เสี่ยงโรคหัวใจ โรคหัวใจ

พฤติกรรมอันตราย ก่อโรคหัวใจ

พฤติกรรมอันตราย ก่อโรคหัวใจ ไม่รู้ตัว

พฤติกรรมที่ชวน ก่อโรคหัวใจ เรารู้ดี ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารอุดมไขมันเลว การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย แต่นอกจากนั้นก็ยังมีพฤติกรรมที่คาดไม่ถึง ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจอีกด้วยค่ะ

นายแพทย์เจมส์ เบคเคอร์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำ Providence St. Vincent Heart Clinic Cardiology สหรัฐอเมริกา ระบุว่า มีปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจที่คนทั่วไปอาจไม่ทราบ ดังนี้

ความสะอาดในช่องปาก

หากเชื้อแบคที่เรียที่เหงือกเติบโตเข้าสู่กระแสโลหิตและเข้าสู่หัวใจจะทำให้เกิดการอักเสบ ดังนั้นขอแนะนำให้ทำความสะอาดช่องปากโดยการแปรงฟัน วันละ 2 ครั้ง และพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือนเพื่อขูดหินปูน และตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ

การทำงานกะดึก

งานวิจัยจากทีมของมหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์น ประเทศแคนาดา พบว่า คนทำงานเป็นกะ ที่มีวงจรการนอนไม่สม่ำเสมอกินเวลาต่อเนื่อง 1 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงหัวใจวายมากกว่าคนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ

ก่อโรคหัวใจ

ปัญหาการจราจร

ปัจจัยก่อความเครียดที่เกิดขึ้นขณะมีปัญหาจราจรเพียง 1 ชั่วโมง เช่น เสียงบีบแตร การขับรถอย่างเร่งรีบ และแม้แต่อากาศร้อน อาจส่งผลให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดเพิ่มสูงขึ้น และหากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นประจำมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจได้

เข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนวัย

ปกติการเข้าสู่วัยทองในผู้หญิงจะอยู่ที่ช่วงอายุ ประมาณ 45-55 ปี แต่ถ้าเข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนวัยดังกล่าว การลดระดับของฮอร์โมนอสโทรเจนจะส่งผลให้ความเสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป

อาหารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหัวใจ

สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคหัวใจนอกจากจะต้องออกกำลังกาย หมั่นตรวจสุขภาพ การทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงถือเป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้ามทั้งวิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินซี
วิตามินเอ : แครอท ฟักทอง ผักโขม บรอกโคลี ผักบุ้ง แคนตาลูป ลูกพีช มะม่วง เป็นต้น
วิตามินอี : จมูกข้าวสาลี อัลมอนด์ น้ำมันบางชนิด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน หรือน้ำมันดอกคำฝอย เป็นต้น
วิตามินซี : ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กีวี่ มะนาว มะเขือเทศ ถั่วงอก และกะหล่ำปลี เป็นต้น

กินกระเทียมช่วยลดความเสี่ยงการ ก่อโรคหัวใจ

โรคหัวใจ นับเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับระบบในร่างกายแบบเรื้อรัง การดูแลเรื่องของอาหารที่บริโภค มีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ค่ะ วันนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ รวมไปถึงความน่าสนใจของ “กระเทียม” มาฝาก

เนื่องจากในกระเทียมมีสารชื่อ “อัลลิซิน (Allicin)” ที่สามารถช่วยลดการสะสมคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจรวมไปถึงช่วยลดภาวะการแข็งตัวของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอุดตัน โดยการทานกระเทียมต้องทานแบบสด ๆ บดให้ละเอียดประมาณ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชา พร้อมกับตอนทานอาหารวันละ 3 เวลา กระเทียมไม่ควรถูกผัดหรือทอดและไม่ควรทานตอนท้องว่าง

การดูแลตนเองไปจนถึงการกินร่วมกับวิธีออกกำลังกาย และการตรวจสุขภาพจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ และเป็นวิธีการดูแลตนเองที่ดีสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ

ก่อโรคหัวใจ

FOOD TIPS อาหารเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือโรคอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง มีแนวทางปรับอาหารดังนี้

จํากัดปริมาณอาหารกลุ่มแป้งและน้ําตาล

ถ้าเป็นกลุ่มอาหารพลังงานสูง สารอาหารต่ํา ให้งดเด็ดขาดจะดีกว่า แนะนําให้เปลี่ยนไปกินแป้งที่มีโมเลกุลเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชต่างๆ และต้องคุมปริมาณอาหารโดยรวม ไม่ควรกินเกิน

กรณีที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์และลดปริมาณไขมันจากพืช

เรื่องการกินไขมัน คนก็เข้าใจผิดกันมาก ตัวอย่างเช่น น้ํามันมะกอกเป็นไขมันดี แต่ถ้าเอาไปปรุงโดยผ่านความร้อนสูงๆ ก็จะกลายเป็นไขมันไม่ดี น้ํามันที่เป็นไขมันดีและมีจุดเดือดสูงหน่อยก็มี เช่น น้ํามันเมล็ดชา น้ํามันรําข้าว

กรณีน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งช่วงหลังกําลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค แต่ถ้ากินมากไปก็ทําให้ไตรกลีเซอไรด์สูงได้ เกณฑ์ที่กรมอนามัยระบุให้กินไขมันได้เพียงวันละ 6 ช้อนชา นับว่าน้อยมาก ถ้ากินเกินก็ก่อโรคแน่นอน

หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม

-หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป / อาหารหมักดอง / อาหารแช่แข็ง เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน หมูแผ่น หมูหยอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กผง ซุปผง ผักผลไม้ดอง ไข่เค็ม

-หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำซุป / น้ำแกง เนื่องจากส่วนใหญ่มักมีส่วนประกอบของผงชูรสและเครื่องปรุง

-ลดการปรุงอาหาร

*เติมเกลือในอาหารไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

*เติมน้ำปลา ซีอิ้ว ซอสถั่วเหลือง น้ำมันหอย ไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน

*ซอสพริก  ซอสมะเขือเทศ  ไม่เกิน 1ช้อนโต๊ะ

-อ่านฉลากโภชนาการ เลือกผลิตภัณฑ์ที่โซเดียมน้อยกว่า 100 มก.

เน้นอาหารที่มีเส้นใย  (Fiber)

เลือกทานข้าว/ขนมปัง/ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เพิ่มการทานผักและผลไม้ เพราะเส้นใยจากอาหารจะช่วยลดการดูดซึมไขมัน  ทำให้ลดการสะสมหรือการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด

บริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานในแต่ละวัน

ไม่ควรบริโภคอาหารมากเกินไป ควรให้พอเหมาะกับการใช้พลังงานในแต่ละวัน จะช่วยป้องกันการเก็บพลังงานที่เกินในรูปของไขมัน อันจะทำให้เกิดโรคอ้วน ที่เป็นอันตรายทำให้เกิดโรคหัวใจตามมาได้

นอกจากการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพแล้ว การออกกำลังกาย ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ก็จะช่วยไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น

ที่มา คอลัมน์ เกร็ดสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 541/ โรงพยาบาลเพชรเวช

บทความอื่นที่น่าสนใจ
ไขความลับ! ปัจจัยที่มีผลต่อ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย (รู้เถอะ…ได้ไม่ขี้แพ้)

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน

5 วิธีหยุดปวดหลัง พร้อมท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อหลังแบบง่าย

อาหารเสริม กินมากไป อันตรายหรือไม่

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.