“การนวด” ถือเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่งจากความเหนื่อยล้าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน บางคนอาจต้องการนวดเพื่อคลายความปวดเมื่อย หรือบางคนอาจนวดเพื่อผ่อนคลายความเครียด
นวดศีรษะตำรับอินเดีย
การนวดศีรษะแบบอินเดียนั้นเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของสตรีชาวภารตที่ใช้บำรุงรักษาเส้นผมให้มีสุขภาพดี กลิ่นหอม และเป็นเงางาม
คุณสุวรรณา รัตนเสถียร หรือ คุณเล็ก ผู้เชี่ยวชาญการนวดศีรษะแบบอินเดีย เล่าว่า
“นวดศีรษะแบบอินเดียจะเน้นการนวดศีรษะ บ่า ต้นแขน หลังตอนบน ใบหน้า เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นจุดที่คนสมัยใหม่ใช้มากโดยเฉพาะคนทำงาน จึงมีการสะสมความเครียดไว้ค่อนข้างสูง สังเกตได้จากมีอาการเมื่อยหลัง ไหล่ บ่า เมื่อยกล้ามเนื้อตา กระบอกตา
“การนวดจะสัมพันธ์กับจักระ 3 แห่ง (จาก 7 แห่งทั่วร่างกาย) คือจักระที่ 5 ที่อยู่บริเวณคอ ซึ่งเกี่ยวกับการสื่อสาร การพูด การทำงานของหัวใจ ทรวงอก ปอด จักระที่ 6 ที่อยู่บริเวณหว่างคิ้ว ซึ่งเกี่ยวกับความคิด สมอง และจักระที่ 7 ที่กระหม่อม ซึ่งส่งผลต่อสมาธิและสัญชาตญาณ”
คุณเล็กเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมถึงอาการสำคัญๆ ที่การนวดศีรษะแบบอินเดียสามารถบรรเทาได้
“การนวดศีรษะแบบอินเดียนี้ยังช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้มากมายเช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน หูอื้อ นอนไม่หลับ และการนวดใบหน้ายังช่วยแก้ปัญหาปวดและคัดจมูกจากการคั่งของของเหลวในโพรงไซนัสได้ด้วย”
“ชิอาซึ” ศาสตร์การนวดญี่ปุ่น
เมื่อเอ่ยถึงการนวดแบบญี่ปุ่น อาจนึกภาพกันไม่ออก เราจึงอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักค่ะ
ชิอาซึ หรือ Shiatsu ริเริ่มโดยอาจารย์นามิโกชิ (Namikoshi) ในราวปีค.ศ. 1900 มาจากคำว่า shi มีความหมายว่า นิ้วมือ (finger) และคำว่า atsu มีความหมายว่า กด pressure) โดยมีความหมายรวมกันว่า การกดจุดแบบญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการกดตามตำแหน่งจุดต่างๆ โดยการใช้นิ้วและฝ่ามือกดหรือนวด โดยไม่ใช้เครื่องมืออย่างอื่น
การนวดชิอาซึมีหลักการสำคัญคือคลายจุดที่แกร่งและเติมพลังให้จุดที่พร่อง ช่วยทำให้พลังชีวิตหรือชี่ในภาษาจีน [ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า กิ (Ki) เคลื่อนที่ให้เป็นปกติ โดยเชื่อว่าความผิดปกติของร่างกายเกิดจากการไหลเวียนของกิไม่สมดุล การนวดชิอาซึจึงเป็นการปรับให้การไหลเวียนของพลังกิเป็นไปอย่างสมดุล
ประโยชน์ของชิอาซึ
- ช่วยลดความเครียดและภาวะอ่อนเพลีย เมื่อนวดแล้วจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จึงเหมาะกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพฤกษ์ เพราะมีรายงานการวิจัยพบว่า ช่วยให้ผู้สูงอายุหลับลึกและไม่ตื่นกลางดึก
- ช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดดีขึ้นและกล้ามเนื้อผ่อนคลาย จึงสามารถป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ดี
ข้อควรระวังและข้อแนะนำ
- ผู้นวดควรตรวจเช็คร่างกายและแจ้งอาการก่อนรับการนวด เพราะการนวดแบบนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยหลายโรคอาทิ โรคติดต่อทางผิวหนัง โรคติดเชื้อ มีไข้สูง โรคระบบเลือด (เลือดออกง่าย และเส้นเลือดขอด) และผู้ป่วยมะเร็ง แต่สำหรับผู้หญิงที่มีรอบเดือนสามารถนวดเพื่อลดอาการอ่อนเพลียและปวดเมื่อยร่างกายได้
- ไม่ควรนวดในเวลาที่หิวมาก หลังอาหารทันที หรือหลังอาบน้ำสระผมทันทีและหลังการนวดไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมทันทีเช่นกัน
- ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อปรับสภาพร่างกายหลังการนวด
การนวดชิอาซึเพื่อสุขภาพ
กรณีที่มีความเครียด อ่อนล้า หรือนอนไม่หลับ อาจนำการนวดชิอาซึแบบอันมามาช่วยผ่อนคลายได้ โดยกดจุดที่ตำแหน่งตาที่สาม (กลางหน้าผากเหนือตรงกลางระหว่างคิ้ว) และกดจุดฝ่าเท้าและฝ่ามือ ประมาณ 7 – 10 วินาทีจำนวน 3 ครั้ง
จับเส้นแผนโบราณของ “หมอเมืองคอน”
เป็นที่รู้กันว่า “การนวดจับเส้น”ต่างจากการนวดเพื่อผ่อนคลายอย่างลิบลับ เพราะการนวดจับเส้นหรือบางครั้งอาจใช้คำว่า “การนวดแบบเชลยศักดิ์” เป็นการนวดเพื่อแก้อาการโรคมากกว่าที่จะเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลาย
คุณอัศฐาพร แสวงรู้ หมอนวดจับเส้นเมืองคอน ผู้ได้รับการถ่ายทอดการนวดจับเส้นจากพ่อซึ่งเป็นหมอนวดแผนโบราณ เล่าหลักการรักษาว่า
“หลักการนวดจับเส้นคือ เราต้องสังเกตกล้ามเนื้อของคนไข้ว่ามัดไหนตึงมัดไหนหย่อน เมื่อจับได้จึงค่อยไล่ลมที่อยู่ตามเส้นเลือด โดยใช้การกด กดหนักบ้าง เบาบ้าง เพื่อไล่ลม?เมื่อลมในร่างกายเราหายไป เลือดก็ไหลเวียนไปซ่อมแซมอวัยวะที่ผิดปกติได้เหมือนเดิม”
การนวดจับเส้นของคุณอัศฐาพรสามารถรักษาผู้ป่วยในกลุ่มกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก ท้องอืดท้องเฟ้อนอนไม่หลับ และสามารถไล่ลมบนใบหน้าให้ผิวหน้าเปล่งปลั่งได้อีกด้วย
เคล็ด (ไม่) ลับกดจุดแก้โรคคนเมือง
แก้ปวดหัว กดจุดไท่หยาง ซึ่งอยู่ตรงรอยบุ๋มหลังจุดกึ่งกลางระหว่างหางคิ้วกับหางตา ห่างออกไปประมาณ 1 นิ้ว โดยใช้นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วกลางกดลงไปตรงจุดไท่หยางทั้งสองข้าง พร้อมนวดวนเบาๆ นาน 1 – 2 นาทีหรือมากกว่า และนวดวนกลับอีกด้านหนึ่ง
แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กดจุดจู๋ซานหลี่ ซึ่งอยู่ที่หน้าแข้งด้านนอก ห่างจากสันกระดูกออกมา 1 ข้อนิ้วมือ และอยู่ต่ำจากขอบล่างของกระดูกสะบ้า 4 ข้อนิ้วมือกดนวดจุดดังกล่าวนาน 1 – 2 นาที
“นวดจับตะไซ” มหัศจรรย์นวดจับเส้นสไตล์ไทย – เขมร
สำหรับชนชาติพันธุ์เขมร – สุรินทร์ก็มีวิชานวดจับเส้นประจำพื้นถิ่น รู้จักกันในชื่อ “นวดจับตะไซ” โดยคำว่า“ตะไซ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า เส้นนั่นเอง
คุณชัชวาลย์ ชูวา หัวหน้าศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร เริ่มเล่าให้ฟังถึงภูมิปัญญาล้ำค่านี้ว่า
“หัวใจสำคัญของการรักษาอยู่ที่ศิลปะในการลงน้ำหนักมือบนเส้นและอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างแม่นยำของหมอนวดจับตะไซ ซึ่งมาจากการสั่งสมประสบการณ์จนชำนาญ คนไข้จึงนอนใจได้ถึงความปลอดภัย
“โดยส่วนใหญ่คนไข้ที่มาหาหมอมักมีอาการปวดหลัง หรือเป็นสตรีที่ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย มีอาการตกขาว และประจำเดือนมาไม่ปกติซึ่งเป็นอาการของมดลูกอักเสบหรือเคลื่อนที่ อาจเกิดจากการทำงานหนักยกของหนัก ใส่รองเท้าส้นสูง หรือใส่กางเกงเอวต่ำ เนื่องจากกางเกงจะไปกดรั้งกระดูกเชิงกราน
“ถ้าเป็นเช่นนี้หมอจับตะไซจะนวดบริเวณเหนือกระดูกเชิงกราน ซึ่งเป็นตำแหน่งของปีกมดลูกให้คลายตัวก่อน แล้วจึงนวดบริเวณท้อง โดยใช้วิธีโกยและยกมดลูกให้เข้าที่”
นอกจากจะบรรเทาอาการยอดฮิตของสุภาพสตรีได้แล้ว การนวดจับตะไซยังแก้อาการปวดหลัง ปวดต้นคอ หรือคอเคล็ดกับคนทุกเพศทุกวัยได้ชะงัดนัก
นวดตอกเส้นแบบล้านนาต้านปวดเมื่อย
ศาสตร์แห่งการนวดตอกเส้นเป็นศิลปะการรักษาโรคที่สืบทอดกันมาแต่ช้านานในแถบแผ่นดินล้านนาซึ่งกล่าวกันว่าสามารถรักษาอาการปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ชะงัด ด้วยวิธีการใช้ไม้ตอกลงไปตามเส้นเอ็นน้อยใหญ่ในร่างกายเพื่อคลายการติดยึด
หมอบุญยืน ผ่องแผ้ว หมอสมุนไพรพื้นบ้านประจำคลินิกหนองบงการแพทย์แผนไทย จังหวัด
ลพบุรี เล่าให้ฟังว่า “เส้นเอ็นคือส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยยึดโครงสร้างของร่างกายเข้าด้วยกัน ทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปโดยสะดวกหรือเป็นไปตามที่ร่างกายต้องการ และเมื่อเกิดอาการยึดติดซึ่งจะสังเกตได้จากอาการปวดตึงตามส่วนต่างๆ เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดเส้นเอ็น เป็นโรคกระดูกทับเส้น เป็นต้น
“เวลานวดตอกเส้นเราจะเน้นไปที่จุดสำคัญ โดยการตอกแต่ละครั้งจะตอกลงไปตามเส้นเอ็นที่เป็นจุดศูนย์กลางที่เราเรียกกันว่า ‘เส้นสิบ’ (อยู่รวมกันบริเวณเหนือสะดือขึ้นไปสองนิ้ว ต่ำจากสะดือลงมาสองนิ้ว และที่ข้างสะดืออีกสองนิ้ว) ซึ่งจะมีเส้นเอ็นเล็กและเส้นเอ็นใหญ่กระจายออกไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งแขน ขา หน้าอก จอประสาทกระดูกสันหลัง บั้นเอว ข้อมือ ลงไปถึงเท้า
“อย่างใครที่มีอาการไหล่ติด ปวดหลัง ปวดเอวหรือบางทียกแขนไม่ขึ้น ก็สามารถรักษาให้หาย
ในครั้งแรกได้เลย หรือคนที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต การนวดตอกเส้นจะช่วยคลายอาการปวดเกร็งให้เขา
มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ”
อาการแบบไหนไม่ควรนวดตอกเส้น?
หมอบุญยืนได้บอกวิธีสังเกตเส้นเอ็นก่อนมานวดตอกเส้นไว้ว่า
“สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าเส้นเอ็นบริเวณที่จะนวดมีอาการบวมแดง เมื่อลองใช้มือกดดูนิดเดียวแล้วรู้สึกเจ็บ
แบบนี้เป็นอาการของเส้นเอ็นอักเสบ ไม่ควรมานวดตอกเส้น เพราะจะยิ่งทำให้เจ็บและอักเสบมากขึ้น”
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 261