ทำทานอย่างไรให้ได้บุญ แนวทางเพื่อการทำทาน
เรื่องบุญเรื่องทานนั้นอยู่ในสายเลือด ของคนไทยเลยก็ว่าได้ แต่ถึงแม้จะคลุกคลี กับวัดวาอารามมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด คน ไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องบุญ เรื่องทานกันอยู่ค่อนข้างมาก
โดยมักเข้าใจ ว่า “การทำบุญ” คือการถวายข้าวของแด่ พระสงฆ์ ส่วน “การทำทาน” คือการให้ ข้าวของแก่คนยากจน ทั้งที่ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง “บุญ” และ “ทาน” มีเบื้องหลังที่ซับซ้อนมากกว่านั้น
วันนี้ ซีเคร็ต ขออาสาพาผู้อ่านไปรู้จัก เบื้องหลังที่ว่า พร้อมทั้งแนะนำวิธีทำทาน ให้ได้บุญแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย
ความหมายของ “บุญ” และ “ทาน”
คำว่า “บุญ” แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เป็นเครื่องกำจัดกิเลส อันเป็นสาเหตุของทุกข์ออกไปจากจิตใจ
ส่วนคำว่า “ทาน” แปลว่า การให้ การสละแบ่งปันผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้สิ่งของ (วัตถุทาน) การไม่ถือโกรธยกโทษให้ (อภัยทาน) การให้ปัญญาเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต (ธรรมทาน) ก็จัดเป็นการให้ทานทั้งสิ้น
พุทธศาสนาถือว่า “การให้” หรือการเสียสละเป็นการกำจัดกิเลสทางหนึ่ง ที่จะเป็นกุญแจไขไปสู่จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้นขอเพียงเป็นการให้ทานที่บริสุทธิ์และดีงามก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น
“ให้ทาน” อย่างดีงามและบริสุทธิ์
เพื่อไม่ให้เสียชื่อชาวพุทธ ไปดูกันดีกว่าว่า ทำอย่างไร “ทาน” ของคุณจึงจะดีงามและบริสุทธิ์สมบูรณ์แบบตั้งแต่ขั้นแรกถึงขั้นสุดท้าย “ผลบุญ” จะได้ส่งผลให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากทุกข์ในที่สุด
ปรับใจก่อนให้ทาน
ตั้งใจดี ก่อนการให้ใดๆ คุณ ต้องน้อมอกน้อมใจให้ด้วยความศรัทธา ที่สำคัญต้อง ไม่หวังลาภยศสรรเสริญ จากทานที่ทำคุณควร คิดว่า “การให้” เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยกำจัดความตระหนี่และความโลภออกจากจิตใจ และเจ้ากิเลสทั้งสองตัวนี้คงไม่หมดไปแน่หากคุณยังทำทานเพื่ออธิษฐานขอให้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง มีเจตนาผ่องใส การทำทานต้องมีเจตนาที่ดีตั้งแต่ ก่อนทำ ขณะที่ทำ และ ภายหลังจากที่ทำแล้ว เจตนาดีที่ว่านี้คือเจตนาที่จะทำทานเพื่อให้ เกิดประโยชน์แก่ผู้รับอย่างแท้จริง คือมิใช่ให้ด้วยความสงสารหรือดูถูกดูแคลน
ทำกายใจให้ผ่องแผ้ว ผู้คนจำนวนมากนิยม รักษาศีลเพื่อละบาปและทำจิตใจให้บริสุทธิ์ก่อนทำทาน ศีลจึงเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การทำทานอย่างถูกวิธี อย่างน้อยข้อ “ปาณาติปาตา – เว้นจากการฆ่าสัตว์” ก็ช่วยป้องกันไม่ให้คุณฆ่าสัตว์เพื่อทำภัตตาหารถวายพระอย่างแน่นอน
เตรียมการให้พร้อม
ของต้องดี นอกจากจิตใจของผู้ให้จะต้องดีแล้ว องค์ทานหรือของที่ให้ต้องเป็นของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์และมีประโยชน์แก่ผู้รับอย่างแท้จริง ของเหลือ ของชำรุด ของที่ลักขโมยมานั้นจึงผิดเต็มประตู เพราะนอกจากจะไม่ได้บุญแล้วยังมีบาปติดตัวไปอีกด้วย
ผู้รับมีศีล พูดง่ายๆ ว่า ผู้รับต้องเป็นผู้ที่จะนำของที่เรามอบให้ไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์ การใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองนั้นนับว่าเป็นบุญในระดับหนึ่ง แต่ถ้านำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ด้วยแล้วทานนั้นจะนับเป็นบุญมหาศาล ด้วยเหตุนี้ผู้คนส่วนมากจึงนิยมทำทานกับพระภิกษุสงฆ์ เพราะนอกจากท่านจะเป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งถือศีลถึง 227ข้อแล้ว ยังมั่นใจได้ด้วยว่า ทานที่เราถวายแด่ท่านจะเป็นประโยชน์ต่อชนหมู่มาก เพราะกิจของสงฆ์ก็เป็นไปเพื่อส่วนรวมทั้งสิ้น
คิดใหม่ ทำใหม่ ให้ทานอย่างสร้างสรรค์
อย่าให้กรอบความคิดเก่าๆ มาจำกัดวิธีการทำทานของคุณ เพราะ เรื่องบุญเรื่องทานไม่จำเป็นต้องทำตามใครไปเสียทุกอย่าง ลอง “คิดใหม่ ทำใหม่” มาลองหาทางสร้างสรรค์วัตถุทานให้เหมาะกับผู้ให้ และผู้รับกันดีกว่า
มีแค่ใจก็ให้ทานได้
อย่าให้อาการของโรคทรัพย์จางมาเป็นอุปสรรคกั้นขวางทางบุญของคุณอยู่เลย เพราะ มีวิธีให้ทานโดยไม่ต้องควักเงินสักแดงมาฝาก
ให้ความรู้เป็นทาน แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารจะแสนก้าวไกล แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยังอยู่ห่างไกลความรู้ เพียงเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือหรือสอนทักษะวิชาชีพให้น้องๆ ตามโรงเรียน การทำให้ใครสักคนมีความรู้ความสามารถ คือการพัฒนาจิตใจทั้งของผู้ให้และผู้รับไปพร้อมๆ กัน
แต่ถ้าคุณมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ลองค้นหนังสือเก่าๆ ที่อ่านจบแล้วมาบริจาคให้ห้องสมุดตามโรงเรียนหรือตามวัดในต่างจังหวัด ก็เป็นวิทยาทานที่ดี แต่มีข้อแม้ว่าต้องคัดเฉพาะหนังสือที่สร้างสรรค์และไม่เป็นโทษต่อผู้อ่านเท่านั้น
มาตระเวนเป็นอาสาสมัคร “ครูบ้านนอก” กับ มูลนิธิกระจกเงา กันดีกว่า งานนี้ได้ไปสอนกลางไอหมอกถึงจังหวัดเชียงรายกันเลยทีเดียว
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bannok.com/volunteer
แรงงานก็เป็นทานได้ เชื่อหรือไม่ว่าแรงงานเป็นสิ่งที่สังคมขาดแคลนอย่างมาก หากสองขาสองแขนของคุณยังแรงดีไม่มีตกละก็ ลองให้ทานแบบปิดทองหลังพระด้วยการปลูกป่าหรือเก็บขยะตามสวนสาธารณะ ชายทะเลหรืออุทยานแห่งชาติ แล้วคุณจะรู้ว่า การทำความดีโดยไม่มีใครรู้เห็นเป็นความสุขที่ชื่นใจเหลือเกิน
เป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชนไม่ยากอย่างที่คิด ลองชิมลางด้วยงานส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์กับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน โทร. 0-2277-9380-1
เสียงใสๆ ให้เป็นทาน หากมั่นใจว่ามีสุ้มเสียงอันไพเราะกังวาน เสียงใสๆ ของคุณก็เป็นทานได้ จะเปิดการแสดงสดอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง หรืออัดเสียงลงเทปแล้วบริจาคให้สถานสงเคราะห์คนตาบอด ก็เป็นทานที่น่ารักน่าฟังไปอีกแบบ
หรือจะเป็นอาสาสมัครรับโทรศัพท์จากคนที่มีปัญหาชีวิตหรือคิดสั้น การพูดคุยให้เขามีกำลังใจใช้ชีวิตต่อ ถือเป็นบุญมหาศาลเลยทีเดียว
ร่วมเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือบันทึกเสียงกับห้องสมุดคนตาบอดแห่งชาติ ไม่ว่าจะอ่านนวนิยายบทเรียน หรือข่าวสาร ที่นี่จะสอนคุณบันทึกเสียงให้โดนใจคนตาบอดทุกขั้นตอน โทร. 0-2248-0555
มีน้ำใจให้เป็นทาน เพียงคุณพาคนพิการหรือคนชราข้ามถนน สละที่นั่งบนรถโดยสารให้เด็กและสตรีมีครรภ์ เป็นพลเมืองดีพาคนเจ็บคนป่วยส่งโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้เป็นทานที่ประเสริฐนัก เพราะนอกจากจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว จิตใจของคนทำเองย่อมฉ่ำเย็นเป็นสุขไปด้วย
เบิกบานด้วยทานจากความรัก ความรักเป็นได้ทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ทานหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ตามโรงพยาบาลต่างๆ มีเด็กเล็กที่กำพร้าพ่อแม่นอนป่วยไข้อยู่ตามลำพัง ลองใช้ความรักที่เปี่ยมล้นในใจของคุณเบิกทางเป็นอาสาสมัครอุ้มเด็กตามโรงพยาบาล เวลาเพียงไม่กี่นาทีที่เขาอยู่ในอ้อมแขนของคุณนั้นอาจทำให้ชีวิตเล็กๆ ชีวิตหนึ่งเบิกบานด้วยความรักขึ้นมาทีเดียว
น้ำใจคนเมืองขับรถให้ทาง นโยบายแก้ปัญหาจราจรฉบับ“คนใจดี” หยุดรถให้คนข้ามตรงทางข้ามเสมอ เชื่อเถอะว่าคุณจะภูมิใจ อารมณ์เบิกบานขึ้นทุกครั้งที่เห็นท่าทีแสดงความขอบคุณของคนที่คุณหยุดรถให้เขาข้าม
สละที่นั่งสาธารณะ เชื่อไหมว่า เก้าอี้หนึ่งตัวรองรับคนนั่งได้มากกว่าที่คุณคิด
เก็บขยะบนทางเท้า ขยะในสายตาท่าน ช่วยพามันไปลงถังเถอะครับ
พาคนพิการข้ามถนนหรือขึ้นสะพานลอย คุณจะมีเรื่องราวดีๆ เก็บไปเขียนไดอะรี่ส่วนตัวอย่างแน่นอน
1 คัน 2 คน ในยามฝนพรำ ลองเอื้อเฟื้อร่มคันเล็กของคุณให้คนข้างๆ รับรองว่าสายฝนวันนั้นจะฉ่ำเย็นกว่าที่เคย
มาสวมวิญญาณนางสาวไทย “รักเด็กค่ะ” ด้วยการเป็นอาสาสมัครเล่นกับเด็ก สอบถามรายละเอียดได้ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก โทร. 0-2435-5281หากต้องการแบ่งปันความรักที่เหลือล้นให้เด็กสักคนติดต่อเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กแรกเกิดถึงสามขวบได้ที่ มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน จังหวัดยโสธร โทร. 0-4572-2241 หรือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก โทร. 0-2435-5281
บทความน่าสนใจ
ทำทานเหมือนการอาบน้ำคำสอน ของท่านพุทธทาสภิกขุ
10 อันดับของใช้จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ (ตัวเลือกในการจัดสังฆทาน)
5 คําถามยอดฮิตติดในใจ เรื่องของการทำบุญ
ทำบุญวันพระใหญ่ ได้บุญมากกว่า ทำบุญวันธรรมดา จริงหรือ?