พอเพียง ตามอย่างพ่อ
พอเพียง อย่างมีเหตุผลทั้งยังต้องศึกษาหาความรู้ และต้องรู้จักปรับใช้ความรู้นั้นให้เข้ากับตนเอง ที่สำคัญต้องขยัน อดทน ทุ่มเท
“…การที่จะณรงค์ที่จะต่อสู้เพื่อให้คนมัธยัสถ์และประหยัดนั้นก็อยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่นเมื่ออยู่ที่ตนเอง ไม่อยู่ที่คนอื่น การณรงค์โดยมากมักออกไปข้างนอก จะไปชักชวนคนโน้นชักชวนคนนี้ให้ทำโน่นทำนี่ ที่จริงตัวเองต้องทำเอง ถ้าจะใช้คำว่าณรงค์ก็ต้องณรงค์กับตัวเองต้องฝึกตนให้รู้จักพอดี พอเหมาะ ถ้าไม่พอดี ไม่พอเหมาะ มันจะเกิดทุจริตในใจได้…”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะลูกเสือชาวบ้าน ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสเสด็จฯ กลับจากการแปรพระราชฐานยังจังหวัดสกลนคร ณ สนามบินดอนเมือง วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2527
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่คนจำนวนมากยึดหลักพวกมากลากไป และนิยมปล่อยตัวปล่อยใจไหลไปตามกระแสสังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง เตือนว่าเราไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมนี้หากไม่มีหลักที่มั่นคง
นาวาโท สามารถ อาลอ รองหัวหน้ากองการศึกษา ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กล่าวว่า
“เศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ชีวิตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงต้องรู้จักความพอดี ในที่นี้หมายถึง ยึดทางสายกลาง ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องพอเพียงอย่างมีเหตุผลทั้งยังต้องศึกษาหาความรู้ และต้องรู้จักปรับใช้ความรู้นั้นให้เข้ากับตนเอง ที่สำคัญต้องขยัน อดทน ทุ่มเท การงานจึงจะสำเร็จ”
เพื่อเผยแพร่แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กองทัพเรือจึงได้ทำ “โครงการวิถีชีวิตข้าราชการกองทัพเรือ” โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในการดำรงชีวิตของทหารเรือที่เข้ามาประจำการ โดยใช้พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ดำเนินงาน
“เมื่อปลดประจำการไปแล้ว ทหารเหล่านี้ก็จะนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในฐานะพลเมืองต่อไป จึงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทัพเรือที่ต้องการให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ บางคนเมื่อปลดประจำการไปแล้วก็ไปเป็นปราชญ์ชาวบ้านอยู่ในชุมชนต่างๆ”
ภายในศูนย์ฝึกทหารใหม่จะจำลองการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยครอบครัวที่มีสมาชิก 5 - 6 คน มีพื้นที่รอบบ้านพักข้าราชการให้ทหารทำการเกษตร ปลูกผักสวนครัวกินเองวิธีนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเป็นรายได้เสริมจากการเก็บผลผลิตขายถึงวันละ 200 - 300 บาท
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบริหารจัดการขยะในชุมชน โดยจะคัดแยกขยะ ขยะแห้งนำไปขายเป็นรายได้ ส่วนขยะเปียกนำไปเลี้ยงเป็ด ไก่ หมู อีกส่วนหนึ่งนำไปเลี้ยงไส้เดือนซึ่งช่วยขจัดขยะเน่าเหม็นและยังได้ของแถมเป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย
“ปีหนึ่งๆ เราแทบไม่มีรายจ่ายอะไรเพราะทำเองแทบทุกอย่าง ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลงอาหารสัตว์ ถ่าน ก๊าซชีวภาพที่หมักจากมูลสัตว์ โดยเน้นใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบตัวหลักของเราคือ จะทำอะไรต้องมีเหตุผลต้องให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ ไม่เป็นภาระชุมชน เช่น เลี้ยงปลากินพืชไว้ในท้องร่องเพื่อให้ปลากินเศษผักผลไม้เป็นอาหารจึงไม่ต้องซื้ออาหารปลา หรือเลี้ยงกบนาในสวนสมุนไพร ทำให้ได้ประโยชน์สองต่อ คือกบช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชและยังประหยัดค่าอาหารกบอีกด้วย”
หลักสำคัญของเกษตรยั่งยืนคือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนธรรมชาติแต่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจและเกื้อกูลกัน เพราะเมื่อธรรมชาติสมบูรณ์ ชีวิตมนุษย์ก็จะสมบูรณ์
บทความน่าสนใจอื่นๆ
หน่วยทันตกรรมพระราชทาน น้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9
พระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ เพื่อคนไทยยุคข้าวแพง
สวนจิตรลดา พระราชวังต้นแบบแห่งความสุขที่ยั่งยืน ตามรอยพ่อหลวง