หยุด เบาหวานพันธุกรรม
วิธีมหัศจรรย์เหล่านี้อาจช่วยคุณหยุดเบาหวานจากพันธุกรรม หรือ เบาหวานพันธุกรรม ได้ เพราะถึงแม้ว่าครอบครัวจะเป็นสถาบันที่เล็กที่สุดในสังคม แต่กลับมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการหล่อหลอมและพัฒนาพฤติกรรม ตลอดจนบุคลิกภาพของบุคคล
โดยเฉพาะพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพกายใจที่ถูกต้อง ครอบครัวเป็นเหมือนครูคนแรกที่จะสอนบทเรียนด้านนี้ให้กับบุคคล
ขณะเดียวกัน ครอบครัวยังเป็นดั่งผู้ชี้ชะตาเรื่องความเจ็บป่วยของคนๆนั้นได้ด้วย ทั้งโรคภัยที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม จากรุ่นสู่รุ่น และอาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากการเรียนรู้และปฏิบัติตามพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพของครอบครัว
ดังนั้น “พันธุพฤติกรรม” จึงเป็นคำจำกัดความสาเหตุความเจ็บป่วยที่ใครหลายคน และอีกหลายครอบครัวอาจมองข้ามไป
ประสบการณ์จริงต่อไปนี้ จะเผยโฉมผู้ร้ายหน้าใหม่ “พันธุพฤติกรรม” สาเหตุของความเจ็บป่วย พร้อมวิธีปราบผู้ร้ายรายนี้ ด้วยตัวคุณเอง

พันธุพฤติกรรม
เกิดจากคำสองคำมาผสมกัน คือพันธุกรรมและพฤติกรรมโดยในบทความนี้คำว่า พันธุพฤติกรรม ต้องการสื่อถึง ความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และการเรียนรู้อย่างยาวนานและต่อเนื่องในพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพของครอบครัวพฤติกรรมการกินที่ผิด และความเครียดในครอบครัวที่มีปัญหา
เริ่มที่กิน สิ้นสุดที่โรคร้าย
พฤติกรรมการกินในครอบครัว นับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามและนึกไม่ถึงว่าจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้ เช่นกันกับคุณอลิสา หรือยุ้ย (ขอสงวนนามสกุล) วัย 28 ปี
ฉันไม่ได้ตั้งใจอ้วน
ฉันเป็นสาวเจ้าเนื้อ เกิดมาในครอบครัวมีอันจะกิน ชีวิตจึงเพรียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบายทุกอย่าง รวมทั้งอาหารการกินที่มีอย่างเหลือเฟือ
ย้อนเวลากลับไป เมื่อวิเคราะห์ถึงอาหารที่ฉันและสมาชิกทุกคนในครอบครัวกินเป็นประจำ ย่อมเป็นคำตอบว่าทำไมน้ำหนักของฉันและทุกคนในครอบครัวทุกคนจึงเกินกว่าค่าดัชนีมวลกาย (BMI.) มาก
รู้ได้เมื่อภัยมา
จนกระทั่ง เมื่ออายุ 25 ปี ฉันได้ไปตรวจร่างกายปรากฎว่าทั้งความดันโลหิต คลอเรสเตอรอล ปริมาณน้ำตาลในเลือด ต่างพุ่งสูงปรี๊ด จนน่าตกใจ
ขณะนั้น น้ำหนักของฉันพุ่งทะยานไปไม่หยุด เพียงไม่ถึง 10 กิโลกรัม ก็จะแตะหลัก 100 แล้ว คุณหมอจึงแนะนำให้เริ่มลดน้ำหนักอย่างจริงจัง มิเช่นนั้น โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ฉันจึงคิดย้อนถึงพฤติกรรมการกินของตนเองและครอบครัว ซึ่งเมื่อเหลียวมองไปยังสมาชิกในครอบครัวทุกคนมีรูปร่างท้วม ก็รู้สึกเหมือนได้ส่องกระจกสะท้อนเงาของตัวเองที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคร้ายไม่ต่างจากฉัน
ฉันไม่รอช้า เริ่มหาข้อมูลตั้งแต่สาเหตุ ไปจนถึงทางออกของปัญหา เบื้องต้นฉันพบว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดกับฉัน อธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยา
รองศาสตราจารย์ ศิรางค์ ทับสายทอง และรองศาสตราจารย์ประไพพรรณ ภูมิวุฒิสาร อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุณาอธิบายให้ฉันฟังว่า
“ส่วนหนึ่งของทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคมของนักจิตวิทยาชาวแคนาดา ALbert Bandura อธิบายว่า พฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์นั้น จะถูกหล่อหลอมขึ้นตั้งแต่เด็ก ด้วยการเรียนรู้ผ่าน “ตัวแบบ” คือคุณพ่อ คุณแม่ หรือคนในครอบครัวที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กคนนั้น
“โดย “ตัวแบบ” เพียงคนเดียวสามารถถ่ายทอดทั้งความคิด และแสดงออกได้พร้อมๆกัน ยิ่งคนเราใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแคบๆ การรับรู้เกี่ยวกับสภาพการณ์ต่างๆของสังคมจึงส่งผ่านมาจากประสบการณ์ของผู้อื่น อย่างไม่มีประสบการณ์ตรงมาเกี่ยวข้อง โดยการได้ยิน และได้เห็น จนเกิดการจดจำ และเลียนแบบ (Imitation) และหล่อหลอมเป็นพฤติกรรมการกินที่ทำร้ายสุขภาพของคุณยุ้ยและครอบครัวอยู่ในขณะนี้”
อาหาร 3 ลำดับ ที่ครอบครัวของฉันกินเป็นประจำ คือ
- ไข่พะโล้
– รสชาติหวานและมันจัด ส่งผลให้ระดับน้ำตาล ในเส้นเลือดสูง
– มีแต่เนื้อสัตว์ ได้แก่ หมูสามชั้น ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกายมาก
– ไม่มีผัก จึงไม่ได้รับวิตามินที่มีประโยชน์เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายเลย
- อาหารเช้าแบบอเมริกัน คือ ไข่ดาว หมูแฮม และไส้กรอกทอด
– อาหารแปรรูป ได้แก่ หมูแฮม ไส้กรอก มีปริมาณไขมัน และคลอเรสเตอรอลสูง ทำให้เสี่ยงต่ออาการไขมันอุดตันในเส้นเลือด
– มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง เมื่อสะสมอยู่ในร่างกายมาก ทำให้เสี่ยง ต่อมะเร็งกระเพาะ หรือหลอดอาหาร
- ไก่ทอด
– ไขมันทรานส์ (Trans Fat) จะเข้าไปสะสมในร่างกายทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เพราะไขมันทรานส์นอกจากจะเพิ่มคอเลสเตอรอลร้าย (LDL) แล้วยังลดคอเลสเตอรอลดี (HDL) ในเลือด

เกือบจะสายเกินไป
ยังไม่ทันที่ฉันจะริเริ่มทำอะไรเพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพนั้น พลันเกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนในครอบครัวจดจำได้ไม่รู้ลืม คือคุณพ่อเกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง เมื่อนำท่านส่งโรงพยาบาล คุณหมอกล่าวว่า
“คุณพ่อของคุณเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เนื่องจากไขมันอุดตันเส้นเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจ ต้องรีบผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจด่วน”
วินาทีนั้น ฉันได้แต่ภาวนาขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้คุณพ่อปลอดภัย และให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่า หากผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปได้ ฉันจะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนวิถีการกินของครอบครัว และลดความอ้วนอย่างจริงจัง
ในที่สุด คุณพ่อก็ปลอดภัย ฉันจึงไม่รีรอ เริ่มดำเนินภารกิจปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของครอบครัว
รองศาสตราจารย์ ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่าการปรับพฤติกรรม ควรทำเป็นขั้นตอน ดังนี้
- สมาชิกทุกคนในครอบครัวมาพูดคุยกันเพื่อรับทราบปัญหาร่วมกัน และตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนัก รวมทั้งตั้งปณิธานในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของครอบครัว
- เริ่มบันทึกกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของครอบครัวที่ได้ปฏิบัติจริง ทั้งเรื่องอาหาร ในด้านประเภท ปริมาณอาหาร รวมทั้งความถี่ในการออกกำลังกาย พร้อมบันทึกผลลัพธ์ ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยทุก 1 สัปดาห์ ทุกคนในครอบครัวก็จะมาพูดคุยกัน เพื่อสรุปปัญหาและวิธีแก้ไข
- หากสัปดาห์ไหนผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจก็จะกำหนดให้มีรางวัล ถ้าสำเร็จเป็นรายคน ก็จะได้รางวัลเป็นรายคน แต่ถ้าสำเร็จทั้งครอบครัวก็จะได้รางวัลทั้งครอบครัว แต่รางวัลนั้นต้องไม่ใช่การกินอาหาร อาจเป็น การช็อปปิ้ง การซื้อของใช้ที่ชอบ หรือการเดินทางท่องเที่ยวของครอบครัว
และแล้วความอ้วนที่ฉันได้มาโดยไม่ได้ตั้งใจนี้ ก็กลับกลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่บอกฉันว่า…
การดูแลซึ่งกันและกันในครอบครัวสำคัญเพียงใด
สาเหตุของโรคไขมันอุดตันเส้นโลหิต หรือหัวใจ ว่ามีสาเหตุหลักจากการกินอาหาร ดังนี้
- ไข่แดง นม เนย
- น้ำมันหมู หรือได้รับไขมันจากไก่
- น้ำมันพืช เช่นน้ำมันมะพร้าว และกระทิ
เมื่อไขมันเหล่านี้เข้าไปสะสมในโลหิตมากกว่าปริมาณปกติ ก็จะไปอุดเส้นโลหิตที่หัวใจจนตีบตัน
เบาหวาน มรดกโรคร้าย
“จากผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของคุณ แสดงออกมาว่าคุณเป็นเบาหวานครับ” สิ้นเสียงคุณหมอ เหมือนฟ้าผ่าขึ้นกลางใจ คุณวิชาพล หรือต้อม (นามสมมุติ) วัย 35 ปี
จุดเริ่มต้นเส้นทางสาย “เบาหวาน”
สิ่งที่ได้ยินจากหมอในวันนั้น ทำให้ผมต้องค่อยๆคิดและพิจารณาว่า สิ่งไหนในอดีตที่กำหนดให้ผมได้รับผลเป็นโรคร้ายอย่างเบาหวานเช่นปัจจุบันนี้
หากเปรียบชีวิตที่ผ่านมาของผมเป็นละครสักเรื่อง ตัวละครเอกที่ขาดไม่ได้คือ แม่ ท่านเป็นแบบให้ผมในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการกินอาหารและการออกกำลังกาย ซึ่งผมได้ซึมซับและเลียนแบบจนเป็นพฤติกรรมไปโดยไม่รู้ตัว ดังนี้
แม่ชอบกินอาหารรสชาติหวาน มัน อาหารที่ผมกินส่วนใหญ่มีรสชาติหวานนำ
แม่ชอบกินแกงกะทิ ใน 1 วัน ต้องมีอาหารประเภทแกงกะทิอย่างน้อย 1 อย่าง
แม่มักทำของหวานให้ทุกคนกินปิดท้ายมื้ออาหาร ของหวานที่ผมชอบกินมากคือกล้วยเชื่อม ราดน้ำกะทิเยอะๆและมักกินหลัง อาหารมื้อกลางวันหรือเย็น
แม่ไม่ชอบออกกำลังกาย การออกกำลังกายไม่เคยอยู่ในตารางชีวิตของผมเลย
พฤติกรรมการกินที่ผิด และไม่ชอบออกกำลังกายเช่นนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดท็อกซินในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่ความเสื่อมของระบบการทำงานต่างๆในร่างกาย รวมทั้งอวัยวะต่างๆด้วยโดยอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ผู้ให้กำเนิดแนวทางชีวจิต กล่าวไว้ในหนังสือ “เตะสุดชีวิต” ว่า
การออกกำลังกายช่วยให้การเผาผลาญของร่างกายดีขึ้น ช่วยให้ร่างกายขับของเสีย หรือท็อกซินออกจากร่างกายมากขึ้น และช่วยให้ร่างกายปรับระบบต่างๆให้สมดุลตลอดเวลา
ลุกขึ้นสู้กับ “เบาหวาน”
เมื่อคิดได้เช่นนี้ ผมจึงเริ่มภารกิจพลิกชะตาชีวิตด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยผมทดลองใช้เทคนิคการทำสัญญากับตัวเอง ซึ่งได้ค้นเจอในหนังสือเรื่อง ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรมของ รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต ซึ่งอธิบายไว้ว่า
“การทำสัญญากับตัวเองเป็นหนึ่งในเทคนิคการควบคุมตนเอง ซึ่งให้บุคคลสัญญากับตนเองว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไรบ้างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีผู้อื่นซึ่งเป็นคนใกล้ชิด ที่ผู้ทำสัญญารัก และห่วงใย ได้แก่ สมาชิกในครอบครัว เข้ามาลงลายมือชื่อรับรองเป็นกิจลักษณะ เพื่อป้องกันไม่ให้หลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับตนเอง”
วิธีสร้างพฤติกรรมฉลาดกินให้ลูก
- อบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนและใช้เหตุผลมาก
- สร้างแบบอย่างการกินที่ดี
- ให้ลูกรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพมาก
- ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนที่เหมาะสม เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬาต่างๆ
การปฏิบัติตามสัญญากับตนเองนี้ ทำให้ผมสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินซึ่งทำร้ายสุขภาพในอดีต ให้ค่อยๆปรับสู่พฤติกรรมดูแลสุขภาพได้ไม่ยาก
แม้ว่า มรดกโรคร้ายอย่างโรคเบาหวานจะเลือกที่จะฝังตัวอยู่ในร่างกายผม โดยที่ผมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ร้องขอใดๆทั้งสิ้น
แต่สิ่งที่ผมยังทำได้ คือการใช้สิทธิที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง และคนที่ผมรักอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้มรดกชิ้นนี้ถ่ายทอดไปยังแก้วตาดวงใจของผมอย่างเด็ดขาด
ครั้งนั้น นอกจากการรักษาด้วยการกินยาตามแพทย์สั่งแล้ว แพทย์หญิงเรขา กลลดาเรืองไกร จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท1 ยังเสนอให้ฉันทำกิจกรรมหลากหลายประเภทเพื่อบำบัดอาการที่สะสมมาตั้งแต่เด็กให้ดีขึ้น ดังนี้
- เล่นกีฬา ให้เลือกเล่นกีฬาที่ตลอดการเล่นผู้เล่นต้องมีจิตใจจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้า เช่น การว่ายน้ำ หรือกีฬาที่มุ่งผลแพ้-ชนะ
- เดินทางท่องเที่ยว เพื่อพาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆที่ก่อให้เกิดความเครียด
- ทำกิจกรรมจิตอาสาหลายรูปแบบ เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ข้อมูลจากคอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต