โรคลมชัก ทำลายสมอง คร่าชีวิตไม่รู้ตัว
โรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู เป็นอีกหนึ่งโรคที่เราได้ยินชื่อกันอยู่บ่อยๆ แต่รู้ไหมคะว่า เป็นอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัว เพราะอาการชักที่เกิดขึ้น อาจทำให้สมองถูกทำลาย รวมถึงว่า อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้แบบไม่คาดคิด แถมการรักษาหากกินยาได้ผลก็โชคดีไป แต่ถ้ากินแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องผ่าตัดรักษา ซึ่งค่าผ่าตัดสูงมาก 500,000 – 750,000 บาท
ลมชัก ทำให้ไอคิวเด็ก 10 ขวบ ลดเหลือ 1 ขวบ
หนึ่งในความน่ากลัวของโรคลมชัก คือการทำลายสมอง ทำลายไอคิว จากเด็กอายุ 10 ขวบ ให้เหลือเพียง 1 ขวบ จนเด็กๆ ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคม หรือช่วยเหลือตัวเองได้ อีกทั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้ได้เสมอ ก็ทำให้ผู้ปกครองบางบ้าน จำเป็นต้องลาออกจากงาน เพื่อมาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเหตุให้ขาดรายได้
ทำความรู้จัก โรคลมชัก
โรคลมชัก เป็นโรคที่พบมากในเด็กไทย ซึ่งเกิดขึ้นในระบบประสาทส่งผลต่อพัฒนาการ และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ มีข้อมูลสถิติจากกรมอนามัยเมื่อปี 2562 พบว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว มีเด็กที่ป่วยเป็นโรคลมชัก 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วประเทศ หรือประมาณ 170,000 คน
สาเหตุของโรคลมชัก เกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ
- ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด
- ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ
- เนื้องอก
- พันธุกรรม
- โรคแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ
แต่ก็มีเช่นกัน ที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถระบุเหตุผลได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ไม่สามารถป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่ทำได้ในกระบวนการรักษาคือ การรักษาตามอาการ และรักษาอาการชัก
สำหรับสาเหตุความผิดปกตินั้น มาจากการทำงานของสมอง ที่ทำงานผิดปกติ จนทำให้การส่งสัญญาณของสมองผิดปกติตามไปด้วย และกระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ จนเกิดอาการนอกเหนือการควบคุม ซึ่งการทำงานผิดปกตินี้ ก็เหมือนการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ไปมาแบบ ติดๆ ดับๆ ควบคุมไม่ได้ อาการก็จะเป็นๆ หายๆ
อาการโรคลมชัก
แม้จะชื่อ โรคลมชัก แต่อาการของโรคก็ไม่จำเป็นต้อง ชักอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีอาการอื่นๆ ได้ เช่น
- แขนขากระตุก
- เหม่อลอย
- ไม่ได้สติ ไม่รับรู้ ไม่ตอบสนอง
อาการชัก
สำหรับอาการชัก ก็แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
ชักทั้งตัว เป็นอาการ เกร็ง กระตุก เหม่อลอย สูญเสียการทรงตัว ทำให้ล้มลงไปทั้งตัว มักมีอาการหยุดหายใจ กัดลิ้น ปัสสาวะราด หรือหลับไป ร่วมด้วย
ชักเฉพาะที่ เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นในบางส่วนของร่างกาย เช่น
- กระตุกที่ใบหน้า แขน ขา
- รู้สึกชา หรือมีอาการเหมือนถูกเข็มทิ่ม
- เห็นแสงวูบวาบ
- ได้กลิ่น ได้รสชาติ หรือได้ยินเสียแปลกๆ
- อาการเช่น ใจหวิว ปวดท้อง เหงื่อออก
อาการโรคลมชักนี้ เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย สำหรับในเด็กอาจจะไม่ปรากฏอาการชัก แต่เป็นความผิดปกติบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ผวา สะดุ้ง ผงกหัว จึงต้องอาศัยการสังเกตจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด และควรพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับสมอง
การปฐมพยาบาล
หากเจอผู้ป่วยที่กำลังชัก การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดอุบัติเหตุ หรืออาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยควรมีหลักการปฏิบัติ ดังนี้
การรักษา
60% ของโรคลมชักในเด็ก รักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยากันชัก โดยผู้ป่วยจะได้รับยาควบคุมอาการชัก 1 หรือ 2 ชนิด (ราวๆ 1 ใน 3 ที่จะได้รับยากันชัก 2 ชนิดควบคู่กัน) ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดยาเอง แม้ว่าจะมีอาการข้างเคียง เช่น เวียนหัว ผื่นแดง มีปัญหาเรื่องการคิด การพูด นอกจากนั้นแล้วจะต้องมีการติดตามผล โดยจะต้องกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี จนไม่มีอาการชักเลย แพทย์จึงจะพิจารณาให้หยุดยาได้
หากว่าการรักษาโดยใช้ยา 2 ตัว ควบคู่กันไม่ได้ผล การรักษาด้วยการเพิ่มยาชนิดที่ 3 นั้นจะให้ผลการควบคุมอาการชักได้น้อยมาก แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ คือ
การกินอาหารแบบคีโตน
เป็นการกินอาหารที่เน้นไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ เนื่องจากพบว่าสารคีโตนที่ร่างกายหลั่งออกมานั้น มีส่วนช่วยในการปรับการทำงานของสมอง และลดอาการชักได้ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็ไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาควบคู่ไปกับการใช้ยากันชัก ผู้ปกครองไม่ควรปฏิบัติเอง
การผ่าตัดโรคลมชัก
หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา แพทย์จะประเมินเพื่อการรักษาโดยเป็นการผ่าตัดสมองว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยจะพิจารณาที่ความปลอดภัยในการผ่าตัดเป็นหลัก เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน และมีความเสี่ยงสูง จึงต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา รวมถึงเพื่อลดความเสี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 500,000 บาท
การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นประสาท VNS
เป็นอีกหนึ่งการรักษา ในกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดสมอง โดยจะเป็นผ่าจัดเพื่อฝังเครื่องมืองไว้ที่ผนังหน้าอก เพื่อให้อุปกรณ์เชื่อมไปยังศูนย์ควบคุมประสาทที่บริเวณคอ โดยเครื่องนี้จะกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทเพื่อยับยั้งคลื่นสมองที่ผิดปกติ เมื่อใช้ร่วมกับยากันชัก เครื่อง VNS นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งอาการชัก ทำให้สามารถลดขนาด และจำนวนยากันชักลงได้ รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตแบบฉับพลัน และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 750,000 บาท
เนื่องในวันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันโรคลมชักโลก ทางชีวจิตขอเชิญชวนร่วมบริจาค เพื่อมอบโอกาสให้แก่เด็กๆ ผู้ป่วยโรคลมชักได้มีชีวิตได้ตามปกติ ด้วยการบริจาคของท่านเพียงคนละเล็กน้อยจะสามารถสร้างโอกาสชีวิตให้กับอนาคตของชาติท่านสามารถร่วมบริจาคได้ที่ชื่อบัญชี สมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
- ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 051-2-09873-5
- ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 0202-395-98996
(ใบเสร็จรับเงินสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า) โดยสแกนคิวอาร์โคดเพื่อขอใบกำกับภาษี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-354-8321 หรือ 090-663-1479
ที่มา มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์