ผู้สูงอายุกับปัญหา โรคติดต่อ ที่ทุกคนควรต้องรู้ไว้
เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมเริ่มมี โรคภัยไข้เจ็บ หรืออาจจะเกิด โรคติดต่อ ได้ง่าย หากผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพ ให้ดีก็จะเป็นการป้องกันโรควิธีหนึ่ง หรือถึงแม้บางโรคอาจป้องกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นการลดปัญหาที่อาจเกิดจากความเจ็บป่วยนั้นลง เราจะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุมักมีความเจ็บป่วยทางร่างกายหลายอย่าง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่ดีเหมือนเดิม ภูมิคุ้มกันลดลง โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ง่าย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อได้ง่ายด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลที่เคยอ่านเจอมา เรื่องของโรคติดต่อในผู้สูงอายุที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ และเชื้อดื้อยา ซึ่งมักติดมากจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย หากคนทั่วไปติดเชื้อมักเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังแต่ผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอจะมีอาการหนักกว่า
การแพร่เชื้อดื้อยา MRSA
ละอองจากการไอและจาม ละอองเชื้อโรคที่ลอยอยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเข้าไปก็ติดเชื้อได้ทันที โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
อากาศในโรงพยาบาล เชื้อโรคจากฟูกนอนหรือพื้นห้องที่ฟุ้งกระจายเวลาทำความสะอาดเมื่อหายใจเข้าทางปากหรือจมูกก็จะติดเชื้อได้
การสัมผัส เชื้อโรคจากตัวและเสื้อผ้าของผู้ป่วย เมื่อหยิบอาหารใส่ปากหรือสัมผัสกันก็ติดเชื้อโรคได้ทันที
วิธีป้องกันเชื้อดื้อยา MRSA
มีกฏอยู่ 3 ข้อที่ควรปฏิบัติ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การตัดตอนการแพร่กระจายของเชื้อด้วยการรักษาความสะอาด เช่น การกลั้วคอและล้างมือเป็นประจำ จึงควรฝึกให้เป็นนิสัย
กฏ 3 ข้อป้องกันเชื้อดื้อยา MRSA
กำจัดต้นตอของโรค การตรวจพบผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว กำจัดต้นตอของโรคออกไป และฆ่าเชื้อเป็นประจำ
ตัดตอนการแพร่กระจายของเชื้อโรค การกลั้วคอเมื่อกลับเข้าบ้านการล้างมือ และการสวมหน้ากากอนามัยเป็นด่านแรกในการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ตนเองและไม่แพร่กระจายไปยังผู้อื่น
เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน กินอาหารที่มีประโยชน์นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง
ชนิดและวิธีรับมือกับโรคติดต่อและอาหารเป็นพิษ
โรคติดต่อเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่เชื้อโรคกระจายอยู่ในอากาศได้ง่าย โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อโนโรไวรัส ผู้สูงอายุที่ได้รับเชื้อมักมีอาการรุนแรงอีกทั้งยังมีโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเช่นกัน จึงต้องระวังเป็นพิเศษ
ทีนี้เราลองมาดูโรคติดต่อที่พบได้มากในวัยสูงอายุกันดีกว่าค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง
โรคปอดบวม
โรคนี้สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าไปในปอดจนเกิดอาการอักเสบ
อาการ ไอ มีเสมหะ มีไข้ ปวดเมื่อตัว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ถ้าเป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบและโลหิตเป็นพิษ
การดูแลรักษา คือ ต้องคอยสังเกตว่ามีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหารและหายใจถี่หรือไม่ ถ้าเป็นหวัดให้รีบไปพบแพทย์ รีบรักษาโดยเร็ว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
โรคไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการได้รับเชื้อจากการไอ หรือ จามของผู้มีเชื้อไข้หวัดใหญ่
อาการ ไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก มีไข้ 38 องศาขึ้นไป ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย
การดูแลรักษา คือ ต้องล้างมือและกลั้วคอเป็นประจำ ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออกนอกบ้าน นอนหลับและกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และรับวัคซีนทุกปี
อาหารเป็นพิษ
เกิดจากเชื้อโนโรไวรัส เช่น กินหอยนางรมหรือหอยสองฝาที่มีเชื้อโรคอยู่อาจทำให้ติดเชื้อ ระบาดหนัก เป็นต้น
อาการ ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ ติดต่อกันหลายวัน สำหรับผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ ควรระวังภาวะขาดน้ำด้วย
การดูแลรักษา ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ สวมหน้ากากอนามัย หากต้องทำความสะอาดผู้ป่วยควรใส่ถุงมือทุกครั้ง
เชื้อ อี. โคไล
สาเหตุ ปนเปื้อนจากอุจาระของผู้ที่ติดเชื้อ อี. โคไล ทำให้เชื้อกระจายสู่ภายนอกร่างกาย เมื่อผู้สูงอายุกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปจึงติดเชื้อ
อาการ ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือดติดต่อกันหลายวัน หากเชื้อเข้าสู่ไตทำให้ปัสสาวะลำบาก หรืออาจทำให้เลือดเป็นพิษ
การดูแลรักษา ควรล้างมือเป็นประจำ รักษาคสามสะอาดเครื่องครัวและอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร อย่ากินอาหารที่ทำทิ้งใว้นานโดยไม่อุ่น หรือ แช่เย็น และปรุงอาหารให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง
อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุรวมถึงวิธีป้องกันและดูแล จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อีกยาวนานด้วยสุขภาพที่ดีและมีชีวิตชีวา ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวผู้สูงอายุเองควรต้องศึกษาเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและเมื่อพบโรคหรือความผิดปกติต่างๆ ควรรับการตรวจรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเหมาะสมกับวัยรวมถึงลูกหลานก็ต้องหมั่นเอาใจใส่ พร้อมสังเกตอาการของท่านให้ดีเช่นกันค่ะ
ข้อมูลจาก: เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และหนังสือคู่มือดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง AMARIN
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ