เซลล์ ต้านมะเร็ง

หรือจะเป็นข่าวดี พบเซลล์ ต้านมะเร็ง ในหมาป่า

ต้านมะเร็ง เป็นเรื่องที่วงการแพทย์ขบคิดหาหนทางมาตลอด ที่จะเอาชนะเจ้าเซลล์กลายพันธุ์ ให้หยุดสร้างผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งวิธีรักษาในปัจจุบันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการฉายแสง ผ่าตัด เคมีบำบัด หรือใช้ยาพุ่งเป้าก็ตาม และก็มีข่าวดีออกมาเรื่อยๆ ในพัฒนาการของการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ และข่าวนี้ก็เป็นอีกหนึ่งข่าวดี ที่ทำให้เราได้เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์มากขึ้น

สำหรับการค้นพบครั้งใหม่นี้ก็อย่างที่เกริ่นไว้ในชื่อเลยว่า เป็นการค้นพบเซลล์ต้านมะเร็งในหมาป่า ที่สำคัญไม่ใช่หมาป่าธรรมดา แต่เป็นหมาป่าที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี ที่มาจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลอันลือเลื่อง ของสหภาพโซเวียต หรือก็คือ แนวชายแดนยูเครน – เบลาลุสในปัจจุบัน

ภัยพิบัติเชอร์โนบิล หายนะจากกัมมันตภาพรังสี

ค่ำคืนของวันที่ 26 เมษายน 2529 กลายเป็นฝันร้ายอีกหนึ่งวันของคนทั้งโลก เมื่อเตาปฏฺิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงงานผลิตไฟฟ้าในเมืองเชอร์โนบิลระเบิดขณะที่กำลังทดสอบระบบ กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลไปทางอากาศ ครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศของทวีปยุโรป ทางเหนือมีรายงานว่าขึ้นไปถึงนอร์เวย์ ในขณะที่กรีซเองก็ได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นยังพบว่าบางไปถึงเทือกเขาแอลป์เลยทีเดียว

สำหรับผู้คนในพื้นที่ถูกอพยพเป็นการด่วน เมืองเชอร์โนบิลที่กำลังเติบโตถูกทิ้งร้างในชั่วข้ามคืน เจ้าหน้าที่กู้ภัยและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงนับร้อย เสียชีวิตด้วยโรครังสีเฉียบพลัน และประชาชนอีกนับแสนที่ได้รับผลกระทบเกิดเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งไทรอยด์

เชอร์โนบิล

วันเวลาผ่านไป จนถึงปัจจุบันเกือบ 40 ปี เชอร์โนบิลยังคงเป็นดินแดนต้องคำสาป ที่คนมาหน้าหลายกลุ่มเข้าไปสำรวจ ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว รวมไปถึงกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้าระวัง และศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในบริเวณที่เรียกว่า Chernobyl Exclusion Zone (CEZ) ที่มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางไมล์ หรือ 2,500 ตารางกิโลเมตร อันเป็นพื้นที่รอบๆ โดยมีรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตรจากโรงงานไฟฟ้า

ผลการศึกษาสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในบริเวณ CEZ ให้คำตอบที่น่าสะพรึงกลัวมาตลอดไม่ว่าจะเป็น ความพิการของสัตว์ที่หากินในบริเวณดังกล่าว การกลายพันธุ์ของพืชและสัตว์ รวมไปถึงวิวัฒนาการบางอย่างเพื่อความอยู่รอด

เซลล์ ต้านมะเร็ง การคัดสรรของธรรมชาติ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา CEZ กลายเป็นแหล่งศึกษาเรื่องผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีที่ใหญ่ที่สุดของโลก อย่างที่เราเห็นว่ามีงานวิจัยต่างๆ ออกมามากมาย และล่าสุดกับการค้นพบเซลล์ ต้านมะเร็ง ในหมาป่า โดย Cara Love และ Shane Campbell-Stanton 2 นักชีววิทยา จากมหาวิทยาลัย พรินเซตัน ( Princeton University ) ได้เผยแพร่การค้นพบในที่ประชุม Society of Integrative and Comparative Biology เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา (2024)

โดยเป็นการศึกษาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี พบความผิดปกติหนึ่งที่แตกต่างจากที่ควรจะเป็นคือ ปริมาณหมาป่าในบริเวณ CEZ มีจำนวนมากกว่าในเขตคุ้มครองสัตว์ป่าของเบลาลุสถึง 7 เท่า!

เท่านั้นยังไม่พอ ยังพบความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างหมาป่าในเขต CEZ และหมาป่าที่อาศัยห่างออกไป 10 ไมล์

ทำไมถึงเป็นหมาป่า

Cara Love หัวหน้าทีมชีววิทยาให้คำตอบที่ว่าทำไมหมาป่าจึงนำมาศึกษาวิจัย นั่นก็เพราะว่า หมาป่านับได้ว่าเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ของ CEZ เพราะมันเป็นนักล่า และไม่ว่าอะไรก็ตามที่มันกินเข้าไป ล้วนปนเปื้อนด้วยกัมมันตภาพรังสี มันจึงเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ

หมาป่ามีเซลล์ ต้านมะเร็ง

ในขณะที่ Campbell-Stanton อธิบายเพิ่มเติมว่า หมาป่าเหล่านี้จะทำให้เข้าใจ ผลกระทบของการได้รับรังสีไอออไนซ์แบบเรื้อรัง ในปริมาณต่ำ ที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้

เซลล์ ต้านมะเร็ง ผลงานของธรรมชาติ

ในปี 2014 ทีมวิจัยติดปลอกคอที่มี GPS และเครื่องวัดรังสี ให้กับหมาป่าในเขต CEZ เพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ เขตพื้นที่หากิน รวมไปถึงปริมาณรังสีที่พวกมันได้รับ เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของมะเร็งที่เกิดขึ้นในเขตเชอร์โนบิล แต่ผลที่ได้กลับให้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เมื่อพบว่าพวกมันได้รับรังสีเกินกว่าที่กฏหมายกำหนดสำหรับมนุษย์ถึง 6 เท่า อยู่ตลอดเวลา!

เซลล์ ต้านมะเร็ง

Cara Love และ Shane Campbell-Stanton ตั้งข้อสันนิษฐานว่า นี่คือการคัดสรรของธรรมชาติ ที่ปกติแล้วจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็น ค่อยไป แต่ในสถานที่พิเศษอย่าง CEZ ทำให้ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าหมาป่าพวกนี้จะมีอัตราการเป็นมะเร็งพอๆ กับหมาป่าทั่วไป แต่พวกมันกลับไม่ได้รับผลกระทบจากมะเร็ง และที่สำคัญคือมันส่งต่อความแข็งแกร่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น

อนาคตของเซลล์ ต้านมะเร็ง กับมนุษย์

จากการศึกษาของ Cara Love และ Shane Campbell-Stanton พบว่าการที่พวกมันไม่ได้ผลกระทบจากมะเร็ง เกิดขึ้นจากยีนส์บางตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันมีความสามารถในการต่อต้านเนื้องอก เนื้อร้าย หรือเจ้าก้อนมะเร็งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ (นี่เป็นหนึ่งข้อที่มนุษย์และหมาป่าเหมือนกัน คือเราต่างก็เป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยิ่งเพิ่มความหวังว่าเซลล์มะเร็งเหล่านี้จะได้ผลดีในมนุษย์เช่นเดียวกัน)

ต่อจากนี้นักชีววิทยาทั้ง 2 จะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง เพื่อศึกษา พัฒนาต่อไปว่า จะยีนส์เหล่านี้จะสามารถส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นไรบ้าง

นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดีที่เราต่างก็รอคอย หากว่ามีข่าวคราวความคืบ ชีวจิตจะนำมาเสนออีกนะคะ

ที่มา Popular Mechanics

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ไวรัสตับอักเสบ ทั้ง บี และ ซี ภัยเงียบที่คุณควรรู้

HOW TO กินอาหารน้ำตาลต่ำช่วยป้องกัน ไขมันพอกตับ

อาการมะเร็งปอด รู้ไว้ก่อนก็รอดได้ไว

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.