ลดเค็ม ช่วย ไต ด้วยสมุนไพรไทย
คุณรู้ไหมว่า การกินอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) สูงจะเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะและยังมีผลเสียต่อ ไต โดยตรง นอกจากนี้ความเค็มยังทำให้หัวใจทำงานหนัก ก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต!
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายถึงประโยชน์เมื่อลดการกินเค็มว่า
“เราควรลดความเค็มทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับรสชาติที่จืดลง ซึ่งการลดโซเดียมให้ต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวันช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอย่างน้อย10 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงได้ดียิ่งขึ้น”
โอ๊ย…อันตรายมากมายขนาดนี้ ชีวจิต ขอชวนผู้อ่านมาปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็มในแบบที่ไม่ต้องจัดเต็มกะปิน้ำปลา
สมุนไพรเสริมรสเค็ม
ก่อนจะเติมน้ำปลาและผงปรุงรสอย่างมันมือ ลองเปลี่ยนเป็นเตรียมกระเทียม ตะไคร้ ใบมะกรูด และพริกให้มากขึ้นอีกนิด เพราะสมุนไพรไทยรอบรั้วบ้านจะช่วยให้คุณลดโซเดียมได้
คุณชุษณา เมฆโหรา นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า
“ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรสชาติและกลิ่นรสสามารถนำมาใช้ในการปรับลดโซเดียมในอาหารได้ค่ะ ความสัมพันธ์นี้เป็นปัจจัยที่มีผลต่อกระบวนการรับรสของมนุษย์ เช่น รสเปรี้ยวช่วยเสริมรสเค็ม รสเค็มช่วยเสริมรสหวาน ซึ่งจากการทดสอบคุณสมบัติของสมุนไพรไทยต่อการปรับลดโซเดียมในอาหารแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มสัดส่วนสมุนไพรให้สูงขึ้นร้อยละ 25 - 50 ทำให้เราลดปริมาณโซเดียมจากเครื่องปรุงรสได้ถึงร้อยละ 25 โดยไม่ส่งผลต่อรสชาติโดยรวมของอาหาร”
และนี่คือบรรดา สมุนไพรไทยที่เป็นเคล็ดลับเพื่อปรับลดโซเดียม
พริก
ความเผ็ดร้อนของพริกสามารถเสริมรสเค็มและเพิ่มกลิ่นหอมให้อาหารได้
กระเทียม
กลิ่นของกระเทียมจะเพิ่มความกลมกล่อมและการรับรสเค็มในอาหารแต่ละจาน
ตะไคร้ และ ใบมะกรูด
สมุนไพรสองชนิดนี้เมื่อจับคู่กันจะช่วยเติมความหอมและดึงรสเค็มให้เด่นขึ้น