สธ. เตือนหน้าหนาวระวังโรคไข้รากสาดใหญ่

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูหนาวประชาชนนิยมเที่ยวในป่า ภูเขา เตือนให้ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด ติดโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) ตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกทเซีย (Rickettsia orientalis) โดยจะชอบกัดบริเวณในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้ หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ตาแดง ปวดกระบอกตา ผู้ป่วยร้อยละ 50 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ในจุดที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ พบประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วย เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้

ในการป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ผู้ที่จะไปเดินป่า ควรใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใช้ยาทากันแมลงกัด ในการเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก ต้องรีบนำเสื้อผ้าไปต้ม หรือแช่ผงซักฟอกทันที เพื่อทำลายไรอ่อนที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้  ทั้งนี้ หากภายใน 2 สัปดาห์หลังออกจากป่ามีอาการป่วยดังที่กล่าวมาข้างต้นให้นึกถึงอาจเป็นโรคนี้ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการเข้าไปในป่า  โรคนี้รักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ

ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้พบผู้ป่วยได้ตลอดปี มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า จะพบมากในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว โดยตัวไรแก่จะชอบอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต กระจ้อน หรือคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคสครับไทฟัส โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 – 11 พฤศจิกายน 2558 ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 6,098 ราย เสียชีวิต 9 ราย ภาคเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุด 3,370 ราย รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,610 ราย

เครดิตภาพ facebook.com/thailanddbeauty

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.