรารู้แต่เนิ่นๆ อาจมีโอกาสรักษาได้ แต่หากปล่อยไป จะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ที่คนมักไม่รู้แต่เนิ่นๆ เนื่องจากโดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการอะไร ต่อมาลานสายตาจะค่อยๆ แคบลง ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ตาบอดได้ในที่สุด จากข้อมูลพบว่า ต้อหิน กลายปัจจัยหลักสำคัญ ที่ทำให้คนตาบอด ได้มากเป็นอันดับสอง รองจากอาการต้อกระจก

ซึ่งต้อหิน มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และยิ่งหากมีประวัติคนในครอบครัว เคยมีอาการแบบนี้ ยิ่งควรระวังให้มากขึ้น นอกจากนี้ คนที่มีโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน ไทรอยด์ หรือคนที่มีสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ยาว เอียง ก็เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดต้อหินได้เช่นกัน

โรคต้อหิน เป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียใยประสาทตาของขั้วประสาทตา โดยเกี่ยวข้องกับความดันตา และการสูญเสียลานสายตา การวินิจฉัยโรคต้อหินทำได้ด้วยการ ตรวจขั้วประสาทตา การวัดความดันตาและการตรวจลานสายตาโดยจักษุแพทย์

โรคต้อหิน

อาการเบื้องต้นของ “โรคต้อหิน”

มาเช็กก่อนดีกว่า ว่าอาการเบื้องต้นของ โรคต้อหินเป็นยังไง ซึ่งโดยทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด 

ต้อหินมุมปิด

เป็นอาการที่พบได้น้อย และจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งอาการหลักๆ ที่เจอเลยคือ เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ มีอาการตาแดง รู้สึกปวดตาอย่างมาก และอาจมีการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งหากเกิดอาการแบบนี้ ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะยังมีโอกาสจะรักษาให้หายขาดได้ 

ต้อหินมุมเปิด

สำหรับชนิดนี้ มักพบได้บ่อยกว่าชนิดแรก และจะไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นเด่นชัด แต่จอประสาทตาของเรา จะค่อยๆ สูญเสียไปทีละนิด อาจมีอาการคล้าย หมอกมาบังตา บังด้านข้างอยู่บ้าง หากคนไม่สังเกตุ จะไม่ค่อยรู้ตัว และเป็นที่มาทำให้เกิดการสูญเสีย การมองเห็นได้ในที่สุด

นายแพทย์บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง จักษุแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่าโรคต้อหินนับเป็นภัยเงียบ เพราะ ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ เนื่องจากผู้ป่วย 9 ใน 10 รายมักไม่มีอาการแสดง กว่าจะรู้ตัวและตรวจพบเส้นประสาทตาก็ถูกทำลายไปมากแล้ว จึงอยากให้ประชาชนรับรู้ถึงปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • อายุมากกว่า 40 ปี พบในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ขึ้นไปมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า
  • ความดันในลูกตาสูง
  • มีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคต้อหิน
  • สายตาสั้นมากหรือยาวมาก
  • มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง
  • ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • เคยได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน

ชีวจิต ขอแนะนำว่า หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นต้อหินหรือไม่ ยิ่งรู้เร็วเท่าไร โอกาสในการรักษาให้ถูกต้องก็ยิ่งมากขึ้นค่ะ

เพราะการป้องกันที่ดีที่สุด คือการหมั่นสังเกตุ ความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ดี และคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพตาทุก 2 – 4 ปี ส่วนคนที่อายุ 50 ปี ขึ้นไป ควรไปตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

อายุไม่เยอะก็เป็นได้

หากใครกำลังคิดว่า โรคต้อหินนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะในคนอายุมาก และยังไม่จำเป็นต้องกังวลแล้วละก็ ควรเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะจากการวิจัยของ นายแพทย์มาซายูกิ ตาเตมิชิ (Dr.Masayuki Tatemichi) แห่งวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยโตโฮ ประเทศญี่ปุ่น พบว่า จากความเจริญทางด้านไอทีที่รุดหน้าขึ้นในปัจจุบัน ผู้คนใช้สายตาในการจ้องดูจอไอทีต่าง ๆ มากขึ้น จึงทำให้พบผู้ป่วยโรคต้อหินอายุน้อยลง จากงานวิจัยชิ้นนี้จึงทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวกับคนทุกเพศทุกวัย

สำหรับคนอายุไม่เยอะ แต่ใช้ตาจ้องจอเยอะ อาจต้องระวัง โดยสังเกตตัวเอง ว่าหากมีอาการแบบนี้ ควรต้องไปพบแพทย์

1.ตาพร่า ตามัว เห็นภาพเบลอซ้อน หรือตามืดบอดชั่วขณะหนึ่ง
2. เห็นจุดแสงสีดำขาวเต็มไปหมด หรือเห็นเป็นแสงระยิบระยับเมื่อมองไปกลางแดด
3. ปวดในเบ้าตาลึกๆปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายไมเกรน หรือปวดจี๊ดขึ้นสมอง
4. ตาจะพร่า เมื่อมองวัตถุบนพื้นที่มีแสงจัดหรือบนพื้นที่มันวาว
5. อ่านหนังสือ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือดูโทรทัศน์ ได้ไม่นาน
6. เห็นดวงไฟมีแสงเจิดจ้า เป็นรัศมีกระจาย เห็นเป็นฝ้าหมอกหรือวงสีรุ้ง รอบดวงไฟ
7. เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือเห็นลำแสงวิ่งผ่านตา หรือเห็นเป็นเส้นหยักๆที่หางตาบางที
8. มีความลำบากในการสังเกตพื้นต่างระดับเวลาก้าวเดิน หรือเวลาขึ้นลงบันได
9. เห็นสีจืดจางลงหรือผิดเพี้ยนไป เห็นตัวหนังสือเลือนรางหรือแตกพร่า
10. การมองในที่มืดแย่ลง เห็นหน้าคนไม่ชัด และไม่กล้าขับรถในเวลากลางคืน
11. เวลาขับรถลงอุโมงค์ลอดทางแยกหรือเดินเข้าที่ร่มในเวลาแดดจัด ตาจะมืดบอดชั่วขณะ
12. เวลามองผ่านกระจกหน้ารถในทิศทางย้อนแสงอาทิตย์ ตาจะพร่าและสู้แสงไม่ค่อยได้
13. เวลากลางคืนมักจะเดินชนข้าวของเป็นประจำ จึงต้องเปิดไฟในบ้านทุกดวงเท่าที่มี
14. มองสิ่งที่เคลื่อนที่เร็วๆไม่ทัน ทำให้ไม่มั่นใจเวลาขับรถหรือเดินข้ามถนนคนเดียว
15. ตาสู้แสงไม่ได้ ต้องใส่แว่นดำเป็นประจำ
16. เห็นแสงมืดลงไปเรื่อยๆ หรือเห็นเป็นหมอกควันอยู่ทั่วๆไป
17. ลานสายตาแคบเข้ามาเรื่อยๆ จนระยะสุดท้าย เหมือนมองผ่านท่อกลม

ที่มา

  • Sikarin hospital 
  • นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 363

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เบาหวาน ดูแลกันอย่างไร

10 สูตรน้ำผักผลไม้ ยกร่างใหม่ ดูแลสายตา

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.