ชมพระประธานยิ้มรับฟ้า กราบสมเด็จฯ สวดคาถาชินบัญชร – วัดระฆังโฆษิตาราม
วัดระฆังโฆษิตาราม เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดที่อยู่ใกล้พระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระสังฆราช (สี) ประทับที่วัดแห่งนี้
วัดแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในฐานะสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยกรุงธนบุรีด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ขุดพบระฆังโบราณในบริเวณบ่อเต่าหลังพระอุโบสถ เป็นระฆังที่มีเสียงดังไพเราะ รัชกาลที่ 1 ทรงขอไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต) แล้วพระราชทานระฆัง 5 ใบมาแทน จึงเป็นที่มาของชื่อวัดที่เรียกกันว่า “วัดระฆังฯ” ภายในวัดระฆังฯยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายจุดดังนี้
พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี)
ภายในประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราช (สี)
พระวิหารสมเด็จ
ภายในพระวิหารประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรังสี) พระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) และพระพุฒาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร)
ผู้ศรัทธานิยมนำหมากมาถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
พระอุโบสถหลังเก่า
พระอุโบสถหลังเก่ามีอีกชื่อหนึ่งว่า “โบสถ์มหาอุด” เป็นการสร้างแบบศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากพระอุโบสถหลังนี้มีขนาดเล็ก รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น
พระอุโบสถหลังปัจจุบัน
ยังคงเป็นโบสถ์แบบศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประดิษฐานพระประธานปางนั่งสมาธิศิลปะแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาจตอนปลาย มักเรียกว่า “พระประธานยิ้มรับฟ้า” ตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงรับสั่งว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนวัดระฆัง พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกทีไป” ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนโดย เสวกโท พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตร ซึ่งเขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเรื่องไตรภูมิ พุทธประวัติ และทศชาติ
หอพระไตรปิฎก
เดิมเป็นตำหนักเดิมของรัชกาลที่ 1 ในสมัยยังดำรงยังเป็นสามัญชนรับราชการตำแหน่งพระราชวรินทร์ เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว โปรดเกล้าฯให้รื้อตำหนักเดิมมาประกอบใหม่เป็นหอพระไตรปิฎกถวายวัดระฆังฯ เดิมทีปลูกสร้างไว้ที่กลางสระด้านหลังพระอุโบสถ ต่อมาทางวัดย้ายมาไว้ภายในกำแพงแก้วของพระอุโบสถ โดยเรือนไทยกลางเป็นหอสำหรับเขียนคัมภีร์ เรือนไทยทิศเหนือเป็นหอเก็บคัมภีร์ และเรือนไทยทิศใต้เป็นหอนั่งอ่านคัมภีร์
ที่มา : พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร โดยคุณหญิงสุริยา รัตนกุลและคณะ
ภาพ : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์
บทความน่าสนใจ
“มีเมตตา…จนมหานิยม” เรื่องเล่าของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตแห่งวัดระฆัง
วัดระฆัง วัดสมเด็จโต พรหมรังสี – วัดที่ใครๆ ก็อยากไป
“บุโรพุทโธแห่งสยามประเทศ” วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) จังหวัดร้อยเอ็ด
ศาลาธรรม ศาลาแห่งความสงบ เน้นความเรียบง่าย ในจังหวัดปทุมธานี