สุขภาพช่อง ปาก
หลายครั้งที่กลิ่น ” ปาก ” อันไม่พึงประสงค์ มักจะปรากฏออกมาบั่นทอนความมั่นใจของเรา ดังนั้น…ต้องรีบหาสาเหตุและกำจัดมันออกไปโดยเร็ว
-
- อาหารรสจัดที่มีส่วนประกอบของหัวหอม กระเทียม ลูกเนียง ทุเรียน เครื่องเทศต่างๆ ปลาร้า กะปิ ปูดอง เป็นต้น
- ยาบางตัว เครื่องดื่มบางชนิดโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ เมื่อร่างกายดูดซึมเข้าไปแล้ว จะมีบางส่วนถูกกำจัดออกทางลมหายใจและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาด้วย
- คนที่เป็นโรคฟันผุอาจมีกลิ่นปากได้ง่าย เนื่องจากฟันที่ผุเป็นรู (Cavity) จะกลายเป็นที่หมักหมมของเศษอาหาร และเมื่อทับถมกันนานเข้าก็ย่อมจะเกิดการบูดเน่าและส่งกลิ่นเหม็นออกมาได้
- โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ เป็นกระบวนการอักเสบของเหงือก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อน การอักเสบของเหงือกนั้น ถ้าเป็นมากจะมีสารคัดหลั่ง (Exudate) หรือหนอง (pus) ออกมาเหมือนบาดแผลทั่วไป ดังนั้นคนที่มีอาการเหงือกอักเสบมากๆจะมีโอกาสเกิดกลิ่นปากสูง
- กลิ่นปากสัมพันธ์กับปริมาณของน้ำลายที่ผลิตออกมาเหมือนกัน บางคนมีปริมาณน้ำลายน้อย ก็มีโอกาสเกิดอาการปากแห้งได้ เมื่อปากแห้ง ความชุ่มชื่นในช่องปากไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้มีกลิ่นปากได้
- คนที่มีอาการไซนัสอักเสบมักจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก และลมหายใจเหม็นอยู่เสมอ
- ภายในลำคอคนเรามี “ทอนซิล ” ซึ่งเป็นด่านสำคัญในการดักจับเชื้อโรคบางชนิดที่รุกล้ำเข้ามาในบริเวณนี้ แต่หากทอนซิลอักเสบเรื้อรังก็จะมีอาการบวมแดง และเป็นหนองกระทั่งส่งกลิ่นออกมา
- คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับปอด เช่น วัณโรคปอด หรือมะเร็งปอด มีโอกาสเกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน
- ผู้ที่มีระบบย่อยอาหารไม่ปกติ ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว มักมีปัญหากลิ่นปากได้ง่าย
- คนที่ท้องผูกบ่อยๆ โอกาสเกิดก๊าซไม่พึงประสงค์ย่อมมีสูง นอกจากก๊าซดังกล่าวจะออกมาในรูปของการผายลมแล้ว ยังมีโอกาสเกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน
เมื่อช่องปากเป็นช่องทางก่อโรค
ช่องปากของคนเรานั้นเป็นอวัยวะที่ต้องสัมผัสกับเชื้อโรคที่แฝงมากับอาหารอยู่ทุกมื้ออาหาร และเมื่อ”ช่องปาก”ถูกใช้งานหนักเข้า ก็มีโอกาสป่วยได้เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ
มะเร็งช่องปาก ได้แก่ มะเร็งที่กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก เพดาน มักพบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป อาการเริ่มต้นของโรคนี้ คือ จะมีแผลในช่องปาก รักษาไม่หายเป็นเวลานานเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด มีฝ้าขาวในช่องปาก ร่วมกับตุ่มนูนบนเยื่อบุช่องปากและลิ้นซึ่งโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กดไม่เจ็บ บวมโตขึ้นเรื่อยๆจนแตกออกเป็นแผล
มะเร็งช่องปากเกิดจากการอักเสบเรื้อรังร่วมกับการระคายเคืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากฟันแหลมคม ฟันผุ เหงือกเป็นหนอง จนมีการอักเสบเรื้อรัง รวมถึงการกินหมากพลู อมยาฉุน สูบบุหรี่ และดื่มเหล้า
ปริทันต์ (รำมะนาด) คืออาการที่เหงือกเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและมีเลือดออกบ่อยๆ รู้สึกเจ็บหรือเสียวที่คอฟัน เป็นตุ่มหนองที่เหงือก ทำให้ฟันไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้และเกิดอาการโยกไปมา หรือเคลื่อนห่างออกจากกัน ซึ่งสร้างความรำคาญและเจ็บปวดแก่ผู้ที่มีอาการเป็นอย่างมาก แถมยังก่อให้เกิดกลิ่นปากเหม็นอย่างรุนแรง
สาเหตุ เกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์และเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากฟันเก หรือการใส่ฟันปลอมที่หลวมหรือแน่นเกินไป โรคประจำตัวบางโรคที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของเหงือกก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบเลือด หรือแม้แต่การแพ้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาโรคลมชัก และอีกหลายๆสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น ระยะตั้งครรภ์ ระยะหมดประจำเดือน หรือการสูบบุหรี่ และการกินหมาก เป็นต้น
ร้อนใน พบมากในวัยรุ่น และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในผู้หญิงที่ใกล้มีประจำเดือน และช่วงที่ภูมิชีวิตอ่อนแอ
สาเหตุ เกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ ส่งผลให้เยื่อบุผิวหนังในช่องปากเป็นแผล โรคนี้มักเกิดขณะที่มีความเครียด นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังเกิดจากการที่อาหารไม่ย่อย ท้องผูก เป็นไข้เรื้อรัง หรือช่วงที่มีประจำเดือน เป็นต้น
เมื่อโรคปากก่อโรคอื่น
นอกจากอาการป่วยของปากและคอจะส่งผลโดยตรงกับสุขภาพภายในช่องปากแล้ว ยังส่งผลถึงอวัยวะอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงด้วย ไม่ว่าจะเป็นหู ตา จมูก เช่น หากฟันมีลักษณะซี่ที่ยาวเกินไป ซึ่งเมื่อมีอาการอักเสบ และเป็นหนองก็จะส่งผลให้ตาอักเสบได้ หรือเมื่อมีอาการฟันผุก็สามารถลุกลามไปยังประสาทฟัน จากนั้นก็จะส่งผลให้ไซนัสอักเสบ และเมื่อไซนัสอักเสบก็ยิ่งจะส่งผลถึงอวัยวะอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงตามมา
ที่สำคัญคือ อาจมีการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจเฉียบพลัน เพราะว่าเชื้อโรคจะไปตามกระแสเลือด ทำให้ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วมีอาการที่รุนแรงขึ้น
กรณีการปวดฟัน แล้วกินยาแก้ปวดนั้นเป็นเพียงการระงับปวดแค่ชั่วคราว แต่ไม่ใช่การบำบัดดูแลที่ถูกต้อง เมื่อเริ่มมีอาการเสียวฟันก็ไม่ควรนิ่งนอนใจแล้ว ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาการเสียวฟันอาจจะเป็นสาเหตุของฟันผุ ซึ่งอาจจะโยงไปถึงเรื่องของระบบประสาทฟันได้
7 วิธีดูแล (ช่อง) ปากเลี่ยงโรค
-
- แปรงฟันให้ถูกวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3-5 นาที หรือบ้วนปากหลังอาหารทันที
- ควรล้างฟันปลอมชนิดถอดได้หลังอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณตะขอ และควรถอดออกเวลากลางคืน
- ควรกินอาหารเนื้อหยาบบ้าง เพื่อช่วยในการทำความสะอาดฟัน ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ต่างๆ เช่น ก้านผัก ฝรั่ง มันแกว เป็นต้น
- ควรใช้ฟันทุกซี่เคี้ยวอาหาร ไม่ควรถนัดเคี้ยวข้างเดียว เพื่อบริหารให้เหงือกและฟันแข็งแรง
- ควรงดสิ่งเสพติด จำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาฉุน และหมากพลู
- สำหรับผู้ที่มีอาการร้อนใน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หากแผลไม่หายภายในสามสัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์
- ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
ผลิตภัณฑ์ดี (ช่อง) ปากดี
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับแต่ละคนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีได้
แปรงสีฟัน ต้องเลือกขนาดที่พอเหมาะ มีส่วนโค้งงอที่สามารถเข้าไปทำความสะอาดถึงฟันกรามซี่ในสุดด้านบนได้ ขนแปรงที่ดีต้องไม่นุ่มเกินไป เพราะจะแปรงแผ่นคราบจุลินทรีย์ไม่ออก หรือไม่แข็งเกินไป เพราะจะทำให้ระคายเคืองต่อเหงือกและทำให้คอฟันสึกได้
ที่สำคัญคือ แปรงสีฟันต้องไม่เก่าเกินไป เพราะปลายจะแหลมขึ้นและบานออก ทำอันตรายต่อเหงือกได้เช่นกัน
ยาสีฟัน ตามทฤษฎีแล้ว ยาสีฟันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเท่าการแปรงฟันที่ถูกวิธี อย่างไรก็ตามยาสีฟันก็มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ที่ช่วยลดการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ และช่วยทำให้ลมปากหอมสดชื่นได้
น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ มีงานวิจัยพบว่า ฟลูออไรด์ช่วยให้ผิวเคลือบฟันแข็งแรงและต่อต้านการเกิดคราบแบคทีเรียได้ โดยเฉพาะซี่ฟันแท้ที่เพิ่งพ้นเหงือกขึ้นมา แต่การใช้น้ำยาบ้วนปากต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะน้ำยาบ้วนปากชนิดที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งข้างขวดมักจะเขียนคำว่า “Antiseptics” น้ำยาชนิดนี้ควรจะใช้เฉพาะเวลาที่มีการอักเสบ ติดเชื้อ และมีแผลในช่องปากหรือลำคอเท่านั้น
โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ ที่ได้รับการฉายแสงมา เนื่องจากคนเหล่านี้จะมีอาการคอแห้ง การหลั่งของน้ำลายจะน้อยกว่าคนอื่น และอัตราการเกิดโรคฟันผุก็จะมีมากกว่าคนปกติ ดังนั้นการใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมสารฟลูออไรด์จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้ฟันมากขึ้น
สำหรับคนปกติที่ใช้น้ำยาชนิดนี้บ้วนปากเป็นเวลานานๆ จะทำให้น้ำยาเข้าไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปากทั้งหมด เพราะในช่องปากมีเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ทำให้เกิดโรค หรือที่เรียกว่า Normal Flora อยู่มากกว่า 20 ชนิด เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้อาศัยอยู่ในปากเพื่อทำให้เกิดสมดุลต่อเชื้อรา (นิเวศน์ของช่องปาก) ซึ่งต่างก็ควบคุมการแพร่ขยายของกันและกัน
ไหมขัดฟัน “ซอกฟัน” เป็นบริเวณที่ขนแปรงเข้าไปไม่ถึง จึงจำเป็นต้องอาศัยไหมขัดฟันช่วยด้วยอีกวิธีหนึ่ง ดังนั้นหากคุณต้องการให้ฟันสะอาด ช่องปากปราศจากเชื้อโรคอย่างแท้จริง ควรใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง
ไม้จิ้มฟันช่วยได้ในกรณีที่ไม่มีไหมขัดฟัน ควรใช้วิธีเขี่ยเศษอาหารออก ไม่ควรจิ้มแบบแทงทะลุ เพราะจะทำให้ยอดเหงือกร่นลง ส่งผลให้เหงือกเป็นร่อง และเศษอาหารก็จะเข้าไปสะสมอีก