งูสวัด โรคนี้ไม่เกี่ยวกับงู แต่เพราะร่างกายอ่อนแอเป็นเหตุ
งูสวัด เป็นโรคที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงูเลยสักนิดเดียว แต่เป็นอาการทางผิวหนังที่เกิดขึ้นในแนวของเส้นประสาท ทำให้เกิดร่องรอยคล้ายงูรัด หรืองูเลื้อย แต่ความจริงแล้วต้นตอหลักๆ ของโรคดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่พักผ่อนไม่เพียงพอจนเจ้าเชื้อไวรัสมันแข็งแกร่งขึ้นค่ะ
งูสวัดเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ส่วนใหญ่แล้วเชื้อตัวนี้เข้าสู่ร่างกายเราแล้วก็จะอยู่อย่างสงบๆ รอวันที่เราภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ ด้วยสาเหตุของการพักผ่อนไม่เพียงพอ สูงอายุ อ่อนเพลีย จากนั้นมันก็จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปวดตามเส้น และปล่อยเชื้อออกมาจนกลายเป็นงูสวัดนั่นเองค่ะ
อาการของ งูสวัด
- รู้สึกปวดแสบ ปวดร้อนที่ผิวหนังอยู่ 2-3 วัน
- ขึ้นผื่นแดงตามแนวที่ปวด แล้วพัฒนากลายเป็นตุ่มน้ำใส
- อาจมีไข้ร่วมด้วย
- เมื่อตุ่มใสแตกออกจะเป็นแผล และตกสะเก็ดใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนจะหายไป
- ในบางรายอาจทิ้งอาการปวดๆ บริเวณเส้นประสาทเอาไว้ได้ด้วยเหมือนกันนะคะ
สำหรับลำดับการเกิดอาการของงูสวัดคือ อาการปวดแสบ ปวดร้อน บริเวณผิวหนังเป็นระยะ ๆ จากนั้นค่อย ๆ เริ่มมีผื่นแดง ตุ่มใส ๆ ตามแนวเส้นยาว ๆ หรือเรียกว่าตามแนวเส้นของระบบประสาท เช่น ตามแขนขา รอบเอว รอบหลัง แม้กระทั้งบริเวณศีรษะ จากนั้นตุ่มก็จะแตกและตกสะเก็ด ปวดแสบปวดร้อนกันเลยทีเดียว
จริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่น่ากลัว หากว่าเกิดขึ้นในคนวัยแข็งแรง แต่ถ้าเกิดกับผู้ใหญ๋ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้โดยทำให้มีอาการปวดไปอีกหลายปี หรือติดเชื้อที่ระบบประสาท ตาอักเสบ ได้ หรืออย่างในกลุ่มผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว ก็อาจทำให้โรคงูสวัดรุนแรง แพร่กระจายไปที่สมองหรือปอดได้ ซึ่งจะทำให้งูสวัดกลายเป็นโรคที่อันตรายต่อชีวิต แต่ก็เบาใจได้หน่อย ตรงที่พบอาการรุนแรงขนาดนี้ได้น้อยค่ะ
การรักษาอาการ งูสวัด
ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ คือ
- สำหรับคนที่ภูมิคุ้มกันปกติ ก็เพียงทานยาแก้ปวด เพราะอาการหายเองได้ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ควรพบแพทย์
- ถ้ามีแผล ก็ให้ประคบด้วยน้ำเกลือ ครั้งละ 10 นาที 3-4 ครั้งต่อวัน จะทำให้แผลแห้งได้ไวขึ้น
- ถ้ามีอาการปาก ลิ้น เปื่อย ให้กลั้วด้วยน้ำเกลือ
- ควรตัดเล็บสั้นเพื่อป้องกันการไปแกะ เกา
สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรได้รับยาต้านไวรัส ภายใน 48-72 ชั่วโมง จะช่วยลดความรุนแรงและอาการแทรกซ้อนได้
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
ในผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อลดโอกาสเกิดโรค และถ้าติดแล้วก็ลดความรุนแรง โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 1 เข็ม เพียงครั้งเดียว
สมุนไพรรักษาโรคงูสวัด
สมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคงูสวัด แบบเรียงลำดับเน้น ๆ รับรองว่าใช้แล้วหายชัวร์ ไม่ต้องทนอาการปวดแสบปวดร้อน แต่ก็ต้องดูแลสุขภาพด้วยน้า ดังนี้
- เสลดพังพอนตัวเมีย หรือพญายอ เป็นสมุนไพรที่ควรใช้อย่างมาก เพราะมีฤทธิ์สามารถฆ่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดงูสวัดได้ แถมเป็นยาเย็นช่ยลดอาการปวดแสบ ปวดร้อนได้เป็นอย่างดี
- วิธีการใช้ก็ไม่ยุ่งยากเลย เพราะมีแบบสำเร็จรูป เรียกว่า กลีเซอรีนพญายอ หรือถ้าบ้านใครมีปลูก ก็สามารถนำใบสด ๆ สักประมาณกำมือ มาโขลกหรือบดหยาบ แล้วมาพอกก็ได้เช่นกัน หรือแช่ในเหล้าก่อนมาพอกก็ได้เช่นกัน
- เสลดพังพอนตัวผู้ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน สรรพคุณมีความคล้ายคลึงกับเสลดพังพอนตัวเมีย แต่อาจจะมีฤทธิ์ที่อ่อนกว่า สามารถใช้แทนได้โดยเฉพาะพวกโรคผิวหนัง แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ได้ดีทีเดียว วิธีทำก็ทำเหมือนกับเสลดพังพอนตัวเมีย
- ปล. วิธีแยกเสลดพังพอนระหว่างตัวผู้และตัวเมียคือ ตัวผู้มีหนามแหลม แต่ตัวเมียไม่มีหนาม
- พลู สำหรับคนกินหมาก รับรองว่าต้องรู้จัก พลูเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีรสร้อน แต่ก็มีความเย็น ๆ ในตัว
- วิธีการใช้เช่นเดียวกับเสลดพังพอน แต่ถ้าเอามาเคี้ยวกินก็จะช่วยขับลมได้
- ตำลึง สมุนไพรริมรั้ว มีรสเย็น หากนำมาพอกหรือตำผสมกับเสลดพังพอน ก็จะช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องทนทรมาน ลดอาการคันได้อีกด้วย
- กระชาย มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus, Enterobacter cloacae ต้านไวรัส HIV type1 และไข้สมองอักเสบ
- วิธีรับประทาน สามารถปรุงผสมในเครื่องแกงป่า ผัดเผ็ด หรือตากแห้ง บดผงผสมน้ำผึ้งรับประทานครั้งละ 1/2 – 1 ช้อนชา วันละครั้ง ก่อนนอน หรือจะนำไปดองน้ำผึ้งประมาณหนึ่งเดือนรับประทาน วันละครั้ง หรือจะทำเครื่องดื่ม โดยใส่กระชาย 1 ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาด 1 แก้ว น้ำมะนาวครึ่งผล ถ้าชอบหวานให้ใส่น้ำผึ้งเล็กน้อย ดื่มหลังอาหาร สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง
- ระวัง ห้ามดื่มน้ำกระชายมากไป เพราะอาจทำให้รู้สึกร้อนท้องหรือร้อนในและปัสสาวะบ่อยได้
ปล. สมุนไพรอย่าง พลู ตำลึง จะช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนได้
ข้อมูล โรงพยาบาลสมิติเวช