ทำงานบ้าน, ยืดเส้น, exercise

โรคกระเพาะอาหารและโภชนบำบัดแพทย์แผนจีน

โรคกระเพาะอาหารในทัศนะแพทย์จีนอาจเทียบได้กับอาการปวดกระเพาะอาหารซึ่งมีสาเหตุใหญ่ ๆ ด้วยกัน 4 ประการ

1. การกระทบของอากาศภายนอกบริเวณท้อง เช่น ความเย็น ความชื้นทำให้กลไกพลังติดขัด เกิดอาการปวดท้องระหว่างลิ้นปี่กับสะดือ (บริเวณกระเพาะอาหาร)

2. เกิดจากอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เมื่อรับประทานเข้าสู่กระเพาะอาหาร ความเย็นทำให้พลังไม่ไหลเวียน หรืออาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เผ็ด อาหารมัน ทำให้เกิดความร้อนชื้นในกระเพาะอาหาร การย่อยลำเลียงติดขัด ทำให้กลไกพลังไหลเวียนไม่คล่อง

3. จากภาวะทางอารมณ์แปรปรวน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอวัยวะตับ ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของอวัยวะตับและกระเพาะอาหารเป็นผลให้พลังและเลือดไหลไม่คล่อง เกิดอาการปวด

4. จากภาวะพร่องหรือระบบย่อยและดูดซึมอาหารอ่อนแอเนื่องจากความเย็นสะสมตัว หรือพลังหยาง (พลังที่ให้ความอุ่นร้อน) ของกระเพาะอาหารลดลง ทำให้การทำงานย่อยดูดซึมอาหารลดลง เกิดอาการปวดและมีเสมหะ (ของเหลวตกค้าง) ในกระเพาะอาหาร

แนวทางการรักษา ใช้หลักการไหลเวียนพลังและปรับสมดุลกระเพาะอาหารระงับการปวด

กรณีแกร่ง (ร่ายกายแข็งแรง แต่มีปัจจัยก่อโรคมากระทำ)

  • ใช้การขับปัจจัยก่อโรค เช่น ขับความเย็นจากอาหาร อากาศ หรือขับความร้อน
  • ปรับการไหลเวียนพลัง ปรับประสานอวัยวะตับกับกระเพาะอาหาร (กรณีจากความแปรปรวนของอารมณ์)

กรณีพร่อง (ร่างกายอ่อนแอ)

  • ใช้การบำรุงม้าม เสริมกระเพาะอาหารระงับปวด

โรคกระเพาะอาหารเรื้อรังจากการติดขัดของพลังนาน ๆ ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน อุดกั้น ต้องใช้การสลายเลือดอุดกั้นร่วมด้วย

นอกจากนี้บางรายอาจเกิดจากภาวะหยินพร่อง (เซลล์ร่างกายร้อน แห้ง เกิดการอักเสบ) ก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปจะเห็นได้ว่าแพทย์แผนจีนจะต้องแยกแยะประเภทการปวดกระเพาะอาหารหรือโรคกระเพาะอาหาร จึงสามารถใช้ยาหรืออาหารได้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย

ตำรับอาหารสมุนไพรอย่างง่ายสำหรับโรคกระเพาะอาหารที่พบบ่อยเนื่องจากความเย็นและภาวะพร่อง

ตำรับที่ 1 น้ำต้มหอมหัวใหญ่ ขิงสด พริกไทยขาว

น้ำต้มหอมหัวใหญ่ ขิงสด พริกไทยขาว

รักษาอาการปวดกระเพาะอาหารจากการกระทบอากาศเย็น เช่นโดนลมและความเย็นกระทบช่วงท้อง

ส่วนผสม (สำหรับ 2 แก้ว) เตรียม 10 นาที ปรุง 15 นาที

  • หอมหัวใหญ่ 3 – 5 กลีบ
  • ขิงสด 3 – 5 แผ่น
  • น้ำตาลทรายแดง 2 – 3 ช้อนชา
  • น้ำเปล่า 200 ซีซี
  • พริกไทยขาวป่นและเกลืออย่างละเล็กน้อย

วิธีทำ

ชงหอมกับขิงในน้ำร้อนหรือต้มกับน้ำจนเดือด ใส่น้ำตาลทรายแดง เกลือ และพริกไทยขาวป่นพอประมาณ พร้อมดื่ม

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 25.10 กิโลแคลอรี
โปรตีน 0.15 กรัม ไขมัน 0.05 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 6.25 กรัม ไฟเบอร์ 0.15 กรัม

สรรพคุณส่วนผสม

  • หอมหัวใหญ่และขิงสด ขับเหงื่อ
  • พริกไทยขาว อุ่นกระเพาะอาหาร ลำไส้
  • น้ำตาลทรายแดง อุ่นกระเพาะอาหาร เสริมพลังในการขับความเย็น

ตำรับที่ 2 โจ๊กกระเพาะหมู 猪肚粥

ตำรับที่ 2โจ๊กกระเพาะหมู

***ดูสูตรโจ๊กกระเพาะหมูได้ที่นี่***

หมายเหตุ

ตำรับ ที่แนะนำข้างต้นเหมาะสำหรับภาวะโรคกระเพาะอาหารที่เกิดจากความเย็นกระทบ หรือกระเพาะอาหารออกไปทางอ่อนแอและเย็น (ประคบความร้อนหรือใช้มือกด อาการจะทุเลาขึ้น ปวดแบบหน่วง ๆ ขี้หนาวง่ายคอไม่แห้ง ฝ้าบนลิ้นขาว ตัวลิ้นออกซีด) ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีกระเพาะอาหารร้อน (ปวดแสบกระเพาะอาหารคอแห้ง กระหายน้ำ ปากเหม็น คอขมขี้ร้อน ฝ้าบนลิ้นเหลือง ตัวลิ้นแดงชีพจรลื่นและเร็ว) เพราะถ้ารับประทานแล้วอาการจะรุนแรงขึ้น จึงต้องพิจารณาสภาพร่างกายให้ถูกต้องเสียก่อน

เรื่องและสูตร : แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล เรียบเรียง : สิทธิโชค ภาพ : พีระพัฒน์ สไตล์ : จารุนันท์ ภาพประกอบ : พิมฝัน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.