ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ แก้ปัญหาโรคจมูกและไซนัส

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ช่วยแก้ปัญหาโรคจมูกและไซนัสได้อย่างไรบ้าง

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ดีอย่างไร และมีวิธีการอย่างไร นายแพทย์เปรมยศ เงาเทพพฤฒาราม ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะมาให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ

แก้ปัญหาโรคจมูกและไซนัส หลายๆ คนช่วงนี้อาจจะต้องลองหันมาล้างจมูกกันหน่อยแล้ว เพราะฝุ่น PM ก็เยอะขึ้นทุกวัน แต่ดีหน่อยที่หลายๆ คนใส่หน้ากากป้องกันเอาไว้ด้วยเรื่องโควิดด้วยเลยไม่ค่อยจะสูดเอาฝุ่นผงเข้าไปเยอะมาก อาการที่เกิดจากฝุ่นเช่นภูมิแพ้ ก็จะไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่นัก แต่ถ้าหากคุณอยากจะล้างเอาฝุ่นละอองสิ่งสกปรกออกจากจมูก เรียกง่ายๆ คือทำความสะอาดโพรงจมูกลอง ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ แต่จะล้างอย่างไรให้ถูกวิธีวันนี้เรามีวิธีที่ถูกต้องมาฝากค่ะ ไปดูกันว่าเค้าทำกันอย่างไรบ้าง

เมื่อไรที่ต้องล้างจมูก

  • เมื่อมีอาการคัดจมูก
  • มีน้ำมูกข้นเหนียว
  • เริ่มมีอาการของไซนัสอักเสบ (เช่น มีเสมหะในลำคอ หรือรู้สึกมีกลิ่นเหม็นภายในจมูก)
  • หายใจเอาฝุ่นควัน หรือสูดดมมลพิษหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไป
  • ผู้ที่ต้องใช้ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก ก็สามารถล้างจมูกก่อนใช้ยาดังกล่าวได้

ประโยชน์ของการล้างจมูกถูกวิธี

  1. ช่วยชะล้างน้ำมูกและหนอง ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูก และไซนัส ที่ไม่สามารถระบายออกมาได้เอง
  2. ช่วยลดปริมาณเชื้อโรค สารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก ทำให้จมูกโล่งขึ้น และบรรเทาอาการคัดจมูก และน้ำมูกไหล
  3. เพิ่มประสิทธิภาพของยาพ่นจมูก ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูกร่วมด้วย การล้างจมูกก่อนพ่นยาจะช่วยให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้นส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
  4. ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหรือฉายแสงบริเวณโพรงจมูกหรือไซนัส การล้างจมูกจะช่วยชะล้างคราบสะเก็ดแผลและคราบสกปรกออกมา ป้องกันการเกิดพังผืดในโพรงจมูกได้

ทราบประโยชน์ในการล้างจมูกกันไปแล้ว คราวนี้มาดูการล้างจมูกที่ถูกวิธีตามขั้นตอนที่คุณหมอแนะนำต่อไปนี้เลยค่ะ

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

ขั้นตอนการล้างจมูกที่ถูกวิธี

  1. อุ่นน้ำเกลือก่อนล้างจมูกเสมอ
  2. เตรียมภาชนะที่จะมารองรับน้ำที่จะไหลออกมาจากทางจมูก หรือปาก แนะนำให้ไปล้างที่บริเวณอ่างล้างหน้าในห้องน้ำ
  3. ใช้ลูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือขึ้นมา ให้ทดสอบกับบริเวณหลังมือก่อน โดยน้ำเกลือจะต้องอุ่นในระดับที่หลังมือของเราทนได้
  4. ใส่ปลายของลูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยา เข้าไปในโพรงจมูกข้างที่จะล้าง
  5. อ้าปาก หายใจเข้าเต็มที่และกลั้นหายใจ
  6. ค่อย ๆ ดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก รอจนน้ำเกลือไหลออกมาจากจมูกอีกข้างหนึ่งหรือทางปากให้หมดก่อน หลังจากนั้นจึงหายใจตามปกติ
  7. ทำซ้ำอีกข้าง

โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ล้างจมูกจนกว่าจมูกจะโล่ง และน้ำเกลือที่ไหลออกมามีความใสคล้ายกับน้ำเกลือที่ใส่เข้าไปในโพรงจมูก

อย่างไรก็ตาม ในการล้างจมูกก็มีข้อควรระวัง โดยที่พบบ่อยคือ หลายคนจะไม่อุ่นน้ำเกลือก่อนล้างจมูก ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เราควรใช้น้ำเกลือที่อุ่นในการล้างจมูก เพราะอุณหภูมิที่อุ่นจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบตัวลง ส่งผลให้หายใจได้โล่งขึ้น และในขณะที่เราดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกจะต้องกลั้นหายใจไว้ตลอดเวลา มิเช่นนั้นจะเกิดการสำลักน้ำเกลือเข้าไปในกล่องเสียงและหลอดลมได้

อุ่นน้ำเกลือ ทำอย่างไร

การอุ่นนำ้เกลือ ก็เพื่อให้น้ำเกลือมีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก การใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้ การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยต้มน้ำประปาให้เดือดในหม้อต้ม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่สามารถใส่ขวดน้ำเกลือเพื่อลงไปอุ่นได้ หลังจากนั้นปิดไฟ แล้วนำขวดน้ำเกลือที่แพทย์จ่ายให้ใส่ลงไปแช่ในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที (ขวดน้ำเกลือที่ซื้อมาจากโรงพยาบาลสามารถทนความร้อนได้) แล้วนำขวดน้ำเกลือนั้น ขึ้นมาเทใส่ภาชนะปากกว้าง เช่น ชามขนาดพอประมาณที่จะทำการล้างในเวลานั้นๆ หรืออาจเทน้ำเกลือลงในภาชนะที่สามารถอุ่นในไมโครเวฟได้ แล้วอุ่นในไมโครเวฟให้อุ่นพอประมาณ

อย่าลืม สั่งน้ำเกลือออกให้หมด

หลังจากล้างเสร็จ สามารถสั่งน้ำมูก หรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูก  และบ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอรวมทั้งเสมหะในคอออกมาได้ การล้างจมูกอย่างถูกต้องบ่อย ๆ จะไม่เกิดโทษ หรืออันตรายต่อจมูก หรือร่างกาย ในทางตรงกันข้าม จะมีประโยชน์โดยช่วยล้างน้ำมูก สิ่งสกปรกที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกออก ดังนั้น ในช่วงวันหยุด ถ้าล้างเพิ่มได้ ก็ควรจะทำ ควรล้างจมูกก่อนการอบจมูกด้วยไอน้ำเดือด หรือการพ่นยาในจมูกเสมอ แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก

เมื่อไหร่ที่ควรล้างจมูก

เมื่อมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกข้นเหนียว เริ่มมีอาการของไซนัสอักเสบ (เช่น มีเสมหะในลำคอ หรือรู้สึกมีกลิ่นเหม็นภายในจมูก) หายใจเอาฝุ่นควัน หรือสูดดมมลพิษหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไป หรือผู้ที่ต้องใช้ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก ก็สามารถล้างจมูกก่อนใช้ยาดังกล่าวได้

คำแนะนำในการล้างจมูก

หากล้างจมูกอย่างถูกวิธี และใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการล้างจมูกเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปแนะนำให้ล้างจมูกวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน หรือมากกว่านั้นกรณีที่มีอาการทางจมูก เช่น มีน้ำมูกมาก คัดจมูก หรือช่วงเวลาก่อนใช้ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก ควรเลือกสารละลายสำหรับล้างจมูกให้เหมาะสม ซึ่งแนะนำให้ใช้ น้ำเกลือปราศจากเชื้อความเข้มข้น 0.9% ของเกลือโซเดียมคลอไรด์ เนื่องจากเป็นความเข้มข้นของเกลือที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก

ผลข้างเคียง

สำหรับผลข้างเคียงในผู้ที่ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ จะมีค่อนข้างน้อย ที่อาจพบเจอบ้าง ได้แก่ แสบเยื่อบุโพรงจมูก หูอื้อ และเลือดกำเดาไหล (ซึ่งพบได้น้อย) และไม่มีการรายงานอาการข้างเคียงที่รุนแรง

อาการข้างเคียงจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก หากเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของน้ำเกลือที่เหมาะสม และต้องล้างจมูกด้วยเทคนิคและขั้นตอนที่ถูกต้อง

หากล้างจมูกอย่างไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายอื่น ๆ ได้ เช่น สำลัก หรือหากมีการสั่งน้ำมูกแรง ๆ อาจทำให้เยื่อแก้วหูบาดเจ็บ สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ล้างจมูกไม่เหมาะสม เช่น ใช้น้ำประปาล้างจมูก อาจพบเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัวในน้ำ และพัฒนาเกิดเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงได้

ล้างจมูกติดต่อกันเป็นประจำจะอันตรายหรือไม่

ถึงแม้การล้างจมูกจะมีผลข้างเคียงน้อยและพบได้ไม่บ่อยหากทำอย่างถูกวิธีและใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม แต่ข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันและความคิดเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังไม่แนะนำให้ล้างจมูกติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีการศึกษาบ่งชี้ว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือติดต่อกันทุกวันในผู้ที่มีโรคโพรงจมูกไซนัสอักเสบเป็นระยะเวลานานกว่า 12 เดือน ทำให้การเกิดโรคโพรงจมูกไซนัสอักเสบซ้ำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60

ซึ่งคาดว่าเกิดจากการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นเวลานานอาจรบกวนหรือลดระบบป้องกันทางภูมิคุ้มกันที่สะสมในน้ำมูกหรือเมือกที่ปกป้องโพรงจมูก เนื่องจากน้ำมูกในโพรงจมูกเป็นด่านแรกในการปกป้องและดักจับเชื้อโรคของระบบทางเดินหายใจ

ข้อมูลจาก : นิตยาสารชีวจิต เล่มที่ 509 / หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.