พรพล สุวรรณมาศ

พรพล สุวรรณมาศ : ชีวิตหลังลาสิกขากับทุกลมหายใจนี้เพื่อคุณแม่

พรพล สุวรรณมาศ : ชีวิตหลังลาสิกขากับทุกลมหายใจนี้เพื่อคุณแม่

หลายท่านอาจคุ้นเคยกับภาพของพระพรพล ปสันโน ( พรพล สุวรรณมาศ ) หรือหลวงพี่โบ๊ท พระอาจารย์หนุ่มแห่งวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ปัจจุบันท่านได้สละเพศบรรพชิตแล้ว เพื่อดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple myeloma) ซีเคร็ตจึงมาคุยถึงอัพเดทชีวิตหลังสึกของหลวงพี่โบ๊ท และสุขภาพของคุณแม่ว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

 

หลังจากลาสิกขา ต้องปรับตัวอยู่นานไหมกว่าจะเข้ากับวิถีชีวิตฆราวาส

“ ปรับตัวไม่มากเท่าไรครับ เพราะยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ผมยังแวะเวียนไปที่วัดเพื่อช่วยงานพระธรรมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และพระราชญาณกวีอยู่เสมอ ที่บ้านมีแต่ญาติ ๆ ก็ไม่ต้องปรับอะไรกันมาก พอสึกก็ลาออกจากตำแหน่งที่เคยดูแลในตอนที่บวช พระธรรมบัณฑิตท่านก็เมตตา ถึงผมจะเป็นฆราวาสแล้วก็ให้ทำหน้าที่นี้ต่อ โดยแจ้งทางมูลนิธิให้เปลี่ยนจากพระเป็นนายแทน ผมจึงยังบริหารงานทั้ง 4 มูลนิธิต่อคือ มูลนิธิโรจนธรรม มูลนิธิแผ่นดินธรรมในพระสังฆราชูปถัมภ์ มูลนิธิส่งเสริมการบริหารจิตในพระสังฆราชูปถัมภ์ และมูลนิธิส่งเสริมสามเณรในพระสังฆราชูปถัมภ์  และเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีและปลัดฯที่กระทรวงแรงงาน เพราะท่านทั้งสองเคยบวชที่วัดพระราม 9 ฯมาก่อน และนับถือผมเป็นอาจารย์ ยังเรียกผมติดปากว่า “พระอาจารย์” อยู่เลย (หัวเราะ) และเวลาที่ผมไปกระทรวงก็มีแต่คนเรียกผมว่า “หลวงพี่” ผมรู้สึกว่าเราโชคดีเมื่อเปรียบกับคนอื่น ที่ต้องปรับตัวมากเมื่อเจอกับอะไรใหม่ ๆ ซึ่งผมไม่ถึงขนาดนั้น

“ การกลับมาเป็นฆราวาสของผมไม่ได้แตกต่างไปจากตอนที่เป็นพระเท่าไร เพียงแต่ไม่ได้อยู่ที่วัดแล้วเท่านั้นเอง เปลี่ยนมาอยู่ที่บ้านเพื่อดูแลคุณแม่ ถ้าทางวัดมีอะไรก็เข้ามาช่วยเสมอ พฤติกรรมบางอย่างที่เคยทำจนชินในขณะเป็นพระก็ยังทำติดเป็นนิสัย เช่น ไม่กินมื้อเย็น เว้นแต่งานเลี้ยงตอนเย็นก็จะกินบ้าง เช่น งานเลี้ยงแต่งงาน บางครั้งการพูดจาของผมก็ยังเหมือนตอนที่เป็นพระ บางคนยังทักเลยว่า “เขายังพูดเหมือนพระอยู่เลย” (หัวเราะ)”

 

พรพล สุวรรณมาศ

 

คนรอบข้างรู้สึกอย่างไรบ้าง

“ เขาก็ถามว่า “ทำไมถึงสึก” “สึกเพราะอะไร” พอทราบว่าต้องสึกมาดูแลคุณแม่ เขาก็หายสงสัยกัน เพราะผมบวชมานานและมาสึกตอนอายุ 39 ปี พวกเพื่อนวัยเดียวกันก็ไปไกลกันหมดแล้ว ถ้าจะให้เราไปเริ่มต้นใหม่ ก็จะช้ากว่าเพื่อน ผมเองก็ไม่เคยคิดเลยว่าในวันหนึ่งจะต้องลาสิกขาไปดูแลคุณแม่ เพราะคุณแม่รักษาแล้วมีอาการดีมาโดยตลอด จนกระทั่งเข้าปีที่ 10 ยาที่คุณแม่เคยรักษามันสะสม ทำให้คุณแม่ทนตัวยานี้ไม่ไหว เลยต้องเปลี่ยนมาดูแลท่านที่ร่างกายและจิตใจแทน ”

 

การดูแลทางจิตใจทำอย่างไร

“ ผมเอาสิ่งที่เรียนรู้ตอนเป็นพระนำมาใช้กับคุณแม่ เช่น การทำสมาธิ พาคุณแม่สวดมนต์ และนั่งสมาธิ ให้ท่านพยายามระลึกถึงความดีว่าทำความดีอะไรมาบ้าง และจะบอกคุณแม่เสมอว่าไม่ต้องกลัว อย่าไปกลัวความตายและความเจ็บป่วย เพราะสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเจอ พยายามลดความกังวลให้ท่าน เพราะจะทำให้อยู่ได้นานขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปเครียด สุขภาพของท่านก็จะดี ตอนแรกคุณหมอบอกว่า คุณแม่จะอยู่ได้ 3 – 5 เดือนเท่านั้น แต่ตอนนี้ท่านอยู่เกินที่หมอบอกแล้ว (ยิ้ม)

“ ผมอธิษฐานไว้ว่าถ้าคุณแม่อยู่เกินกว่านั้นจะไปบวชที่อินเดียให้ท่าน ผมจึงตั้งใจว่าจะบวชให้ท่านเพียงระยะสั้น ๆ และเป็นเรื่องบังเอิญเมื่อท่านเจ้าคุณ พระราชญาณกวีชวนผมไปงานขึ้นบ้านใหม่อาจารย์บวรศักดิ์ สุวรรโณ ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ของผมในทางโลกด้วย ท่านจะไปบวชที่อินเดียก็ชวนผมไปช่วยดูแลงานที่นั่น เพราะเมื่อปีก่อนตอนผมยังเป็นพระก็มีโอกาสตามไปดูแลผู้อุปสมบท ซึ่งมีอาจารย์บวรศักดิ์ร่วมบวชด้วย ครั้งนี้อาจารย์บวรศักดิ์ชวนผมไปร่วมพิธีในโครงการนี้อีกครั้ง เพราะท่านจะบวชในโครงการฯนี้อีก ผมก็ไปตามคำขอของท่าน พอไปถึงอาจารย์ก็ชวนให้ผมบวช ผมก็เลยตัดสินใจบวช

“ การบวชครั้งที่ 2 ของผมเป็นการบวชแค่ 12 วันตามกำหนดของโครงการฯ และต้องสึกที่นั่นในวันสุดท้าย ผมขออนุญาตกลับมาสึกที่เมืองไทย เพราะอยากให้คุณแม่ได้เห็นผ้าเหลือง และเพื่อให้ท่านได้ถวายอาหาร และทำบุญในขณะที่ผมยังเป็นพระ และอยู่กับท่านสักพักก่อนที่จะกลับมาเป็นฆราวาสอีกครั้ง ”

 

 

นอกจากดูแลจิตใจผู้ป่วยแล้ว ดูแลจิตใจคนรอบข้างอย่างไร

“ ในตอนนั้นคนรอบข้างผมอยู่ในอาการที่ย่ำแย่กันหมด ไม่ว่าจะคุณพ่อ หรือญาติ ๆ คุณพ่อถึงกับบอกว่าไม่ไหว เพราะท่านมีความหวังมาตลอดว่า คุณแม่ต้องกลับมาเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกได้อีกครั้ง พอไม่ได้ตามที่หวัง เพราะไม่มียาอะไรรักษาคุณแม่ได้อีกแล้ว ท่านก็ท้อแท้และหมดกำลังใจ ท่านเลยวานให้ผมคุยกับคุณหมอแทน เพื่อรับทราบอาการทั้งหมดของคุณแม่ ผมเข้าใจคุณพ่อว่าท่านเครียด เพราะท่านยังมีคุณปู่คุณย่าที่ต้องดูแล แต่แปลกที่ผมคุยกับคุณหมอแล้ว ผมไม่มีความรู้สึกร่วมไปด้วยว่าต้องเสียใจ ร้องไห้ตาม แต่คนรอบข้างที่ฟังจะมีอาการเศร้าทันที คงเพราะผมบวชมานาน เข้าใจเรื่องนี้ดี ว่าเป็นความจริงของชีวิต และวันหนึ่งผมก็ต้องเจอ จึงควรทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ให้ระลึกว่า แม้พระพุทธเจ้าทรงเป็นที่สุดแล้ว ยังทรงหนีความตายไม่พ้น แล้วเราเป็นใคร เราย่อมหนีความตายไม่พ้น เพราะฉะนั้นเราต้องคิดอีกแบบคือ การยอมรับว่าความตายเป็นสัจธรรมของโลก ”

 

ตั้งแต่ลาสิกขาออกมาดูแลคุณแม่ได้ข้อคิดอะไรบ้าง

“ ผมมองว่าชาติหนึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฏฏสงสาร จิตของคนเราเดินทางมาหลายภพชาติ ภพหนึ่งเป็นเพียงภพเดียวของคุณแม่ การตายของคุณแม่ทำให้ภพยุติ แต่จิตของคุณแม่ยังคงเดินทางต่อไป เราพยายามส่งพลังจิตที่ดีต่อกันไปให้ท่าน ถึงแม้กระทั่งร่างของท่านจะไม่อยู่แล้วก็ตาม การที่เราสื่อสารกับท่านผ่านกายละเอียดได้ เราสามารถอุทิศบุญให้ท่านได้ เพราะถ้าให้ท่านหอบหิ้วร่างกายนี้ไว้ ท่านต้องทรมานจากความเจ็บปวดและเป็นทุกข์ต่อไป ถ้าคุณแม่อยู่แล้วท่านต้องทุกข์ทรมาน แต่เรามีความสุขเพราะท่านยังอยู่กับเรา แบบนี้ก็ไม่ยุติธรรมสำหรับท่าน ถ้าถึงที่สุดแล้วท่านต้องออกเดินทางจริง ๆ เราต้องทำความเข้าใจและยอมรับว่า ท่านจะสบายขึ้น ท่านจะไปอยู่ในร่างใหม่ที่แข็งแรง และจะมีความสุข ได้ท่องเที่ยวในที่ใหม่ ๆ และได้กินอะไรใหม่ ๆ พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องจิตสุดท้ายว่าสิ่งที่จะพาเราไปสู่ภพภูมิอื่น คือการทำจิตสุดท้ายให้ดี วิธีนี้ก็เป็นการช่วยให้ท่านไปสู่ถิ่นใหม่ที่ดีได้ ”

 

ช่วยฝากถึงครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยเป็นโรคร้ายว่าเขาควรทำอย่างไร  

“ ถ้าเราไม่เข้มแข็งและแกร่งพอ ผู้ป่วยก็จะแย่ตามไปด้วย การยอมรับความจริงที่ว่า วันหนึ่งเขาต้องไปจากเราเป็นสิ่งที่ดี การยอมรับความตายว่าไม่ได้เป็นความทุกข์ ในสมัยพุทธกาลมีหญิงนางหนึ่งไม่ยอมรับว่าลูกตาย ก็พยายามตามหาคนมารักษาให้ฟื้น นางไปขอให้พระพุทธเจ้าทรงช่วยรักษา พระพุทธเจ้าทรงบอกให้นางหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดในบ้านที่ไม่เคยมีใครตายมาถวาย แล้วพระองค์จะทรงช่วยรักษา ปรากฏว่านางไปที่บ้านใครก็มีคนในบ้านตาย นางจึงเข้าใจและยอมรับว่าความตายเป็นสัจธรรมของโลกที่หนีไม่พ้น การพยายามรักษาคนในครอบครัวเป็นเรื่องที่ดี เราต้องพยายามให้ถึงที่สุด แต่หากไม่ไหวก็ต้องยอมรับและเข้าใจว่าเป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครหนีพ้น”

 

พรพล สุวรรณมาศ

 

เรื่อง : พรพล สุวรรณมาศ

เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ภาพ : ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ

ส่งปัญหาธรรมและเรื่องดี ๆ สร้างแรงบันดาลใจมาได้ที่ >>> Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

“คนบ้า” ใจดี อุทาหรณ์เตือนใจอย่าตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก

บ่อเกิดแห่งความทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

อย่าหวังอะไรในความสงบ ธรรมะโดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

อย่าหวังอะไรในความสงบ ธรรมะโดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

รักตนเหมือนรักคนอื่น ธรรมะโดย ท่าน ส.ชิโนรส

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.