อิจฉา พาวินาศ – บทความดีๆ จากท่านว. วชิรเมธี
ปุณณ์และปัณณ์ หลานรัก
ถ้าหากหลานทั้งสองอยากมีชีวิตที่มีความสงบสุข อยากมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีตลอดวันตลอดคืน ปู่ขอแนะนำว่าจงอย่าปล่อยให้มีความอิจฉาริษยาเกิดขึ้นมาในใจเป็นอันขาด เพราะหากเมื่อใดก็ตามที่หลานตกเป็นทาสของความอิจฉาริษยา เมื่อนั้นเองที่ใจของหลานจะเหมือนถูกตะปูตอกลงไปจนมิด หลานจะเจ็บเจียนตายจนหาความสุขไม่ได้เอาเลยทีเดียว
ความอิจฉาริษยานั้นมักจะแสดงอาการออกมาเป็น “ความอดรนทนไม่ได้” ในยามที่เห็นคนอื่นเขาได้ดีมีความสุข มีความเจริญ มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จในชีวิตหรือในหน้าที่การงาน
เมื่ออดรนทนไม่ไหวหรือยอมรับไม่ได้ในความสุขความเจริญของคนอื่น ใจของเราจึงมีแต่ความทุกข์ตรมขมไหม้ เหมือนมีไฟอ่อน ๆ สุมอยู่ข้างในตลอดเวลา ยิ่งเห็นคนอื่นสูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปมากเพียงไร ก็ยิ่งทุกข์หนักหนาสาหัสมากมายเพียงนั้น
ในทางตรงกันข้าม หากเราปราศจากความอิจฉาริษยา พอเห็นคนอื่นได้ดีมีความสุข เราพลอยโมทนาสาธุ ชื่นชมโสมนัสไปกับเขา ใจของเราก็จะยิ่งมีความสุข
พอเปิดหัวใจให้กว้าง เห็นความสุขความเจริญของเขา เป็นสิ่งควรโสมนัสยินดี ใจของเราก็จะยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นเป็นทวีตรีคูณ
เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ให้สุขแก่ท่านสุขนั้นถึงตัว”
สำหรับคนที่ใจกว้างพลอยชื่นชมโสมนัสยามคนอื่นได้ดีมีสุขนั้น ความสุขของคนอื่นก็เหมือนเป็นความสุขของตน ความก้าวหน้าของคนอื่นก็เหมือนเป็นความก้าวหน้าของตน
เหมือนเวลาที่เรากำลังรดน้ำต้นไม้ให้ชุ่มเย็น ไม่ใช่เฉพาะต้นไม้ที่เรารดน้ำให้เท่านั้นที่สดชื่นรื่นเย็น ตัวเราเองก็พลอยสดชื่นรื่นเย็นตามไปด้วย
วิธีวัดว่าใครเป็นคนใจสูงหรือใจทรามก็วัดจากท่าทีที่เรามีต่อคนที่กำลังมีความสุขความเจริญนี่เองแหละหลานเอ๋ย
หากเห็นคนอื่นก้าวหน้าแล้วเราริษยาเราก็คือคนใจทราม ใจมืด ใจแคบ จิตวิญญาณยังมีพัฒนาการอยู่ในขั้นต่ำ
แต่หากเห็นคนอื่นก้าวหน้าแล้วเราพลอยโมทนาสาธุการยินดีปรีดาอย่างบริสุทธิ์ใจเราก็คือคนใจสูง ใจประเสริฐ มีจิตวิญญาณที่พัฒนาการมาไกลมากแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ในทางปัญญา มีวุฒิภาวะทางจิตที่เจริญงอกงามกว่าคนทั่วไป
หลานรัก ความอิจฉาริษยานั้นมีพิษสงที่ร้ายแรงเพียงไร ขอให้หลานลองฟังนิทานที่ปู่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ก็แล้วกัน
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…
มีพระราชาอยู่พระองค์หนึ่ง พระองค์ทรงครองราชย์มาอย่างยาวนานหลายสิบปี แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ทรงให้มีการสถาปนาพระโอรสพระองค์ใดเป็นรัชทายาท พระองค์ยังทรงปล่อยให้ตำแหน่งอันทรงความสำคัญยิ่งนี้ว่างมาอย่างยาวนานจนถึงตอนปลายรัชกาลซึ่งพระองค์ก็มีพระชนมายุมากแล้ว
อยู่มาวันหนึ่ง ราชปุโรหิตจึงกราบทูลเตือนพระองค์ว่า ขอให้ทรงเร่งตั้งรัชทายาทผู้สืบราชสันตติวงศ์เสียเถิด พระราชาผู้เฒ่าตรัสตอบว่า พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยว่าจะมอบตำแหน่งให้พระโอรสพระองค์ใดดี
เพราะหากมอบตำแหน่งให้พระโอรสพระองค์โตก็ทรงเกรงว่าจะถูกพระโอรสพระองค์เล็กทำการรัฐประหารยึดอำนาจแน่ ๆ เพราะพระโอรสพระองค์เล็กนั้นทรงมีความ “ริษยา”พระโอรสพระองค์โตมาโดยตลอด
ครั้นจะให้พระโอรสผู้น้องขึ้นเสวยราชย์ก็ผิดกฎมณเฑียรบาลอีก พระองค์จึงทรงรั้งรอมานานจนถึงป่านนี้
ราชปุโรหิตจึงเสนอว่า หากพระองค์ทรงเกรงว่าพระโอรสพระองค์เล็กจะทรงริษยาเจ้าพี่และพลอยหาวิธีล้มราชบัลลังก์ ก็ควรจะหาวิธีพิสูจน์ดูเสียก่อนว่าพลังความริษยาของพระโอรสพระองค์เล็กนั้นจะมีความเข้มข้นเพียงใด
พระราชาผู้ชราตรัสถามว่าจะพิสูจน์โดยวิธีใด ราชปุโรหิตจึงแนะอุบายว่า ให้พระองค์ทรงเรียกพระโอรสทั้งสองมาพร้อมกันแล้วทรงพระราชทานพรพิเศษให้แก่พระโอรสพระองค์เล็ก โดยให้ทรงออกอุบายว่าจะทรงมอบราชสมบัติให้พระโอรสพระองค์โต แต่ก็จะไม่ทรงทิ้งพระองค์เล็ก ดังนั้นก่อนที่พระโอรสพระองค์โตจะขึ้นครองราชย์ก็จะพระราชทานพรพิเศษให้แก่พระองค์เล็กเป็นการปลอบใจในฐานะพระเจ้าน้องยาเธอ โดยพรที่จะให้นี้จะเป็นอะไรก็ได้ที่พระโอรสพระองค์เล็กต้องการก็สามารถทูลขอได้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้อยู่ว่าพรพิเศษอะไรก็ตามที่พระองค์เล็กขอนั้น เจ้าพี่ก็จะได้รับด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า น้องได้อะไรจากพ่อก็ตาม พี่จะได้ “สองเท่า” เสมอไปในฐานะที่เป็น “พี่คนโต”
การให้พรแบบนี้นัยว่า พระราชบิดาทรงต้องการจะพิสูจน์ว่าพระโอรสพระองค์เล็กจะมี “พระทัยกว้าง” พอที่จะคิดมอบสิ่งดี ๆ ให้เจ้าพี่ได้หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งทรงต้องการหยั่งเชิงว่า ความริษยาที่พระโอรสพระองค์เล็กมีต่อเสด็จพี่นั้นเข้มข้นรุนแรงเพียงใด
แล้วแผนของพระราชาผู้เฒ่าก็สัมฤทธิผลอย่างงดงาม เพราะพอพระราชทานพรแล้วพระโอรสพระองค์เล็กก็ทรงหายไปหลายวัน ด้วยไม่รู้ว่าจะทรงขอพรอะไรให้ตัวเองดี เพราะหากขออะไรดี ๆ เจ้าพี่ก็จะได้สองเท่าด้วยเสมอไป พระอนุชาทรงใช้เวลาครุ่นคิดถึงสิ่งที่ทรงประสงค์ต่อไปนานนับสัปดาห์ แต่ไม่ว่าจะทรงประสงค์สิ่งใด ก็จะทรงเห็นพระพักตร์ของเจ้าพี่ลอยมาเสมอไป ยิ่งคิดยิ่งทรงหงุดหงิดยิ่งริษยาหนักขึ้นเป็นทวีตรีคูณ
ในที่สุด ผ่านไปสองสัปดาห์ พระองค์ก็ทรงคิดได้ เสด็จไปเฝ้าพระราชบิดาถึงพระตำหนัก พระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นพระโอรสพระองค์เล็กตรงมาเฝ้าก็สบายพระทัย ทรงรำพึงในพระทัยว่า พระโอรสพระองค์เล็กคงจะหายริษยาเจ้าพี่แล้ว คงทรงคิดขอพรดี ๆ ให้แก่ตัวเองและเจ้าพี่ได้แล้ว จึงทรงถามว่าจะขอพรพิเศษอะไรที่ส่งผลให้เจ้าพี่มีส่วนร่วมในพรนั้น ๆ ด้วยเป็นสองเท่า
แต่สิ่งที่พระราชบิดาทรงคาดนั้นผิดไปถนัด เพราะพรที่พระโอรสพระองค์เล็กทูลขอก็คือ ทรงขอให้พระราชบิดาทรงควักพระเนตรของพระองค์ออกเสียข้างหนึ่ง (ความหมายแฝงก็คือ หากพระองค์ถูกควักดวงตาหนึ่งข้างเจ้าพี่ก็จะถูกควักออกทั้งสองข้าง) เมื่อได้ทรงสดับดังนี้แล้ว พระราชบิดาก็ถึงกับทรงทอดถอนพระทัยด้วยความสะเทือนใจอย่างสุดซึ้ง
พระองค์ไม่ทรงคิดมาก่อนว่า “แรงริษยา” ที่มีอยู่ในพระโอรสพระองค์เล็กที่มีต่อพระโอรสพระองค์โตนั้นจะรุนแรงและโหดหินทมิฬมารถึงเพียงนี้ ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงทรงชะลอการแต่งตั้งรัชทายาทออกไปอย่างไม่มีกำหนด
พระองค์จึงทรงได้ชื่อว่าเป็นพระราชาที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก เพราะไม่รู้จะทรงยกราชสมบัติให้ใคร
ความริษยามีอานุภาพร้ายแรงอย่างนี้เองโบราณกบัณฑิตท่านจึงสอนกันสืบมาว่า“อรติ โลกนาสิกา” แปลว่า “ความริษยาทำให้โลกาพลอยพินาศ”
หลานเอ๋ย หากหลานทั้งสองอยากมีความสุข ก็จงถอนลูกศรอาบยาพิษที่ชื่อ“ริษยา” นี้ออกจากใจเสียให้เร็วที่สุดเถิด
ชีวิตของเรานั้นสั้นเกินไป สั้นเกินกว่าจะเสียเวลากับความริษยาที่เป็นส่วนเกินของชีวิต
Photo by Yaoqi LAI on Unsplash
บทความที่น่าสนใจ
พลังของมือที่สาม บทความให้แง่คิดดี ๆ โดย ท่านว.วชิรเมธี
ข้าวสวย หนึ่งทัพพี นิทานสอนธรรมเรื่อง ความกตัญญูกตเวที ท่านว. วชิรเมธี
มรณานุสติภาวนา (การระลึกถึงความตาย) ท่าน ว.วชิรเมธี