โครงการ พระดาบส
“โอกาส” ทางการศึกษาแก่ “ผู้ด้อยโอกาส”
โครงการ พระดาบส เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยในคุณภาพชีวิตของราษฎร
ในสังคมไทยยังมีผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาอยู่มาก ทั้งที่ขาดทุนทรัพย์หรือหลงดำเนินชีวิตผิดๆ จนพลาดโอกาสที่จะเล่าเรียนหาความรู้ จนกลายเป็นภาระของสังคมและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มีคุณภาพ
“…การให้การศึกษานั้น กล่าวโดยวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือ การสร้างสรรค์ความรู้ ความคิด พร้อมทั้งคุณสมบัติและจิตใจที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล เพื่อช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง
และราบรื่น ทั้งสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตน เพื่อส่วนรวมได้ตามควรแก่อัตภาพ ผู้ทำหน้าที่ด้านการศึกษาทุกฝ่าย ทุกระดับควรจะได้มุ่งทำงานเพื่อวัตถุประสงค์นี้ยิ่งกว่าสิ่งอื่น…”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515
ชีวจิต เดินทางมายังมูลนิธิพระดาบส เพื่อพูดคุยกับคุณอัครเดช ชูจิตต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนพระดาบสและ คุณจินตนา กูลวิริยะ หัวหน้าหลักสูตรเคหบริบาล ซึ่งบุคคลทั้งสองล้วนทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาท โดยการให้ความรู้แก่ศิษย์พระดาบสมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น
“ก่อนจะจัดตั้งเป็นมูลนิธิ เดิมทียังเรียกว่าโครงการพระดาบสครับ ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อผู้ยากจน ด้อยโอกาสทางการศึกษาแต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแสวงหาความรู้ครับ” คุณอัครเดชกล่าว
และในเวลาต่อมาโครงการพระดาบสได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิโดยมีการดำเนินงานหลักคือ มุ่งอบรมสั่งสอนวิชาความรู้แก่ผู้ยากไร้ให้นำไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การอบรมระเบียบวินัยและความรับผิดชอบในการอยู่ร่วมกันให้แก่ลูกศิษย์
“ที่นี่เป็นโรงเรียนกินนอน ศิษย์พระดาบสทุกคนต้องตื่นแต่เช้า ทำกิจกรรม ทำอาหารเลี้ยงกันเอง คอยดูแลรักษาความสะอาดและความเรียบร้อยในโรงเรียน ดูแลอำนวยความสะดวกแก่ดาบสอาสาหรือครูผู้สอน เปรียบเสมือนการเข้าไปฝากตัวในอาศรมพระดาบสในป่าสมัยก่อน คือศิษย์เข้าไปร่ำเรียนวิชาความรู้ ปรนนิบัติผู้เป็นอาจารย์ และคอยดูแลอาศรมให้เป็นสิ่งตอบแทน” คุณอัครเดชเล่า
หลักสูตรการเรียนการสอนที่นี่เป็นวิชาช่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ผู้เรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง ทั้งยังเปิดหลักสูตรเพิ่ม ได้แก่ วิชาเคหบริบาล ซึ่งอบรมทักษะการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีสายพระเนตรที่กว้างไกลทรงเล็งเห็นว่าอีกหน่อยสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วิชาชีพนี้จึงเป็นวิชาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในตอนนี้” คุณจินตนาบอกกับเรา และด้วยความตั้งใจที่จะสานต่อพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งสองคนได้กล่าวกับเราอย่างภาคภูมิใจว่า
“นับเป็นโชคดีที่ผมได้มีโอกาสมาทำงานตรงนี้ การได้เห็นลูกศิษย์จบออกไปและสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้ผมตื้นตันใจที่มูลนิธิได้เปลี่ยนผู้ที่อาจเคยมีชีวิตที่ไร้คุณค่าให้กลับมาเป็นคนดีคืนสู่สังคม” คุณอัครเดชกล่าว
“ดิฉันเองก็ภาคภูมิใจค่ะ อย่างน้อย ๆ เรายังได้มีโอกาสแบ่งเบางานของพระองค์ท่าน และดำเนินงานตามพระราชประสงค์ให้ลุล่วงไปด้วยดี” คุณจินตนายิ้มอย่างเปี่ยมสุข
ประชาชนทุกคนล้วนเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม หากมีหน่วยไหนบกพร่อง ขาดโอกาสที่จะพัฒนาตน ขอจงมั่นใจว่ายังมีพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทานความช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไข
ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
มูลนิธิพระดาบส เลขที่ 384 - 386 ถนนสามเสน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 0-2282-7000, 0-2281-0377
จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 385 (16 ตุลาคม 2557)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
อ่างขาง สถานีเกษตรหลวงเพื่อปวงชน