ปวดเข่า ทำอย่างไรดี
คุณกำลังมีอาการ ปวดเข่า หรือไม่ ไม่รู้ว่าเพราะแก่ หรือปัญหาเรื่องมวลกระดูก หรืออาจจะมาจากกล้ามเนื้อ บทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดเข่าของตัวเอง เพื่อให้สามารถรับมือกับอาการนี้ได้
คำอธิบายจากแพทย์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ กล่าวว่า เรื่องของอาการปวดช่วงล่างนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันในการทำงานที่ต้องเดินหรือยืนมาก และเป็นปัญหาที่พบในทุกเพศทุกวัย โดยหลายคนอาจจะปล่อยไปเรื่อยๆจนมีอาการ”ปวดเข่า” และปล่อยต่อไปอีกเรื่อย ๆ จนรุนแรงถึงขั้นเข่าเสื่อม (OA = Osteoarthritis) และเมื่อเข่าเสื่อมรุนแรงจนเดินไม่ได้ ปวดเข่ามากจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินหรือการยืน การรักษาหรือการฟื้นฟูก็ยาก และหลังการรักษาก็อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของข้อเข่าไม่เหมือนเดิม
หลายคนอาจคิดว่าเข่าของตัวเองไม่มีปัญหา แต่ลองมองย้อนกลับไปดูซิว่าคุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเวลาเดินนาน ๆ แล้วรู้สึกเมื่อยน่องขัด ๆ ในข้อเข่า ปวดเสียวในข้อเข่าเมื่อใส่รองเท้ามีส้น ปวดเสียวในข้อเข่าด้านในหรือใต้ข้อต่อลูกสะบ้าเวลาขึ้นลงบันได หากเดินนานจะรู้สึกปวดเข่าอยู่ด้านใน เดินมากแล้วรู้สึกเหมือนเข่าบวม มีอาการปวดเสียวแปลับในบางจังหวะที่มีการเคลื่อนไหวเข่าที่ผิดจังหวะ เมื่อต้องนั่งนานในท่านั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ จะเหยียดเข่าไม่ออกและมีอาการปวดตึงมาก มีเส้นเลือดขอด ปวดบริเวณข้อพับหรือเหนือเข่า ฯลฯ
อาการต่าง ๆ เหล่านี้บางคนอาจเป็นบ่อยๆ และบางคนอาจเพียงแค่รู้สึกบ้างนานๆ ครั้ง ซึ่งทุกอาการที่กล่าวมาถือเป็นเสียงเตือนของร่างกายให้ทราบว่ากำลังมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย
ของคุณเอง และอาจไม่ใช่แค่บริเวณหัวเข่า แต่อาจจะเป็นผลพวงจากส่วนอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงหรือมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยสัญญาณเตือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อย่างน้อยก็ให้รู้เท่าทันว่ามีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง จะได้รับมือทัน
รักษาอาการปวดข้อปวดเข่าเบื้องต้น
ต้องเริ่มจากการหาสาเหตุก่อน
- หากเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดเอ็นไขว้เอ็นพลิก อาจใช้การประคบร่วมกับการกินยาแก้ปวดและการทำกายภาพเข้าช่วย อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้
- หากเกิดจากโรค เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ ต้องกินยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับโรค เช่น การเลือกกินอาหารที่ถูกต้อง อย่างเกาต์ไม่ควรกินสัตว์ปีก เป็นต้น แม้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่ก็ช่วยกดอาการแสดงของโรคให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
- หากเกี่ยวกับความเสื่อมของข้อต่างๆ อาจจะเริ่มด้วยการกินยาร่วมกับการทำกายภาพ และเว้นการใช้งานหนักในส่วนข้อนั้น หากไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรง ต้องทำการผ่าตัดเพื่อใส่ข้อเทียมและทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง
การป้องกันและดูแลตัวเอง
- คุมน้ำหนักตัวให้เหมาะกับอายุและอาชีพ
- อายุยิ่งมาก กระดูกก็ยิ่งบาง ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็น ผู้สูงอายุไม่ควรขึ้นลงบันได
ㆍ นอนเตียงแทนการนอนพื้น เพื่อไม่ต้องงอเข่ามาก
ㆍ นั่งเก้าอี้ที่สูงพอให้เข่าตั้งฉาก เท้าถึงพื้น (ไม่ควรนั่งโซฟานิ่มๆ) ไม่นั่งกับพื้นนานๆ - หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ
- การเดินขึ้นลงบันได ให้ก้าวขาดีขึ้นก่อน แล้วตามด้วยขาเจ็บ และตอนลงให้ก้าวขาเจ็บลง แล้วตามด้วยขาดี (บนบันไดขั้นเดียวกัน) ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น (ยังไม่ยุบบวมหรือยังเจ็บอยู่)
ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคและรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป ถ้าทิ้งไว้นานๆ กระดูกจะสึกหรอมากขึ้น เข่าค้อม (โก่งออกด้านข้าง) ทำให้ขาสั้นเดินกะเผลกมากขึ้นและปวดหลังได้ อาจถึงขั้นหรือใส่ข้อเข่าเทียม เมื่อทุเลาปวดหรือยุบบวมให้เริ่มบริหารเข่า
ถ้าเดินแล้วมีอาการเจ็บหรือเสียดมาก
- ให้ใส่ปลอกเข่าหรือผ้าพันพยุงเข่าไว้ และควรถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับเข่าข้างที่เจ็บ เพื่อแบ่งน้ำหนักตัวไปลงที่ไม้เท้า ช่วยลดน้ำหนักที่จะลงเข่า
- ใช้ความร้อนประคบ ทายา นอนพัก ใช้หมอนรองใต้เข่าเพื่อให้ช่องว่างในเข่าเผยอออก เยื่อบุเข่าจะไม่ถูกบีบมาก การอักเสบก็จะดีขึ้นการนอน ควรใช้หมอนรองเข่า ถ้าพลิกตัวแล้วมีอาการปวดมากขึ้ใช้ผ้าพันเช่าเพื่อช่วยพยุงไว้ ไม่ควรพันให้เน่นเกินไป พระอาจทำให้ข้อเท้าบวมได้
(ที่มา : คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 538)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
น้ำมันกัญชา ไม่ใช่พาเมา แต่มีสารพัดประโยชน์ ช่วยรักษาโรคและอาการ