แพลนต์เบสด์

HOW TO เริ่มกิน แพลนต์เบสด์ เทคนิคเข้าวงการผักแบบเต็มตัว

เริ่มกิน แพลนต์เบสด์ ต้องทำอย่างไร

สำหรับผู้ที่สนใจอยากลองกินอาหาร แพลนต์เบสด์ ควรเริ่มต้นอย่างไรดี คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ แนะนำว่า คนทั่วไปสามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้ โดยใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงประมาณ 6 เดือน

มื้อเช้า มื้อใหม้หัดกิน แพลนต์เบสด์

เปลี่ยนเป็นกินผลไม้ เรียกว่า “ฟรุตโบวล์” (Fruit Bow)) สับเป็นท่อนเล็ก ๆ ปริมาณไม่อั้น เน้นให้อิ่ม ส่วนชนิดก็ไม่จำกัด ผลไม้อะไรก็ได้ รสหวานไม่หวานกินได้หมด แต่ต้องกินให้หลายชนิด แม้แต่ทุเรียนก็กินได้ โดยหลักการคือ ผลไม้ตามฤดูกาลที่หลากหลาย ถ้าเรากินผลไม้ทั้งปี เราก็จะได้ความหลากหลายทั้งชนิด สี และรสชาติ เอาให้ครบทุกประเด็น ส่วนใครจะราดโยเกิร์ตเพิ่มลงไปหรือไม่ก็ได้ ทดลองเปลี่ยนมื้อเช้าเป็นผลไม้ล้วน ๆ ให้สำเร็จ จะใช้เวลา 1-2 เดือน ก็ไม่เป็นไร ทำตามสบาย ช่วงนี้อย่าเพิ่งไปเปลี่ยนนิสัย กินขนมหวาน ยังสามารถกินได้อยู่ จากนั้นพอเปลี่ยนมื้อเช้าได้แล้ว ค่อยมาเปลี่ยนมื้อกลางวัน ซึ่งเป็นอาหารแพลนต์เบสด์แทน

มื้อกลางวัน

หลักการง่าย ๆ ของมื้อกลางวันคือ แบ่งอาหารเป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 ผลไม้ทุกรูปทรง ทุกแบบ ทุกรสชาติ สามารถกินได้หมดและกินได้ไม่อั้น พืชผักหรือ เมล็ดพืชที่มีไขมันต่ำกินได้หมด
  • กลุ่มที่ 2 พืชที่มีไขมันสูง กินได้พอประมาณ (ไม่เกี่ยวกับคนผอม) เช่น แป้งไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง งา ทุเรียน อะโวคาโด
  • กลุ่มที่ 3 กินเนื้อสัตว์ให้น้อยที่สุด หรือไม่กินได้เลย ยิ่งดี ถ้าถามว่าควรงดจากเนื้อสัตว์ชนิดไหนก่อน ก็ไล่จากความไม่ดีที่สุดของชนิดเนื้อสัตว์ชนิดนั้น ๆ ก่อน นั่นคือต้องงดเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก่อน เพราะสัมพันธ์กับสารก่อมะเร็ง ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลชัดเจน พองดชนิดนั้นได้แล้ว ก็เริ่มกินปู ปลา กุ้ง หอย เป็ด ไก่ ให้น้อยลง และเมื่อชินก็ค่อย ๆ งดไป ให้บริหารตัวเองโดย ใช้หลักแบ่งอาหารเป็น 3 กลุ่มตามที่กล่าวมานี้ พอเปลี่ยนอาหารกลางวันสำเร็จ ค่อยมา เปลี่ยนมื้อเย็นตาม ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายเดือน ก็ไม่เป็นไร

มื้อเย็น

มีเรื่องที่ต้องเปลี่ยน 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 เปลี่ยนวัตถุดิบของอาหารตามแนวคิดอาหารกลางวัน อาหารแพลนต์เบสด์

ประเด็นที่ 2 ร่นเวลามื้อเย็นให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะรูดซิปปาก (หยุดกิน) ให้เร็วขึ้น เพราะเราต้องการให้มีช่วงขาดอาหารนานอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ถ้าสามารถขาดอาหารได้ถึง 16 ชั่วโมงก็ยิ่งดี นั่นคือการทำ IF (Intermittent Fasting)

การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของมื้ออาหารทั้ง 3 มือ นี่คือการเปลี่ยนผัน ค่อย ๆ ทำไปทีละขั้น ยิ่งทำสำเร็จไป 1 ขั้นก็จะทำให้ขั้นที่ตามมามีความหนักแน่นมากขึ้น ท้ายที่สุดการเลิกขนมหวานและเครื่องดื่ม รสหวานก็ทำได้ไม่ยาก

แพลนต์เบสด์

วิธีนี้ยังสามารถนำไปเปลี่ยนรูปแบบการกินอาหารของคนทั่วไปที่สนใจอยากเริ่มกินอาหารแพลนต์เบสต์ได้ด้วย อย่าไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า โดยที่อยู่ ๆ ก็เปลี่ยนมากินอาหารแพลนต์เบสด์เลย เพราะอาหารเป็นสิ่งเสพติด หากขาดสิ่งที่ชอบไป ก็อาจลงแดงได้ ซึ่งเราจะทนไม่ได้ นั่นเป็นเหตุ ที่ทำไมจึงต้องค่อย ๆ เปลี่ยน

ส่วนใครที่กังวลเรื่องยาโรคเรื้อรัง มุ่งเน้น อยากไปลดยา เลิกกินยา จริง ๆ แล้วเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่สาระสำคัญ ขอบอกว่ายาโรคเรื้อรังทุกตัว มีตัวชี้วัดกำกับ ยาเบาหวานใช้ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นตัวชี้วัด ยาลดไขมันในเลือดก็ใช้ระดับไขมันในเลือดเป็นตัวชี้วัด และยาลดความดันโลหิตสูงก็ใช้ระดับความดันโลหิตเป็นตัวชี้วัด

ดังนั้นการเปลี่ยนอาหารขณะที่กินยาอยู่ จะค่อย ๆ ทำให้ตัวชี้วัดดีขึ้นอย่างสังเกตได้ พอทำไปเรื่อย ๆ จนตัวชี้วัดกลับมาเป็นปกติ แพทย์ผู้ดูแลก็อาจพิจารณาลดปริมาณยาลง หรือลดชนิดของยาตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีไปเอง

สิ่งที่ควรมุ่งเน้นคือการเปลี่ยนนิสัยการกินให้ได้ต่างหากที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้ได้ ทำให้สำเร็จก่อน แล้วเรื่องลดยาหรือเลิกยาจะสุกงอม และหล่นลงมาเองตามธรรมชาติ

ที่มา : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 595

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ผู้ป่วยมะเร็ง ออกกำลังกายอย่างไรดี ?

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

โปรแกรมช่วย ชะลอวัย ลดไขมันในเลือด

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.