เคยสังเกตกันมั้ยคะว่า เวลาที่คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย หรือผู้สูงอายุ ในบ้านของเรารับประทานอาหารได้น้อยลง กินอะไรไม่ค่อยได้ เรามักจะมองกันว่าเป็นเรื่องปกติ คิดว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะพวกท่านมีอายุมากแล้ว หรือมาจากความเสื่อมของร่างกายทำให้กินอะไรได้น้อยกว่าคนวัยอื่นๆ ก็เลยอาจปล่อยเลยตามเลย ซึ่งความเข้าใจแบบนี้บอกเลยว่าเป็นความคิดที่ผิด และจะนำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของภาวะขาดสารอาหารกับผู้สูงอายุที่เรารักได้
เมื่อพูดถึงเรื่องการกินอาหารไม่ค่อยได้ อันจะนำมาสู่ “ภาวะขาดสารอาหาร” ในผู้สูงวันนั้น มีผลงานวิจัยระบุออกมาว่า เมื่อคนเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้น การรับกลิ่นและรสจะเปลี่ยนไป จนเกิดอาการเบื่ออาหาร กินน้อย หรือบางคนเลือกกิน ทำให้กินไม่หลากหลาย พอนานวันเข้า สารอาหารที่ได้รับจะไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ขาดสารอาหารบางอย่าง ไม่ร่าเริง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ในระยะยาวจะสะสมจนทำให้ สมองทำงานไม่เต็มที่ ผิวพรรณไม่ดี แผลหายช้าลง เคลื่อนไหวลำบากไม่เหมือนที่เคย และคุณภาพชีวิตโดยรวมย่ำแย่
และเมื่อลูกหลาน หรือผู้ดูแลเข้าใจผิดว่า อาการดังกล่าวเป็นอาการทั่วไปของคนชราและปล่อยปละละเลย จนเกิดภาวะขาดสารอาหารสะสมทีละนิด โดยไม่รู้ตัว และมักจะส่งผลให้น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ กล้ามเนื้อค่อย ๆ ลีบลง ซึ่งหากได้รับโภชนาการที่ดีแล้ว บางรายอาจฟื้นตัวและกลับมามีกำลังวังชาได้อีกครั้ง การดูแลให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารให้ครบ 5 หมู่จึงสำคัญ
สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุขาดสารอาหาร ได้แก่
ภาวะขาดสารอาหารของผู้สูงอายุ มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ
- การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารที่ทำหน้าที่ได้ลดลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เมื่ออายุเพิ่มการทำงานระบบต่างๆ ในร่างกายก็ทำงานช้าลง ผลกระทบก็ต่อเนื่องมาถึงการกินอาหารได้น้อยลงตามไปด้วย บางครั้งผู้สูงอายุอาจจะเกิดความรู้สึกหิว แต่ระบบสั่งการทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ หรือกินได้นิดเดียวก็รู้สึกอืดแน่นท้อง เป็นต้น หรือแม้แต่ฟันที่หลุดร่วงจึงจำเป็นต้องใส่ฟันปลอม ทำให้การเคี้ยวอาหารได้ไม่สะดวก เมื่อเกิดความไม่สะดวกก็อาจทำให้ไม่อยากกินอาหารต่อ อิ่มไว ทั้งๆ ที่ร่างกายยังต้องการอาหารอยู่ก็ตาม การที่ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายลดลงส่งผลให้การย่อยโดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งลดลง และมีปากลิ้นแห้ง การรับรู้รสลดลง เนื่องจากต่อมรับรสมีจำนวนลดลงสาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะเบื่ออาหารมากขึ้น ร่วมกับมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดน้อยลงอาหาร จึงค้างอยู่ในกระเพาะนานขึ้น ผู้สูงอายุจึงมีความรู้สึกหิวน้อยลง
- ปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 3 เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่างน้อยคนละ 1 โรค และอย่างน้อยร้อยละ 70 เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรคร่วมกัน เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุต้องมีข้อจำกัดในการเลือกรับประทานอาหาร เช่น โรคไตวายเรื้อรังต้องลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มหรือผลไม้บางประเภท ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรต้องลดอาหารที่มีรสหวานจัด อาหารทอด หรืออาหารมัน เป็นต้น ข้อจำกัดเหล่านี้อาจทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารไม่อร่อยเพราะรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยรับประทานจึงทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
3. ผลข้างเคียงจากยา เมื่อมีโรคประจำตัว ทำให้ต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง การรับประทานยาเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สำคัญและหลีกเลี่ยงได้ยาก ยาที่ผู้สูงอายุรับประทานอาจมีผลข้างเคียงรบกวนกระบวนการย่อยและการดูดซึมสารอาหารของร่างกาย โดยผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ทำให้ต้องมีการใช้ยาร่วมกันหลายชนิด เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบจากการใช้ยาต่อภาวะโภชนาการได้มากกว่าวัยหนุ่ม
4. ปัญหาด้านจิตใจ เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ผู้สูงอายุมักอาศัยอยู่ตามลำพัง มีการสูญเสียคู่ชีวิต หรือขาดการดูแลจากลูกหลาน ทำให้ผู้สูงอายุ เกิดภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่ายและรับประทานอาหารน้อยลง ร่วมกับขาดการช่วยเหลือดูแลในการจัดเตรียมอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความต้องการของผู้สูงอายุ