วิธีเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ
เคล็ดลับ วิธีเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ หรือการกินอาหารเพื่อว่าจะได้เลือกอาหารที่ดีหรือละเว้นไม่ไปแตะต้องอาหารที่ไม่ดีได้ทำไมถึงเรียกว่า “เคล็ดลับ” ขออนุญาตเปรียบเทียบเรื่องอาหารว่าเหมือนกับน้ำมันรถยนต์
น้ำมันหรืออาหารของรถยนต์ คือ น้ำมันเบนซิน มาสมัยนี้ประหยัดน้ำมันเราคิดค้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ขึ้นมาได้ แก๊สโซฮอล์ก็มีหลายเกรด ดีพอใช้ได้คือแก๊สโซฮอล์ 91 อยากให้เกรดดีขึ้นมาอีกก็เป็นแก๊สโซฮอล์ 95 ดีกว่าแรงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 หลายเท่า
อาหารของรถคือแก๊สโซฮอล์ก็ยังมีหลายเกรด อาหารของคนก็มีหลายเกรดแม้จะเป็นอาหารอย่างเดียวกัน
คราวนี้มาถึงคำอีกคำหนึ่ง ซึ่งต้องขออภัยล่วงหน้า เพราะเป็นภาษาวิชาการและเป็นภาษาต่างประเทศเสียด้วย
คำคำนั้นคือ METABOLISM (อ่านว่าเมแทบอลิซึม) หมายถึง การกินอาหาร
เมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้ว มันจะต้องย่อย ย่อยแล้วจึงมาแปลงตัวเป็นส่วนต่างๆ ของร่างกาย
มีใครลองคำนวณดูบ้างว่า ในแต่ละวันที่เราบริโภคอาหารเข้าไปนั้น มีสัดส่วนอาหารที่ดี กินแล้วเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอาหารที่มีประโยชน์และมีโทษในคราวเดียวกัน ไม่ต้องชั่งตวงวัดกันอย่างจริงจัง แต่เป็นการประเมินคร่าวๆ เพื่อเราจะได้ทำนายอนาคตสุขภาพได้แม่นยำ แปลงตัวเสร็จแล้ว เหลือเป็นกากอาหาร ก็ต้องขับถ่ายออกมา
“กรรมวิธีหรือวงจรรวม”
คือ กิน - ย่อย - แปลงตัว - ขับถ่ายกาก เหล่านี้จะเขียนได้เป็นวงกลม และวงกลมนี้เรียกกันว่า METABOLISM ผมกำลังนึกถึงศัพท์ภาษาไทยที่เหมาะๆ อยู่ ยังนึกไม่ออก ขอเรียกว่า “วงจรรวม” ไปพลางๆ
วงจรรวมนี้แหละครับคือเคล็ดลับ โดยเฉพาะตอนหรือภาคส่วนที่เรียกว่า “แปลงตัวเป็นส่วนต่างๆ ของร่างกาย” นั้น ถ้าตอนกินเข้าไป อาหารของคุณเป็นอาหารเกรดดี ภาคส่วนต่างๆ ของร่างกายก็จะเป็นภาคส่วนเกรดดี วิเศษยิ่งขึ้น
สำหรับอาหารชีวจิตหนึ่งมื้อแบ่งออกเป็นข้าว – ผัก – โปรตีนและเบ็ดเตล็ด
ทั้งสี่กลุ่มนี้ถ้าเป็นอาหารเกรดธรรมดาๆ ภาคส่วนที่แปลงตัวมาเป็นร่างกายก็จะเป็นภาคส่วนธรรมดาๆ
แต่ถ้าเรามีเคล็ดลับ เลือกเฟ้นอาหารแต่ละกลุ่มเอาเฉพาะเกรดดีๆ ส่วนต่างๆ ของร่างกายเราก็จะดี แข็งแรงสมบูรณ์ตามไปด้วย
ต่อไปขออนุญาตชักชวนลองมาทำอาหารกินกันเอง โดยมีหลักการง่ายๆ ว่า 1. สารอาหารของอาหารแต่ละกลุ่มต้องอยู่ในกลุ่มเกรดเอ 2. รสชาติต้องอร่อย
ต่อไปนี้เป็นอาหารหนึ่งมื้อ
-
ข้าว
แน่นอนต้องเป็นข้าวไม่ขัดขาว ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือก็ได้ ข้าวแดงก็ได้ หรือใครโชคดีอย่างผม จะกินข้าวดอยของชาวเขาแทนข้าวกล้องก็ได้ ถ้าชอบขนมปังแทนข้าวก็ขอให้เป็นขนมปังโฮลวีต
ถ้าใครอยากจะให้อาหารกลุ่มแป้งมีรสชาติขึ้น ให้เอาอาหารกลุ่มที่เป็นทั้งแป้งแถมยังมีโปรตีนปนอยู่ด้วยมารวมกับอาหารประเภทแป้งก็ได้ ที่รวมกันได้คือ ฟักทอง มันเทศ มันไข่ มันเลือด เดี๋ยวนี้มีพันธุ์มันแปลกๆ อร่อยมาก (มันฝรั่งมีแป้งแต่ไม่มีโปรตีน)
-
ผัก
ชนิดคุณค่านำหน้าผักอื่นๆ เช่น ผักโขม (พันธุ์ของฝรั่งและของจีนใบนิ่มอร่อย แต่พันธุ์ไทยใบและต้นค่อนข้างหยาบแข็ง แถมต้นยังมีหนามด้วย แต่มีใยอาหารดีมาก) รองลงไปได้แก่ บรอกโคลี คะน้า ผักไต้หวัน (บางคนเรียกผักฮ่องเต้) คะน้าฮ่องกง (ต้นสั้นๆ เตี้ยๆ เขียวจัด เนื้อหวานกว่าคะน้าธรรมดา)
ผักเหล่านี้ใบเขียวจัด มีวิตามินบี 6 มากที่สุด นอกจากนั้นยังมีวิตามินอี กรดโฟลิก (ช่วยบำรุงเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงดี เพราะไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเลือดได้ดี)
นอกจากนั้นยังมีแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมแร่ธาตุสำคัญของร่างกายด้วย สำหรับแคลเซียมนั้นหลายคนแม้แต่แพทย์บางคนแนะนำว่า ถ้ามีปัญหาเรื่องกระดูกต้องกินแคลเซียมมากๆ
กินแคลเซียมอย่างเดียวไม่พอครับ แคลเซียมจะไม่เข้าไปบำรุงกระดูกตามที่เราต้องการ ตามหลักวิชาออร์โธโมเลกุลาร์ (ORTHOMOLECULAR) คือชีวเคมีของวิตามิน ต้องกินแคลเซียมคู่กับแมกนีเซียมจึงจะได้ผลต่อกระดูกและข้อต่อ
ผักที่แนะนำคราวนี้มีทั้งแคลเซียมและแมกนีเซียมอยู่ในตัวกินผักแบบนี้จึงเท่ากับได้ทั้งแคลเซียมและแมกนีเซียมพร้อมๆ กันแต่ระวังอย่าให้เว่อร์ อยากให้กระดูกแข็งแรงเร็วๆ เลยกินผักอย่างที่แนะนำนี้มื้อละ 2 - 3 ตะกร้า ไม่ได้ครับ ไม่ได้ กินอย่างนั้นมีหวังจุก (ทั้งท้องและอก) ตาย
-
โปรตีน
ใช้ทั้งโปรตีนจากพืชและเนื้อสัตว์ร่วมกันจากพืชขอแนะนำถั่วเหลืองและถั่วดำ (ชนิดมีตาขาวๆ ตรงกลางเม็ดถั่ว) พร้อมทั้งแนะนำเต้าหู้ด้วย
ในขณะเดียวกันก็แนะนำโปรตีนจากปลาพร้อมกันไปด้วยใช้ปลาทูน่าและปลาแซลมอนกระป๋องก็พอเชื่อถือได้
โปรตีนจากพืชคือถั่วนั้น จะได้วิตามินบี 6 กรดโฟลิก แคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม เต้าหู้นั้นไม่มี วิตามินบี 6 แต่มีสารอื่นๆ เหมือนกับพวกถั่ว
ปลาทูน่าและแซลมอนมีวิตามินบี 6 บี 12 มาก แถมยังมีวิตามินอีชนิดดีด้วย มีแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมในปริมาณที่เหมาะกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
-
เบ็ดเตล็ด
สาหร่ายทะเลเอาไปทำแกงหรือผัดก็ได้ ผลไม้ไม่หวานลองมะละกอ แตงโม สับปะรดแถมด้วยพุทราลูกใหญ่ๆ และกรอบๆ สัก 2 - 3 ลูก และอย่าลืมตามด้วยเมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน กินเล่นๆ สักอย่างละ 2 กำมือ และควรแถมจมูกข้าวลงไปสัก 1 - 2 ช้อนชา ทั้งหมดนี้
เมื่อได้เนื้ออาหารมาแล้ว คุณต้องจัดสัดส่วนให้พอดีด้วย
ถ้าคุณรูปร่างปานกลาง พอดีๆ กำลังสวย ก็ใช้สูตรอาหารสูตร 1 คือ ข้าว 50 เปอร์เซ็นต์ ผัก 25 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน (ทั้งพืชและปลา) 15 เปอร์เซ็นต์ และเบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์
เปอร์เซ็นต์เหล่านี้หมายถึง สัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ของอาหาร 1 มื้อ (1 มื้อก็เท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์)
ถ้าตุ้ยนุ้ยหน่อยคือน้ำหนักมาก ก็ใช้สูตร 2 คือ ข้าว 30 เปอร์เซ็นต์ ผัก 35 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 25 เปอร์เซ็นต์ และเบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์
ลองสังเกตดูนะครับ อาหารแต่ละมื้ออย่างที่แนะนำเป็นอาหารเกรดเอของแต่ละกลุ่ม อย่างเช่น ผัก แนะนำผักโขมและบรอกโคลี ถือว่าเป็นผักเกรดเอ
ถ้าสารอาหารทุกอย่างเกรดเอ เวลามีมันแปลงตัวมาเป็นส่วนต่างๆ ของร่างกายเรา แน่นอนร่างกายก็เกรดเอตามไปด้วย
แล้วเรื่องอาหารต้องอร่อยล่ะจะว่าอย่างไร อ้าว ต้องฝีมือของคุณเองละสิครับ รู้ไหม เคล็ดลับนิดเดียวทำอะไรอร่อย
เคล็ดลับนั้นคือ คุณต้องรักอาหาร ต้องรู้ว่าอาหารนั้นต้องมาเป็นเลือดเป็นเนื้อของคุณเอง รักตัวเอง ต้องทำให้อร่อยสำหรับตัวเองสิครับ
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 339