โรคปอดอันตราย

“วัณโรคปอด” โรคร้ายทำลายระบบหายใจ

“วัณโรคปอด” โรคร้ายทำลายระบบหายใจ

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการบันเทิงที่ได้สูญเสียดาวตลกชื่อดังอย่าง  “โรเบิร์ต สายควัน” ไป ด้วยวัย 54 ปี ซึ่งก่อนก่อนหน้านี้ตามรายงานข่าวแจ้งว่าแพทย์ไม่พบเชื้อมะเร็งในร่างกายโรเบิร์ตแล้ว แต่พบเชื้อวัณโรคแทน ซึ่งโรเบิร์ตได้รักษาโรคมะเร็งจนหาย แต่เหลือปอดข้างเดียวและพบเชื้อวัณโรคทำให้ต้องเข้ารักษาในห้องไอซียูและเสียชีวิตลง

การจากไปของคุณโรเบิร์ตในครั้งนี้ ทำให้ “วัณโรคปอด” อีกหนึ่งโรคร้ายที่เข้ามาทำลายระบบทางเดินหายใจของคนเราเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งซึ่งหลายคนอาจหลงลืมไปว่านี่เป็นอีกหนึ่วโรคที่ครต้องระวัง ดังนั้นวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ

“วัณโรคปอด” เป็นโรคติดต่อที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก และยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งหากไม่รู้ทันอาการวัณโรคปอด เสี่ยงในการติดต่อแพร่เชื้อ ถ้าเป็นแล้ว ไม่รีบพบแพทย์เพื่อรักษา อาจสายเกินไป

ผศ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยบอกไว้ในรายการพบหมอรามาเกี่ยวกับอาการวัณโรคปอด สรุปได้ว่าผู้ป่วยจะมีไอเรื้อรังนานกว่า 3-8 สัปดาห์ บางคนไอเป็นเลือด ผอม น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย สำหรับการตรวจวินิจฉัยวัณโรค ทำได้โดยการหาเชื้อวัณโรคในเสมหะ แต่กรณีเชื้อยังน้อยจะวินิจฉัยไม่ได้ จึงต้องเพาะเชื้อ แต่ใช้เวลานาน 6 สัปดาห์ หรือตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อ

วัณโรค

สำหรับสาเหตุการเกิดวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงาน นั้นปัจจุบันผู้ป่วยวัณโรคเป็นคนวัยทำงานมากขึ้น เพราะตัวโรคตลอดจนพฤติกรรมบางอย่างเป็นปัจจัยเอื้อให้ป่วยเป็นวัณโรค เช่น การทำงานในห้องเดียวกันหรือต้องนั่งรถคันเดียวกัน กับผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้กินยารักษาวัณโรค หรือกินยาไม่สม่ำเสมอทำให้มีโอกาสสูดหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ปอดจนติดเชื้อได้

การอยู่อย่างแออัดในที่อับอากาศ เช่น โรงภาพยนตร์ห้องร้องคาราโอเกะ รถแท็กซี่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคเข้าไปใช้บริการก่อนสำหรับคนทำงานที่ ติดบุหรี่ ควันบุหรี่ทำให้ถุงลมโป่งพอง ส่งผลให้ทางเดินหายใจไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่มากับฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยง เพราะตับเป็นอวัยวะสำคัญในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย เหล้าทำลายตับ ภูมิคุ้มกันจึงอ่อนแอลงจนกักกันเชื้อวัณโรคที่หลบซ่อนอยู่ในร่างกายไม่อยู่ ทำให้ป่วยเป็นวัณโรคได้ง่าย

นอกจากนี้ การป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เอดส์ มะเร็งเบาหวาน โรคตับ ไต หรือเอสแอลอี ผู้ป่วยโรคเรื้อรังดังกล่าวต้องกินยากดภูมิ ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือได้รับยาเคมีบำบัดทำให้ภูมิชีวิตอ่อนแอจนกักกันเชื้อวัณโรคไว้ไม่อยู่ เชื้อสามารถขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนจนทำให้ป่วยเป็นวัณโรคได้”

นี่คือผลกระทบจากโรคระบบทางเดินหายใจ ที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพ ประสิทธิภาพการทำงาน เงินทอง และเวลา หากยังปล่อยให้ปัญหาดำเนินต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทุกพื้นที่ในบ้านเราเต็มไปด้วยผู้ป่วยเหล่านี้

โรคปอด

กลไกการติดเชื้อวัณโรค

นายแพทย์ยุทธิชัย เกษตรเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักวัณโรคกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายกลไกการติดเชื้อวัณโรคว่า

ผู้ป่วยแพร่เชื้อวัณโรคได้ทางเดียวคือ ทางละอองเสมหะจากการไอ จาม ตะโกน หรือตะเบ็งเสียง แต่การหายใจตามปกติจะไม่มีละอองเสมหะออกมา

ปอดของเรามีหลอดลมที่แยกแขนงเล็กลงๆ จนถึงปลายสุดของหลอดลม เรียกว่า ถุงลมปอด ซึ่งมีอยู่ประมาณสามร้อยล้านถุง รอบถุงลมยังมีเส้นเลือดฝอยห่อหุ้มอยู่ เพื่อดูดซับออกซิเจนจากถุงลมไปเลี้ยงร่างกาย

เมื่อเราสูดหายใจเอาฝอยละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไป เชื้อวัณโรคในละอองฝอยขนาดเล็กจะเข้าไปถึงถุงลมได้ ขณะที่ละอองใหญ่จะติดอยู่ที่ขนจมูกหรือขนที่หลอดลม (Cilia) และน้ำเมือกตามผนังหลอดลม ซึ่งสามารถกำจัดออกได้โดยการไอหรือจาม และทอนซิลก็จะช่วยกำจัดเชื้อโรคได้อีกทาง

เอ๊กซเรย์ปอด

ภายในถุงลมจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งเรียกว่า “แมโครฟาจ” (Macrophage) มีหน้าที่กินและทำลายเชื้อโรคที่ลอยเข้ามาในถุงลม ซึ่งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราส่วนใหญ่จะถูกกำจัดโดยแมโครฟาจ แต่เชื้อวัณโรคมีผนังเซลล์พิเศษกว่าเชื้ออื่น จึงสามารถอยู่ในแมโครฟาจได้ และขยายพันธุ์แบ่งตัวในแมโครฟาจนี่เอง

เมื่อแมโครฟาจติดเชื้อวัณโรค เม็ดเลือดขาวจะเข้ามาโอบล้อมแมโครฟาจนั้นไว้ เพื่อกักมิให้เชื้อวัณโรคออกมาจากแมโครฟาจ เราเรียกผู้ที่มีเชื้อวัณโรคหลบซ่อนอยู่ในแมโครฟาจนี้ว่า “วัณโรคแฝง” หรือ “ผู้ติดเชื้อวัณโรค” (Latent TB Infection) ระยะนี้จะไม่มีอาการใดๆ และไม่สามารถแพร่เชื้อวัณโรคแก่ใครได้

อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่ติดเชื้อวัณโรคแล้วไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกคน เพราะตามสถิติพบว่า ประมาณ10 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติดเชื้อเท่านั้นที่ป่วย และจะทยอยป่วย ไม่ได้ป่วยทันที เช่น บางคนติดเชื้อตั้งแต่เด็ก อาจจะมาป่วยตอนอายุ 60 ถึง 70 ปีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีภูมิชีวิตแข็งแรงหรือไม่

ไอเรื้อรัง

ทางรอดวัณโรค

แม้วัณโรคจะเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ก็ป้องกันและรักษาได้ คุณหมอศรีประพาและคุณหมอยุทธิชัยแนะนำดังต่อไปนี้

  1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะภูมิคุ้มกันจะช่วยกักกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้
  2. อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทดี มีแสงแดดส่องถึง จะช่วยให้ปริมาณเชื้อวัณโรคเบาบางลง เนื่องจากเชื้อไม่ทนต่อแสงแดด แต่จะอยู่ได้นานเป็นเดือน ในอุณหภูมิห้อง
  3. ผู้ป่วยต้องใช้ผ้าปิดจมูกเวลาไอหรือจามจะช่วยเก็บละอองเสมหะไว้ได้เกือบหมด ลดโอกาสแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิด
  4. ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาครบถ้วน จะช่วยให้แพร่เชื้อน้อยลงได้เมื่อกินยาครบ 2 สัปดาห์ และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยควรมีพี่เลี้ยงดูแลและติดตามการกินยา เพื่อช่วยจัดยาให้ผู้ป่วยกินทุกวันต่อหน้าพี่เลี้ยง รวมถึงควรบันทึกการกินยาทุกครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน วิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ลืมกินยา ไม่ขาดยาและไม่เกิดเชื้อดื้อยา

 เมื่อไรควรไปตรวจวัณโรค

หากมีอาการไอค็อกแค็กอยู่เป็นประจำ อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของวัณโรค

แนะนำให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้

  • ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาจไอมีเลือดปนหรือมีเสมหะสีเหลืองปนเขียว อาการมักคล้ายไข้หวัด
  • มีไข้ต่ำ และมักเป็นช่วงบ่าย
  • เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดลงเกิน 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ใน 1 เดือน

 

ข้อมูลประกอบจจาก:  คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 291

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

จิบน้ำขมิ้นชัน ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เเชร์สนั่นโลกออนไลน์

วิจัยใหม่ชี้ ตรวจเลือด สามารถระบุโรคมะเร็งได้ก่อนแสดงอาการถึง 4 ปี

Diet Plane : อาหารบำรุงเลือด ป้องกัน โลหิตจาง

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.