อ่างขาง

อ่างขาง สถานีเกษตรหลวงเพื่อปวงชน

อ่างขาง สถานีเกษตรหลวงเพื่อปวงชน

 

สถานีเกษตรหลวง อ่างขาง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่งอน เมืองฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ

บนดอยสูงอันห่างไกล ไหนจะความเหน็บหนาวทางกาย และความอ้างว้างทางใจหาใครพึ่งพาไม่ได้เมื่อมีปัญหาเรื่องที่ทำกินและคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ แต่ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลและน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้น ชาวเขาและผู้ที่ทุกข์ยากในถิ่นทุรกันดารจึงได้รับความช่วยเหลือ

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ประทานพระอนุญาตให้นิตยสารชีวจิต ทูลสัมภาษณ์เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ

อ่างขาง

“แต่เดิมบริเวณดอยอ่างขางเป็นที่อาศัยของชาวเขาที่ยากจน ไม่มีแหล่งรายได้อื่นนอกจากหาเลี้ยงชีพโดยการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นการทำลายผืนป่าและต้นน้ำลำธาร” ทรงกล่าว

เมื่อมีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบาก ทั้งวิถีการดำรงชีพยังบั่นทอนทรัพยากรของชาติไปทีละน้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่ทรงนิ่งนอนพระทัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งโครงการหลวงขึ้นมาในปี พ.ศ. 2512 แรกเริ่มเป็นโครงการส่วนพระองค์โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ

“พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้ชาวเขามีการเพาะปลูกเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีที่ถูกต้อง โครงการหลวงจึงทำหน้าที่ศึกษา วิจัย และคัดสรรพืชพันธุ์เมืองหนาว ทั้งผัก ผลไม้พืชไร่ และดอกไม้ ซึ่งเป็นพืช

เศรษฐกิจ มีแหล่งรับซื้อและเกิดเป็นรายได้แก่พวกเขา อย่างที่เห็นผลิตภัณฑ์โครงการหลวงอันเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน”

นอกจากนั้นโครงการหลวงยังมีเป้าหมายเพื่อที่จะกำจัดการปลูกฝิ่นในพื้นที่ด้วยการหาพืชทดแทน โดยพืชพันธุ์ที่นำมาทดลองเพาะปลูกมีนับร้อยชนิดที่ไม่เคยปลูกในเมืองไทย เช่น สตรอว์เบอร์รี่ พีช ถั่วลันเตา เป็นต้น ในส่วนนี้หม่อมเจ้าภีศเดชทรงกล่าวพลางยิ้มอย่างร่าเริงว่า รู้สึกดีใจที่ได้เอาของดี ๆ ของอร่อยมาให้คนไทยได้กินกัน

อ่างขาง

“ผมมีความสุขที่ได้ทำงานกับพระองค์ท่าน ท่านเป็นคนสนุกมีอารมณ์ขัน อีกทั้งการขึ้นดอย ลงพื้นที่ทุกครั้ง ผมไปเพื่อเป็นเพื่อนกับชาวบ้าน กินนอนกับชาวบ้าน ให้เกิดความไว้วางใจว่าเรามาช่วย ไม่ใช่มาเพื่อสั่งให้เขาทำนู่นทำนี่ ท้ายที่สุดก็ได้เห็นชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี พึ่งพาตนเองได้”

และการหยิบยื่นความรู้และวิธีการที่ถูกต้องให้ชาวบ้านใช้หาเลี้ยงชีพนี้ ได้ดึงศักยภาพในการ

พึ่งพาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกันถ้วนหน้า

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง  นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 396 (1 เมษายน 2558)

เครดิตภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง http://www.angkhangstation.com


บทความน่าสนใจอื่นๆ

หญ้าแฝก พืชมหัศจรรย์จากพระราชา

ดอกไม้ของพระราชาสู่ บุหงา “สราญรมย์”

ช่างศิลป์ใน รัชกาลที่ 9 เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.