เมื่อสหราชอาณาจักรตัดสินใจ Brexit จากนี้สุขภาพคนอังกฤษจะเป็นอย่างไร
คนรักสุขภาพหลายคนอาจจะอยากรู้ว่า การที่สหราชอาณาจักร (UK) ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือที่เรียกว่า เบรซิต (Brexit) นั้น จะส่งผลกระทบอะไรต่อวงการสุขภาพบ้าง
ประเด็นแรกสุดคงไม่พ้นเรื่องกลุ่มผู้อพยพ (Immigration) ที่กลุ่มผู้สนับสนุนให้ UK ตัดสนใจBrexitออกจาก EU โดยยกมาอ้างว่า ผู้คนกลุ่มนี้แหละเป็นตัวหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลง แถมยังผลาญงบประมาณของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) แต่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน แย้งว่าเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะสถิติตั้งแต่ปีค.ศ. 2001-2011 เผยว่า กลุ่มผู้อพยพทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นต่างหาก ทั้งยังช่วยส่งเสริม NHS เพราะร้อยละ 15 ของพนักงานสาธารณสุข และร้อยละ 30 ของหมอ ในประเทศ ไม่ใช่ชาวอังกฤษ การออกจาก EU จึงจะทำให้ NHS ต้องสูญเสียเงินสนับสนุนถึงประมาณ 36 พันล้านปอนด์
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม กลุ่มประเทศสมาชิก EU เคยช่วยกันลดมลพิษทางอากาศทั่วทวีปยุโรปลงได้ถึงร้อยละ 80 แต่ในครั้งนั้น UK เป็นหนึ่งในประเทศที่ทำคะแนนล้าหลัง เพราะยังมีมลพิษสูง ซึ่งการBrexitน่าจะทำให้ปัญหานี้แย่ลงไปอีก เพราะไม่มีกฎหมายจากส่วนกลางมาค่อยกระตุ้น แถม UK เองคงยังไม่ตัดสินใจลงทุนแก้ปัญหาด้านนี้เป็นด้านแรกแน่ๆ
สำหรับประเด็นข้อตกลงทางการค้า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มานานว่า การเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (TTIP) ซึ่งเป็นการเจรจาระหว่าง EU และประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้องค์กรสุขภาพของรัฐหลายแห่งต้องตกไปเป็นของเอกชน แถมยังทำให้นโยบายความปลอดภัยด้านอาหารและเกษตรกรรมอ่อนแอลง เมื่อเกิด Brexit แล้ว คงต้องเจรจาเรื่องนี้กับประเทศสหรัฐฯ เอง ซึ่งแน่นอนว่าความสามารถในการต่อรองต้องลดลงหลายเท่า
การBrexitครั้งนี้ยังทำให้การแก้ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับผลกำไรทางการค้าใน UK แย่ลง เพราะการแก้ไขปัญหาด้านนี้ สาธารณสุขต้องประสานงานและควบคุมอุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น ยาสูบ อาหาร เครื่องดื่ม และแอลกอฮอล์ เมื่อปราศจากตัวบทกฎหมายจาก EU แล้ว อำนาจในการควบคุมอุตสาหกรรมให้ไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสุขภาพจะลดลง ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดการทุจริตมากขึ้นด้วย
กลุ่มผู้ชนะในประชามติครั้งนี้ เชื่อว่าการออกจากสหภาพยุโรป จะทำให้สาธารณสุขของสหราชอาณาจักรก้าวหน้ามากขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างจริงจังแล้วกลับพบว่า การBrexitคงไม่ได้ทำให้การสาธารณสุขของอังกฤษก้าวหน้าไปไกลกว่าตอนเป็นสมาชิก EU เท่าไหร่ คราวนี้ชาวบริติชคงต้องทำงานกันหนักหน่อย เพื่อให้การตัดสินใจครั้งนี้ สวนกระแสวิเคราะห์และวิจารณ์ทั่วโลก เอาใจช่วยแล้วกันนะคะ
credit : thewealthwatchman.com
เรื่อง “เกาะกระแสบBrexitสาธารณสุขอังกฤษจะรุ่งหรือร่วง” เขียนโดย ธปัน