จากปรากฏการณ์ฝุ่นล้อมเมืองที่เริ่มส่งผลรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนในเมืองหลวงเป็นวงกว้าง เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นภัยที่มองไม่เห็น ไม่มีกลิ่น แถมยังเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายจากการการสูดดมทางโพรงจมูก และจากรายงานข่าวล่าสุดจากกรมควบคุมมลพิษบอกมาว่า เจ้าฝุ่นจิ๋วตัวร้ายนี้จะกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม
และเราทุกคนต่างก็รู้และเข้าใจกันดีถึงภัยของฝุ่น PM 2.5ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้สำรวจพบว่า มีประชากรที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านคนในแต่ละปี นั่นเพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบขึ้น และเป็นเหตุให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ นั่นเอง
สำหรับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลายคนคงกังวลเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่กระจายตัวอย่างรุนแรงและมีค่าความเข้มข้นสูงขึ้นทุกวัน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษออกมาระบุแล้วว่า เจ้าฝุ่นตัวร้ายนี้ จะกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือน ธันวาคา 2562 นี้ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายด้าน “ผู้สูงอายุ” และผู้ป่วย เป็นอีกกลุ่มที่เราไม่ควรมองข้ามและต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษค่ะ
ฝุ่น PM2.5 กระทบสมอง ปอด หัวใจ ของผู้สูงอายุ
ฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 อาจส่งผลต่ออวัยวะของคนเราได้ง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 3 ส่วน ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างเช่น ระวังเรื่องของ “สมอง” เพราะ PM 2.5 อาจทำให้เกิดอาการความดันโลหิตสูงมากขึ้น หลอดเลือดในสมองแข็งตัว และเกิดลิ่มเลือดในสมองได้
อีกสิ่งที่ต้องระวังให้ดีคือ “ปอด” เมื่อผู้สูงอายุสูดหายใจฝุ่น PM 2.5 เข้าไปสะสมจำนวนมาก อาจทำให้เกิดอาการหอบหืด ถุงลมอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ ซึ่งเพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดได้ รวมถึง “หัวใจ” ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ หัวใจวายในผู้สูงอายุได้
การดูแลและป้องกันผู้สูงอายุและผู้ป่วยจากฝุ่น PM 2.5
สำหรับการดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 นั้นก็มีด้วยกันหลายวิธี อยู่ที่ว่าผู้สูงอายุเอง หรือผู้ดูแลควรต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของร่างกายนะคะ
- ควรหลีกเลี่ยงการพาผู้สูงอายุและผู้ป่วยไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก เช่น ในเมืองหรือบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้า
- หากจำเป็นต้องพาผู้ป่วยและผู้สูงอายุออกนอกอาคาร ควรให้ใส่หน้ากากกรองอากาศชนิดกรองอนุภาคสำหรับฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเฉพาะ และใส่แว่นตากันแดด เพื่อช่วยป้องกันฝุ่นละอองเข้าตา
- หลังออกนอกสถานที่ ควรล้างมือ ล้างหน้าให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยทุกครั้ง เพื่อลดสิ่งสกปรกและคราบฝุ่นที่ตกค้างหรือปนเปื้อน
- ควรดูแลให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุนอนพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งดื่มน้ำสะอาด
- ในช่วงนี้ควรดูแลสิ่งแวดล้อมในบ้านให้สะอาดเป็นพิเศษ และปิดหน้าต่าง เปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันฝุ่นเข้ามาในบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ผู้ป่วยและผู้สูงอายุใช้งานบ่อยครั้ง เช่น ห้องนอน หรือห้องน้ำ
- ควรดูแลเช็ดทำความสะอาดพื้นบ้าน และเฟอร์นิเจอร์บ่อยครั้งมากขึ้น เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละออง
- ควรติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องนอนผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เพื่อช่วยกรองและฟอกอากาศให้สะอาดมากขึ้น
- สำหรับผู้สูงอายุที่ชอบออกกำลังในช่วงเช้า ควรเปลี่ยนเป็นออกกำลังกายในบ้านหรือในฟิตเนสแทน
ที่สำคัญควรเลือกหน้ากากที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย ซึ่งการเลือกหน้ากากป้องกันและกรองฝุ่น PM 2.5 ให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย ควรเลือกให้เหมาะสมและคำนึงถึงการใช้ของคนทั้งสองกลุ่มด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุควรสวมใส่ให้ถูกวิธี คือ ต้องปิดจนไม่มีลมผ่านบริเวณช่องรอบๆ หน้ากาก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุหายใจลำบาก จึงไม่แนะนำให้ใส่นานๆ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหน้ามืดได้ ควรสวมใส่ในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ในช่วงที่มีความจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ในกรณีที่ไม่สามารถหาซื้อหน้ากากกรองอากาศชนิดกรองอนุภาคสำหรับฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ และมีความจำเป็นต้องออกนอกสถาน แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาแทนชั่วคราว
ประเภทของหน้ากากอนามัยและการเลือกใช้ให้เหมาะสม
หน้ากากอนามัยชนิด N95 เป็นหน้ากากอนามัยที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ เป็นหน้ากากที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด เพราะป้องกันได้ทั้งฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน เหมาะสำหรับป้องกันมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ควันพิษ ไอเสียรถยนต์ และไอระเหยของสารเคมีต่างๆ
หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น หรือที่เรียกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เป็นแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย หาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไป เน้นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการไอหรือจามจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้ แต่หากเป็นเชื้อไวรัสหรือฝุ่นซึ่งมีอนุภาคเล็กระดับไมครอน อาจไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่เพียงพอหากต้องการป้องกันฝุ่น PM 2.5 และควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่แนะนำให้ใช้ซ้ำ
หน้ากากอนามัยแบบผ้าฝ้าย ระดับความป้องกันไม่แตกต่างจากหน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ เน้นการป้องกันการกระจายของน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอจาม สามารถป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอนขึ้นไป จึงไม่เหมาะกับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 แต่มีข้อดี คือ ประหยัด สามารถนำไปซักกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ