วิธีการฝึกสมอง
ขออนุญาตเล่าเรื่องสมองบ่อยหน่อยนะคะ เพราะเรากำลังอินกับเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลที่ หนึ่ง เรื่องสมองเป็นศาสตร์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา ในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ด้วยการโปรแกรมการทำงานของสมองใหม่ ซึ่งให้ผลดีกว่ายารักษาโรคจิตเวชที่มีอยู่ในปัจจุบันมากนัก
และ สอง เราพบว่า ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อคสู่ดิจิทัลนั้น สร้างความวุ่นวายใจและความเครียดต่อผู้คนมหาศาล ซึ่งถ้าปล่อยไว้ หลายรายก็ป่วยใจ…แล้วก็พานไปป่วยกายด้วยโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเครียด เช่น มะเร็ง
ถามว่าทำไมต้องฝึกสมอง เพราะขณะที่เราเครียด ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กังวล โกรธมากเกินไป รักมากเกินไป จมปลักอยู่กับความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป สมองส่วนลิมปิก หรือสมองส่วนอารมณ์กำลังทำงานอยู่ ซึ่งอาจจะมากเกินไป โดยเฉพาะในกรณีที่หยุดภาวะอารมณ์ลบดังกล่าวไม่ได้ วิธีแก้ง่ายๆ คือลดการทำงานของสมองส่วนลิมปิก ด้วยการเพิ่มการทำงานของสมองส่วนคอร์เท็ค หรือสมองส่วนข้อมูล เหตุผล และการวางแผน
วิธีทำให้สมองส่วนคอร์เท็คทำงานเพิ่มขึ้น นอกจากการกินอาหารสุขภาพ น้ำมันปลา (200-2000 มิลลิกรัม) การออกกำลังกาย และการทำสมาธิช่วยได้แล้ว วิธีการหนึ่งซึ่งเราเรียนมาด้วยตนเอง และอ่านหนังสือเรื่อง Change Your Brain, Change Your Life ของคุณหมอเดเนียล จี เอเมนคือ การวางแผน
คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป
เราเรียนมาจากวิชา EPP ซึ่งเป็นคอร์สอบรมการบริหารจัดการงานและชีวิตส่วนตัว ด้วยการสร้างเป้าหมายใหญ่ แล้วมองหาวิธีการย่อยๆ รายวัน และเรายังใช้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยทำตาราง 30 วัน แล้วลงรายละเอียดการกระทำแต่ละวัน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเดือนนั้นๆ เช่น อยากให้สมองส่วนคอร์เทคทำงานเพิ่มขึ้น ก็สร้างเป้าหมายรายวันว่าจะออกกำลังกายวันละ 20 นาที จะนั่งสมาธิวันละ 10 นาที แล้วใส่เครื่องหมายถูกในวันที่เราทำ เพื่อเว้นว่างในวันที่เราไม่ทำ
ถ้าครบ 30 วันแล้ว พบส่วนที่เว้นว่างไว้มากกว่า ส่วนที่ใส่เครื่องหมายถูก เกิน 40% เดือนหน้าก็ต้องทำเหมือนเดิม แล้วบอกตนเองให้มีวินัยกว่านี้
ส่วนของคุณหมอเดเนียล ให้ตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ ของ 4 เรื่องสำคัญในชีวิต 1. ความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่น คู่รัก ลูก พ่อแม่ เพื่อน 2. การงาน 3.การเงิน ทั้งรายรับรายจ่ายระยะสั้น และรายรับรายจ่ายระยะยาว 4. ตัวเอง เช่น ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ
จากนั้นก็ใส่ความตั้งใจของตนเองในเรื่องต่างๆลงไป แล้วถ่ายเอกสารไปแปะติดไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย เช่น หน้ากระจกห้องน้ำ โคมไฟในห้องนอน โต๊ะทำงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตือนตนเอง และสร้างพลังความตั้งใจ (will power) ในการเบนชีวิตให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยไม่ยอมเป็นทาสของความฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ กังวล หวาดกลัว คิดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ฯลฯ จนชีวิตไปไม่ถึงไหนเสียที
(และการที่ชีวิตไปไม่ถึงไหนเสียทีนี่แหละ ที่ทำให้หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า เครียดเรื้อรัง และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นไบโพล่า หรือจิตเภท บางรายอาจกระทบสุขภาพกาย กลายเป็นมะเร็งหลายอย่าง)
กระซิบบอกแฟนเพจนิสสค่ะ การที่ตัวบ.ก.เองสร้างเป้าหมายเล็กๆ แล้วทำสำเร็จ เราจะเกิดความภาคภูมิใจ และความฮึกเหิม ถ้าทำเรื่องเล็กๆ สำเร็จได้ ก็น่าจะทำเรื่องใหญ่ให้สำเร็จได้ด้วยเช่นกัน