ออนเซ็น

บ.ก.ขอตอบ : บ.ก.พาเที่ยว แช่ออนเซ็น @เจแปน

บ.ก.พาเที่ยว แช่ออนเซ็น @เจแปน

บทความนี้น่าจะไม่ได้ตอบคำถามใคร (หรืออาจจะมีคนอยากรู้ แต่ไม่มีใครกล้าถาม ฮา ฮา) คือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บ.ก.แอบหนีหน้าจากบริษัทอมรินทร์ฯ ไปตะเวนแช่ ออนเซ็น แถวเกาะใต้หรือคิวชู ประเทศญี่ปุ่นค่ะ

ถ้าถามว่าออนเซ็นหรือน้ำพุร้อนดีอย่างไรต่อสุขภาพ เพื่อนๆ ผู้อ่านชีวจิตคงรู้กันดีว่า น้ำพุร้อนจากใต้พื้นโลกที่ผุดขึ้นมาให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์นั้น อุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมาย มีประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์ ช่วยรักษาโรคและอาการบางอย่างของมนุษย์ ซึ่งถ้าจะว่าไป แหล่งน้ำพุร้อนมักอยู่บริเวณที่เคยเป็นภูเขาไฟ ซึ่งแน่นอนย่อมเป็นบริเวณที่มีทางลาดชันมากมาย โดยมนุษย์สมัยก่อนต้องใช้ความยากลำบากในการเดินทางติดต่อกัน ไปมาหาสู่กันและกัน รวมไปถึงการทำมาหากินอยู่บริเวณที่สูงแบบนั้น

ลองจินตนาการดูสิคะว่า การใช้ชีวิตในบริเวณที่ลาดชันหรือราบสูงนั้นไม่ได้ง่ายเลย เฉพาะแค่พวกเราทุกวันนี้ที่อยู่ในเมืองใหญ่ เดินไปเดินมาอยู่บนพื้นที่ราบ เรายังเหนื่อยหนัก สวมรองเท้าผิดก็ทำให้ปวดฝ่าเท้า ปวดเข่า ปวดหลัง อายุมากหน่อยโรคปวดเข่าก็ถามหา ฉะนั้นผู้คนเหล่านั้นย่อมมีปัญหาดังกล่าวมากกว่าเรา ธรรมชาติเลยสร้างน้ำพุร้อนที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุจำเป็นต่อกระดูกและข้อขึ้นมา เพื่อช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมสุขภาพผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น

ว่ากันตามหลักภูมิศาสตร์ (เพื่อนบ.ก.ชาวญี่ปุ่นเรียนจบด้านนี้มาโดยตรง ปัจจุบันทำงานอยู่บริษัท JR หรือ JAPAN RAILWAY) โดยเพื่อนบอกว่า มีหลักฐานยืนยันว่า แหล่งน้ำพุร้อนแต่ละแห่งในโลก มีแร่ธาตุแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำพุร้อนเมืองระนองหรือเชียงใหม่ของเรา แหล่งน้ำพุร้อนในเมืองโรโตรัว ทางเกาะเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ หรือกระทั่งแหล่งน้ำพุร้อนบริเวณเมืองต่างๆ รวมทั้งทางเกาะใต้ของประเทศญี่ปุ่น

เปปปุ : ประตูนรก

เปปปุ

นั่นคือการมองกันในด้านความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ที่นำไปสู่ความแตกต่างทางการนำมาใช้ ส่วนด้านความเชื่อนั้น พบว่าแม้จะไม่ใช่ 1 ใน 13 สถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็น Gate of Hell ตามความเชื่อของคริสต์ศาสนา แต่ชาวญี่ปุ่นเองก็เรียกสถานที่ที่มีควันพวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นดินตลอดเวลาว่าเป็น Gate of Hell (ประตูนรก) ของญี่ปุ่น ซึ่งเมืองนั้นคือ Beppu ออกเสียงว่า เปปปุ ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะคิวชู ระหว่างโออิตะและคูมาโมโต้ ชาวญี่ปุ่นเรียกบ่อน้ำพุร้อนเหล่านี้ว่า Jigoku ซึ่งแปลว่า “นรก”

ความน่ารักของเมืองนี้ นอกจากควันไฟที่พวยพุ่งอยู่ทั่วเมืองแล้ว ยังมีบ่อน้ำพุร้อน 7 สี 7 คุณสมบัติ https://izanau.com/article/beppu-hells ให้ได้ลองแช่ โรงแรมทุกแห่งในเมืองที่มีบริการออนเซ็นบนดาดฟ้า (คิดรวมไปกับราคาโรงแรมแล้ว) และศูนย์การแพทย์ผสมผสานมากมาย ที่นอกจากให้บริการการตรวจวินิจฉัยแบบแผนปัจจุบันแล้ว ยังเพิ่มบริการการแช่น้ำพุร้อนลงไปในคอร์สการรักษาด้วย นอกจากนี้ยังมีศูนย์สุขภาพสำหรับผู้สูงอายุอีกมากมาย แถมด้วยร้านอาหารที่ใช้ความร้อนจากใต้ดินมานึ่งอาหารให้สุกไว้บริการ (มี 2 แห่ง และควรต้องจองล่วงหน้า) ซึ่งมีสถานบริการอบซาวน่าให้ฝ่าเท้า และบ่อน้ำพุร้อนสำหรับแช่ฝ่าเท้าฟรี อยู่ใกล้ๆ อิอิ…สองปีก่อน บ.ก.มากินอาหาร แต่ไม่แช่เท้า รอบนี้บ.ก.แช่เท้า แต่ไม่กล้ากินอาหาร เพราะแอบตะขิดตะขวงใจนิดหน่อย ที่ไอร้อนสำหรับปรุงอาหาร และไอร้อนสำหรับอบเท้าและแช่เท้ามาจากแหล่งเดียวกัน และใกล้กันมาก 555

มีข้อสังเกต หรือข้อพึงระวัง สำหรับคนรักสุขภาพที่ต้องทราบนิดหนึ่งคือ หากแบ่งเมืองเปปปุออกเป็นสองฝั่งคือ ฝั่งเนินเขา และฝั่งชายทะเล โดยคนรักสุขภาพต้องมุ่งหน้าไปทางฝั่งเนินเขาค่ะ ซึ่งเต็มไปด้วยบ่อน้ำพุร้อน คลินิกและศูนย์สุขภาพ ที่มีผู้เชี่ยวชาญดูแลโดยตรง

ส่วนฝั่งชายทะเลนั้นจะเหมาะสำหรับผู้ชายที่เมียมาเที่ยว เพราะบ่อน้ำร้อนที่ให้บริการให้แถบนี้ จะมีสาวๆนุ่งน้อยห่มน้อย มาช่วยถูขี้ไคลให้ อิอิ

บ.ก.ใช้เวลาอยู่ที่นี่ 1 วัน 1 คืน ค่ะ ได้มีโอกาสกินอาหารญี่ปุ่นพื้นบ้านราคาถูกในตลาดบ้านๆ ใกล้สถานีรถไฟ JR ของเมืองเปปปุด้วยค่ะ

แช่ออนเซ็นเท้า

บ่อน้ำพุร้อน 7 แห่ง

  1. บ่อน้ำพุร้อนสีฟ้า Umi Jigoku ลึกประมาณ 2 เมตร ล้อมรอบปากบ่อด้วยต้นซากุระ สวยงามน่าชม ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน
  2. บ่อโคลนร้อน (Oniishibozu Jigoku) สำหรับแช่เท้าเท่านั้น
  3. บ่อน้ำพุร้อนสีเขียว (Yama Jigoku) เป็นบ่อน้ำร้อนที่เต็มด้วยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำแหวกว่ายอยู่ ซึ่งคงไม่ใครกล้าลงอาบ
  4. บ่อน้ำพุร้อนยักษ์คามาโด เป็นบ่อน้าร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก เหมาะสำหรับการต้มไข่ ซึ่งจะนำมาบริการนักท่องเที่ยว พร้อมชา กาแฟ และขนม
  5. บ่อน้ำพุร้อนสีขาว (Shirake Jigoku) ด้วยความที่มีควันสีขาวพวยพุ่งมาตลอดเวลานั่นเอง จึงได้ชื่อบ่อน้ำพุร้อนสีขาว เป็นบ่อที่ล้อมรอบไปด้วยสวนญี่ปุ่นน่ารัก น่าไปนั่งพักผ่อน
  6. บ่อน้ำพุร้อนสีแดง (Chinoike Jigoku) เป็นน้ำร้อนสีสันแปลกตา ว่ากันว่าช่วยรักษาโรคผิวหนังได้ทุกชนิด
  7. บ่อน้ำพุร้อนน้ำตก (Tatsumaki Jigoku) เพราะจะมีน้ำพุพุ่งขึ้นจากใต้ดินทุกๆ 30 นาที และสูงขึ้นฟ้าไปถึง 50 เมตร ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า การมาแช่ออนเซ็นเพื่อสุขภาพ

อ่านต่อหน้าที่ 2

คุโรกาว่า : หมู่บ้านออนเซ็นของคนญี่ปุ่น

ไม่น่าเรียก “คุโรกาว่า” ว่าเมืองค่ะ เรียกว่าเป็นหมู่บ้านดีกว่า ตั้งอยู่ในจังหวัดคุมาโมโต้ ใกล้กับภูเขาไฟอะโสะที่ยังคุกรุ่นอยู่ และเมื่ออยู่ใกล้ภูเขาไฟ ย่อมเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำพุร้อนที่น่าสนใจ โดยชาวญี่ปุ่นนิยมใช้วันหยุดสุดสัปดาห์มาพักผ่อนที่นี่ ซึ่งทั้งหมู่บ้านให้บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ หรือชาวญี่ปุ่นเรียกว่า เรียวกัน ที่นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสสวมชุดยูกะตะแบบญี่ปุ่น นอนในห้องพักแบบญี่ปุ่นโบราณ และกินอาหารตามแบบญี่ปุ่นโบราณ นอกเหนือจากการอาบน้ำพุร้อนที่มีบริการอยู่ในทุกที่พัก

ประสบการณ์ในเรียวกันที่คุโรกาว่านี้น่าสนใจมาก เมื่อเช็คอิน เราจะต้องทำตัวแบบคนญี่ปุ่น สวมชุดยูกะตะดังกล่าว ถ้าจะไปอาบน้ำพุร้อนในบริเวณที่พักก็ทำได้ มีทั้งแบบอินดอร์ ที่มีสองแบบคือ 1. ห้องอาบน้ำสำหรับครอบครัว และห้องอาบน้ำด้วยน้ำพุร้อนสมุนไพร 2. ห้องอาบน้ำแบบส่วนตัว โดยที่กล่าวมาทั้งหมดต้องจองทั้งสิ้น ส่วนห้องอาบน้ำแบบเอาท์ดอร์ ที่อยู่บนดาดฟ้าของที่พัก จะเป็นห้องอาบน้ำรวม โดยแยกหญิงชาย ซึ่งเมื่อไปถึง ก็มักไม่มีใครอยู่ นอกจากเราและเพื่อนสาวของเรา ซึ่งก็จะทำให้อายน้อยหน่อย อิอิ

กล่าวกันว่า “น้ำพุร้อนไม่เพียงแต่จะประกอบด้วยสารละลายแร่ธาตุต่างๆ เท่านั้น แต่น้ำพุร้อนยังมีแรงดันซึ่งจะช่วยกระตุ้นสภาพของร่างกาย ท่านควรปล่อยให้น้ำพุร้อนพยุงตัวให้ท่านลอยขึ้นเหนือน้ำ ซึ่งการพยุงตัวลอยเหนือน้ำพุร้อนนี้จะทำให้ร่างกายปลอดโปร่ง และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นทำให้สภาวะแวดล้อมภายในมดลูกและช่องท้องดีขึ้น การอาบน้ำร้อนจะทำให้รูขุมขนของร่างกายเปิดกว้างออก เป็นการทำความสะอาดรูขุมขน และช่วยทำให้แร่ธาตุในน้ำพุร้อนไหลถ่ายเทตามรูขนเข้าไปในร่างกาย การอาบน้ำพุร้อนเป็นการทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ลดความเครียด และเป็นการทำให้เกิดความสมดุลในระบบประสาท” ฉะนั้นการลงบ่อน้ำพุร้อนแต่ละครั้ง (3 วัน บ.ก.ลงบ่อ 5 ครั้ง) จึงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดเครียดและความเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี

นอกจากการอาบน้ำแล้ว ประสบการณ์การเดินเล่นรอบหมู่บ้าน ไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่เต็มไปด้วยคนสวมชุดยูกาตะก็น่ารักดี โดยเฉพาะการเสิร์ฟอาหาร ตัวอาหารการกินเอง ทั้งมื้อเย็นและมื้อเช้า ก็น่าสนใจ เพราะอาหารญี่ปุ่นแบบโบราณ ย่อมไม่ใช่เมนูที่เราเห็นในเมือง หรือเมนูที่อยู่ในบ้านเราแน่ๆ

อาหารญี่ปุ่น

ที่เหลือจากที่เล่ามาทั้งหมดอีก 3-4 วัน บ.ก.ก็ไปเดินชมวัด สวนสาธารณะ ปราสาท และแหล่งช็อปปิ้ง อิอิ ตามสไตล์คนไทย ซึ่งเชื่อว่าผู้อ่านคงสามารถอ่านได้จากแหล่งข้อมูลท่องเที่ยวอื่นๆ ส่วนภาพประกอบในเรื่องทั้งหมด ฝีมือ บ.ก.เองค่ะ

อ้างอิง

https://izanau.com/article/beppu-hells

http://www.dmr.go.th/main.php?filename=type


บทความน่าสนใจอื่นๆ

6 สเต็ปโค้ชตนเอง เพื่อสุข สดใส มีพลัง

6 เรื่อง&โรคต้องรู้ ก่อนกินอาหารเสริมอย่างปลอดภัย

บ.ก. ขอตอบ : ปรับอาหาร แก้ท้องผูก เลิกเสพติดดีท็อกซ์

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.