ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเสื่อมถอยของการทํางานอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมักมีโรคร่วมหลายอย่างและมีอาการที่ไม่ตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มในการใช้ยารักษาโรคหลายชนิด ทําให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เหตุเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะฉุกเฉินในผู้สูงอายุตามมา นําไปสู่การเกิดภาวะทุพพลภาพและอาจเสียชีวิตได้
ดังนั้นการให้คําแนะนําในการช่วยเหลือผู้สูงอายุเบื้องต้น รวมถึง การแจ้งเหตุเมื่อพบภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุวิกฤตเจ็บป่วยฉุกเฉิน อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ย่อมทําให้โอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น ดังนั้น การมีความรู้ความเข้าใจในการช่วยเหลือชีวิตขั้นต้น จึงเป็นบทบาทสําคัญในการช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว สิ่งที่ควรต้องทำการศึกษาให้ดีก็น่าจะเป็นเรื่องของการปฐมพยาบาลผู้สูงอายุในเบื้องต้นกันก่อนเลยค่ะ ไปดูกันว่าอาการยอดฮิตที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยกับผู้สูงอายุ พร้อมวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น มีอะไรบ้าง
การปฐมพยาบาลอาการยอดฮิต
หกล้ม
อุบัติเหตุที่น่ากลัวที่สุดของผู้สูงอายุ เป็นได้ตั้งแต่แผลฟกช้ำ ปวดเมื่อยตามตัว ไปจนถึงมีอาการกระดูกหัก หรือเลือดคั่งในสมองได้เลย มักเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน และเป็นอาการนําของการเจ็บป่วยของโรคทางกายต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย เช่น ฟกช้ำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บาดเจ็บรุนแรงจนทําให้เกิดกระดูกหักเลือดออกภายในสมอง โดยสาเหตุแบ่งเป็น 2 ปัจจัย คือ
ปัจจัยเสี่ยงภายนอก คือ สภาพแวดล้อมภายนอก เช่น มีของเกะกะบนพื้น พื้นลื่น ระดับพื้นที่แตกต่างกัน แสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงภายใน คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อระบบต่างๆ ของร่างกายที่มีผลต่อการควบคุมร่างกายของผู้สูงอายุ เช่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โรคประจําตัว การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น
อย่างแรกคนใกล้ชิดต้องลองตรวจสอบการตอบสนองก่อน ด้วยการถามชื่อ ตัวตน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้ารู้สึกว่าการตอบสนองช้าลงให้รีบไปพบแพทย์ทันที จากนั้นลองสังเกตบริเวณที่ปวดว่าขยับได้ไหม บวม หรือผิดรูปไหม ถ้าผิดรูปก็ให้ไปพบแพทย์เช่นกัน
ห้ามเลือด
สิ่งที่มักพบเห็นบ่อยๆ เมื่อผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุคือ อาการเลือดตกยางออก หลายคนเมื่อเห็นเลือดแล้วเกิดอาการตกใจ ทำอะไรไม่ถูก จนอาจทำให้ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะอันตรายจากการเสียเลือดมาก เพราะ ห้ามเลือด ผิดวิธีหรือ ห้ามเลือด ไม่ทัน
สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติเมื่อมีบาดแผลเลือดออก คือต้องรีบใช้ผ้าสะอาดหรือนิ้วมือกดลงบนแผลหรือตำแหน่งที่มีเลือดออกก่อน แล้วจัดการให้ผู้สูงอายุนอนยกบาดแผลให้อยู่สูงกว่าบริเวณหน้าอกหรือหัวใจ จะทำให้เลือดออกน้อยลง และหยุดได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ามีเลือดออกมากให้รีบกดไปที่เส้นเลือดใหญ่ แล้วเลือดจะไม่ไหลเข้ามาที่บาดแผล ส่วนเลือดที่ไหลอยู่ก่อนแล้วจะมีโอกาสแข็งตัว ซึ่งนั่นเป็นการห้ามเลือดไปในตัว
กระดูกหัก
เมื่อเห็นอวัยวะผิดรูปเมื่อไร พยายามอย่าดึงหรือจัดกระดูกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง ถ้าต้องถอดเสื้อผ้าออกให้ตัดตามตะเข็บ ใช้หมอน ผ้า ประคองให้อยู่ท่าที่สบายและนิ่ง แล้วใช้ไม้กระดาน กิ่งไม้หรือกระดาษแข็งมาพันกับผ้าเพื่อทำเป็นเฝือกชั่วคราว ประคบด้วยผ้าหรือถุงใส่น้ำแข็ง แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล สำคัญที่สุดคือให้อวัยวะที่ หักอยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว หรือได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด