ผื่นคัน

สังเกต ผื่นคัน แบบไหน ต้องรีบพบหมอ

ผื่นคัน แบบนี้ ปล่อยไว้ไม่ได้ ไปหาหมอด่วน!

ผื่นคัน เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเป็นไม่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อย เพราะดูเหมือนเป็นอาการคลาสสิกที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ แถมยังเป็นอาการที่หลายคนเป็นแล้วก็ละเลย แต่รู้ไหมว่าผื่นคันบางอย่างก็ควรต้องไปหาหมอนะคะ

อาการ ผื่นคัน เป็นอาการภูมิแพ้ที่เกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยอาจขึ้นคันเป็นบริเวณเล็กๆ หรือคันคะเยอไปทั่วร่างกายก็ได้ และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น ผิวแตก เป็นขุย ขึ้นผื่นนูน หรือเป็นตุ่ม เป็นแผลพุพอง ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเป็นกันมากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยมลภาวะ และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ง่าย และที่พบได้บ่อยสุดคือ การเป็นเรื้อรังในเด็ก

ผลจากผื่นคันสิ่งที่ตามมาก็คือก็อาการเกา บางรายอาจจะเกาจนเลือดซิบ หรือเกาจนเป็นแผล (แอดก็คนนึง เกาจนเป็นแผล ขาด่างไปหมดแล้ว) ซึ่งการเกาจนผิวหนังระคายเคืองแบบนี้ไม่เพียงทำให้เป็นแผล แต่ร้ายแรงจนอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

สาเหตุของ ผื่นคัน

การเกิดผื่นคันเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยสุขภาพของร่างกาย และจากปัจจัยภายนอกร่างกาย สำหรับปัจจัยสุขภาพของร่างกายเราเองนั้น เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุเลยล่ะค่ะ คือ

  • โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่จากการวิจัยคาดว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านกรรมพันธุ์ และสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็น ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแคสัตว์ ละอองเกสร อาหาร เป็นต้น
  • โรคทางระบบประสาท เช่นเบาหวาน งูสวัด เส้นประสาทอักเสบ
  • โรคบางชนิด เช่น ตับอักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ ไตวายเรื้อรัง
  • โรคทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ กลาก เกลื้อน สะเก็ดเงิน อีสุกอีใส
  • การตั้งครรภ์ มักเกิดบริเวณหน้าท้องและต้นขา ในกรณีที่มีอาการทางผิวหนังอยู่แล้ว การตั้งครรภ์จะทำให้การเป็นผื่นคันหนักขึ้น

สำหรับปัจจัยที่มาจากภายนอกร่างก็มีได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากธรรมชาติ และการแพ้สารเคมีต่างๆ เช่น แพ้แมลงสัตว์ กัดต่อ แพ้ยาบางชนิดโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ  ยากันชัก ยาแก้ปวดบางชนิด รวมไปถึงสารเคมีในชีวิตประจำวันเช่น สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก เป็นต้น

อาการ ผื่นคัน

อาการผื่นคันซึ่งมีสาเหตุมาจากการอักเสบของผิวหนัง เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นการใช้ยาบรรเทาอาการรวมถึงป้องกันการลุกลามไปยังบริเวณอื่นๆ นอกจากนั้นแล้วอาการผื่นคันยังเกิดขึ้นอย่างแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยด้วย

  • ทารก มักเกิดผื่นที่แก้ว ด้านหลังแขนขา ลักษณะผื่นแห้ง เป็นขุย ตุ่มน้ำ หรือมีน้ำไหล
  • วัยเด็ก ลักษณะผื่นคล้ายวัยทารก แต่ถ้าเป็นมานานผื่นจะเริ่มปื้นหนา โดยเฉพาะที่คอ ข้อพับแขน ขา และด้านหลัง
  • วัยผู้ใหญ่ ผื่นคล้ายวัยเด็ก แต่หนาขึ้นหากเป็นบางนาน แต่มักขึ้นทั้งตัว

ผื่นนี้ต้องหาหมอ!

แม้ผื่นจะเป็นอาการที่เกิดได้ทุกช่วงวัย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ผื่นบางประการก็ละเลยไม่ได้ ต้องไปหาหมอ ซึ่งผื่นที่มีอันตราย หากเป็นแล้วควรไปพบแพทย์คือ

  • คันยุบยิบตามตัว แบบไม่ทราบสาเหตุ แต่ไม่ขึ้นผื่น
  • คันต่อเนื่องยาวนานแบบไม่ดีขึ้นเลย ประมาณ 2 สัปดาห์
  • คันมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
  • มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด

ปัจจัยต้องเลี่ยง

สำหรับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการผื่นคัน และควรต้องเลี่ยงคือ

  • สารเคมีบางชนิด อาจต้องสังเกตว่าแพ้สารตัวใด
  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละออกเกสร ขนสัตว์ หรืออาหารบางชนิด
  • อากาศที่ร้อนหรือเย็นจนเกิดไป ทำให้ผิวแห้ง หรือเหงื่อออก ซึ่งอาจกัดทำให้เกิดอาการผื่นคันได้
  • การอาบน้ำร้อน ทำให้ผิวแห้ง
  • ความเครียด วิตกกังวล
  • การติดเชื้อบางอย่าง เช่นเชื้องูสวัด

คันต้องทำยังไง

ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าคันแล้วห้ามเกา เพราะยิ่งเกา ยิ่งคัน ยิ่งทำให้เกิดแผล แต่ก็ห้ามใจไม่ให้เกาได้ยากเหลือเกิน ดังนั้นแล้วก็จะมีวิธีเยียวยาอาการคันมาฝากกัน คือ

  • ลูบ กด หรือตบลงไปบริเวณที่คัน แทนการเกา
  • ประคบเย็น
  • ทายาลดอาการคัน
  • ทาโลชั่น ให้ความชุ่มชื้นกับผิวบริเวณที่คัน

การเลือกใช้ยา

ในการเลือกใช้ยานั้น มียาแก้ผื่นคันหลากหลายแบบ ทั้งนี้เป็นไปตามสาเหตุของการผื่นคัน ซึ่งหลักๆ แล้วคือ

ผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวหนังนุ่มและชุ่มชื้น (emollients หรือ moisturizing preparations)  เป็นยาที่จะช่วยให้ผิวเพิ่มความต้านทานต่อสิ่งระคายเคือง ทำให้คันลดน้อยลง ช่วยลดอาการคันในกลุ่มผู้ที่มีผิวแห้งมาก เช่นผู้สูงอายุ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงต่ำ
เหมาะสำหรับ คันจากผิวแห้ง อากาศแห้ง หรือคันเรื้อรังทั่วไป

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทำให้ผิวเย็น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนของผสมของการบูร 0.5% เมนทอล 1-3% เป็นยาที่นิยมใช้ทาถู เมื่อทาแล้วผิวจะรู้สึกเย็น ทำให้อาการคันลดลง ผลข้างเคียงคือ อาจให้ผิวแดงในบางราย
เหมาะสำหรับ คันจากแมลงสัตว์กัดต่อย คันจากอาการบาดเจ็บของระบบประสาท

ยาต้านฮีสตามีน เป็นยาแก้ผื่นคันยอดนิยม ที่มักเรียกกันว่า ยาแก้แพ้ นั้นเอง เป็นยาที่มีทั้งแบบทา ซึ่งให้ประสิทธิภาพน้อยกว่าแบบกินที่ก็มี 2รุ่นคือ รุ่นหนึ่งที่กินแล้วง่วง กับรุ่นที่ 2 ที่กินแล้วไม่ง่วง (แต่หากกินในปริมาณมากก็ทำให้ง่วงเช่นเดียวกัน) โดยผลข้างเคียงของแบบทาคืออาจทำให้ผิวแดงจากสัมผัสของยา ส่วนผลข้างเคียงของแบบกินรุ่นที่ 1 คือ กินแล้วง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ปัสสาวะคลั่ง และอาจทำให้ผู้สูงอายุความจำเสื่อม ส่วนผลข้างเคียงของรุ่นที่ 2 จะน้อยกว่ารุ่นที่ 1 หรือแทบไม่มีเลย
เหมาะสำหรับ คันจากแมลงกัดต่อย คันตอนกลางคืน คันจากภูมิแพ้

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก (topical corticosteroids) ยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่นิยมใช้กันมาก แต่ก็ให้ผลข้างเคียงมากเช่นเดียวกัน จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังฟ่อ บางลง สีผิวซีดจาง หากดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียต่อระบบร่างกายได้หลายอย่าง
เหมาะสำหรับ อาการคันที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น, โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ยายับยั้งแคลซินิวริน (calcineurin inhibitors) เป็นยากดภูมิคุ้มกันซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ มีผลต่อประสาทส่วนที่รับรู้ความรู้สึกของสารกระตุ้นการคัน อาจทำให้เกิดแสบร้อนที่ผิวหนัง
เหมาะสำหรับ คันจากโรคผื่นภูมิแพ้, โรคตุ่มคันเรื้อรัง (prurigo nodularis), คันที่มีเหตุจากการบาดเจ็บของประสาท, คันจากโรคไตเรื้อรัง, คันจากน้ำดีคั่ง

ยาชาเฉพาะที่ เป็นการทำให้ชาเฉพาะส่วนที่คัน และอาจทำให้ผิวหนังส่วนที่ทาความรู้สึกลดลง
เหมาะสำหรับ คันจากโรคไตเรื้อรัง, คันโดยไม่ทราบสาเหตุ

ยาต้านซึมเศร้า เป็นยากินที่ออกฤทธิ์ต้านฮีสตามีน การออกฤทธิ์ลดอาการคันยังไม่ทราบชัดเจน คาดว่าเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทซีโรโทนินที่ระบบประสาทส่วนกลาง (อาจรวมทั้งระบบประสาทส่วนปลายด้วย) ผลข้างเคียงคืออาจทำให้ง่วงปากแห้ง คอแห้ง เวียนหัว
เหมาะสำหรับ คันที่มีเหตุจากการบาดเจ็บของประสาท, คันจากลมพิษเรื้อรัง, คันจากน้ำดีคั่ง, คันที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง, คันที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า, คันจากโรคผื่นภูมิแพ้, คันตอนนอนกลางคืน

ยาต้านชัก (anticonvulsants) การออกฤทธิ์ลดอาการคันยังไม่ทราบชัดเจน อาจออกฤทธิ์ลดการรับรู้ของการกระตุ้นอาการคันที่ประสาทส่วนปลายและประสาทส่วนกลาง ในส่วนของผลข้างเคียงคือ ง่วง เดินเซ ขาบวม
เหมาะสำหรับ คันจากโรคตุ่มคันเรื้อรัง, คันที่มีเหตุจากการบาดเจ็บของประสาท, คันจากโรคไตเรื้อรัง, คันเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุแต่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน

การป้องกัน

  1. เมื่อถึงที่พักให้รีบอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อชำระล้างฝุ่น เหงื่อ และสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ
  2. ใช้สบู่อ่อนๆ ไม่มีน้ำหอม เลือกที่ปราศจากสาร Preservative
  3. ทาโลชั่นอาบน้ำ เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น เลือกที่ไม่มีน้ำหอม หรือสารเคมี หรือที่มีกรดผลไม้ เพราะอาจยิ่งทำให้ระคายเคือง
  4. ไม่ซื้อยาแก้แพ้กินเองโดยเด็ดขาด
  5. เลี่ยงการอาบน้ำอุ่น
  6. ตัดเล็บให้สั้น ปิดแผลด้วยผ้าพันแผล
  7. เลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ
  8. ผ่อนคลายความเครียด
  9. ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นภายในบ้าน

ที่มาข้อมูล

  • คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โรงพยาบาลนครธน
  • โรงพยาบาลสมิติเวช
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คันหูแต่แคะไม่ได้ ต้องทำอย่างไร
ผื่นจากแพ้ยา อาการสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.