ทำคลอดผิดลูกสมองพิการ
น้องเจ้าของ –เด็กหญิง ณ.พรสรวง ประคุณวงศ์ ลูกสาววัยสองขวบเศษของคุณนฤพนธ์ ประคุณวงศ์และ คุณเศรษฐศิลป์ ศิรินรเศรษฐ์
“มีคนแนะนำว่าฝากครรภ์ระบบ 30 บาทก็ได้ และประหยัดค่าใช้จ่าย เก็บเงินค่าคลอดแพงๆไว้เลี้ยงลูกตอนคลอดออกมาแล้วดีกว่า เราก็เชื่อโดยเราไปฝากครรภ์ที่คลินิกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นคลินิกของหน่วยบริการปฐมภูมิประจำครอบครัว แต่เวลาคลอดต้องไปคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนที่ระบุไว้ในบัตรทอง และเราก็เข้าใจว่า คลินิกที่ตรวจและโรงพยาบาลต้องมีการส่งข้อมูลคนไข้ถึงกันอยู่แล้ว”
ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ไปตรวจตามหมอนัดทุกครั้งจนเลยกำหนดคลอดไปเกือบ 11 เดือน คุณหมอผู้ตรวจจึงจะออกใบส่งตัวเพื่อให้ไปโรงพยาบาลที่ระบุไว้ในบัตรทองเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยต่อว่าควรจะผ่าคลอดหรือไม่ ปรากฎว่าระหว่างรอวันจันทร์เพื่อจะขอใบส่งตัวจากคลินิกดังกล่าวไปโรงพยาบาล คุณเศรษฐศิลป์ก็มีอาการผิดปกติคือมีลิ่มเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดจึงรีบไปโรงพยาบาลที่ระบุไว้ในบัตรทอง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธและบอกว่าต้องนำใบส่งตัวมาด้วย
“สุดท้ายเราบอกเขาว่าจะจ่ายเองแต่ขอให้รับตัวไว้ก่อน เราไปถึงโรงพยาบาลตอนประมาณตีสี่ มอบสมุดฝากครรภ์ให้พยาบาลไว้ทุกอย่างแต่เขาไม่ได้ดูรายละเอียดในนั้นเลย เขาเพียงแค่ให้น้ำเกลือและเหมือนผสมน้ำยาเหลืองๆลงไป พอฉีดเข้าตัวเราสักพักก็เริ่มมีอาการปวดท้อง และพยาบาลพาเราไปที่ห้องทำคลอด ซึ่งระหว่างนั้นก็ให้เราเบ่งแต่เราเบ่งไม่ออก และได้ยินพยาบาลบอกว่าเด็กเริ่มมีการขับถ่ายแล้ว ให้เซ็ตห้องผ่าตัดด่วน”
“จนกระทั่งอยู่ในห้องผ่าตัดก็ผ่าตัดไม่ได้เพราะไม่มีหมอดมยา ต้องรอหมออีก รอจนถึง เจ็ดโมงเช้า จนเราทนไม่ไหวและสลบไป เมื่อรู้สึกตัวอีกที ก็จับหน้าท้องตัวเองก็นึกว่า หมอคงผ่าตัดทำคลอดแต่ปรากฎว่าไม่ใช่ หมอทำคลอดเราทางช่องคลอด แต่ด้วยความจำเป็นเพราะเด็กเคลื่อนตัวออกมาแล้วจึงไม่สามารถผ่าตัดคลอดได้”
“ปัญหาที่พบคือหมอไม่สามารถทำคลอดเด็กได้เพราะเด็กตัวใหญ่มากและแม่ก็ตัวเล็กแถมอายุมากแล้วจึงต้องใช้เครื่องช่วยดึง จึงทำให้ลูกติดอยู่ในช่องคลอดและขาดอากาศหายใจไปหลายนาที และการดึงก็ทำให้เส้นประสาทที่ไหลขาด ลูกกลายเป็นเด็กสมองพิการ แขนลีบ”
“และเราทราบมาทีหลังคือระบบ 30 บาทสามารถให้พยาบาลวิชาชีพทำคลอดได้ โดยไม่ต้องส่งต่อหมอ ซึ่งในเคสอย่างนี้เป็นเคสเสี่ยงพยาบาลไม่ควรจะทำ และเราก็เข้าใจได้ว่าเป็นระบบจัดการของโรงพยาบาลซึ่งจะโทษเจ้าหน้าที่เล็กๆไม่ได้ ทุกคนทำตามนโยบายซึ่งน่าจะเห็นใจคนไข้บ้าง”
คุณเศรษฐศิลป์ฝากถึงผู้อ่าน
“สิ่งที่เราคิดได้จากเหตุการณ์นี้คือ หนึ่ง ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วโรงพยาบาลมีเครื่องไม้เครื่องมือหรือบุคลากรไม่พร้อม เราสามารถร้องขอให้ย้ายไปทำคลอดที่อื่นได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะทำได้ สอง เราต้องศึกษาข้อมูลของระบบสวัสดิการที่เลือกใช้ให้ละเอียดว่ามีขั้นตอนอย่างไร”