การนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

ทำอย่าไรเมื่อผู้สูงวัย นอนไม่ค่อยหลับ

ทำอย่าไรเมื่อผู้สูงวัยมี อาการนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับ เป็นอาการหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เนื่องจากสมองทำงานไม่เป็นปกติ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปที่อยู่ในชุมชนจะมีปัญหานอนไม่หลับมากกว่าครึ่ง ยิ่งกว่านั้น อาการนอนไม่หลับอาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่นๆ ทางสมอง การนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ มาจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

การเปลี่ยนแปลงของอายุที่มากขึ้น โดยปกติเมื่อเราอายุเพิ่มขึ้น สมองก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ส่งผลกับการนอนของผู้สูงอายุ คือ ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น (ตอนที่กำลังเคลิ้ม แต่ยังไม่หลับสนิท) จะยาวขึ้น

ขณะที่ช่วงระยะที่หลับสนิทจริงๆ จะลดลง มีการตื่นขึ้นบ่อยๆ กลางดึก อย่างไรก็ตามแม้ผู้สูงอายุจะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจสมวัย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองนอนน้อยลง หรือคิดไปว่านอนไม่หลับ แต่มีข้อที่น่าสังเกต คือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนว่านอนไม่หลับแต่ช่วงกลางวันมักจะไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอนแต่อย่างใด

มีโรคซ่อนอยู่ ยาบางประเภทโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลาง หรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น ใช้ยานอนหลับนานๆ ยารักษาอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าใน

โรคพาร์กินสัน หรือบางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับโรคทางสมอง เช่น แอลกอฮอล์ในยาน้ำแก้ไอ หรือ คาเฟอีนที่ผสมอยู่ในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุหยุดการใช้ยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน ก็จะมีผลต่อการนอนด้วย เช่น ผู้เป็นเบาหวาน ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้งและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่การใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจวาย ก็ทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย

 

ความเจ็บปวดทางกายจะมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุเสมอ ที่พบบ่อยมักเกิดจากโรคของกระดูกและข้อเสื่อม ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้ เช่น ข้อเข่าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอาการเจ็บปวดที่เกิดจากอวัยวะภายในช่องท้อง อาทิ ท้องผูก แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เป็นต้น ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อมในระยะแรกจะมีอาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุ โดยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติแต่ตื่นขึ้นกลางดึก เช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก

จากสาเหตุของการนอนไม่หลับที่กล่าวมาข้างต้น จึงจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับการซักประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการนอน และรับการตรวจร่างกายจากแพทย์โดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการนอนไม่หลับในแต่ละราย

ข้อปฏิบัติที่ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับในผู้สูงวัย

  • พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะการทานในเวลาเย็น เป็นต้น
  • ไม่ควรดื่มน้ำในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆ
  • เพิ่มกิจกรรม หรือการออกกำลังกาย ในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น
  • ถ้าผู้สูงอายุไม่มีอาการง่วงนอนเมื่อถึงเวลาเข้านอน และไม่สามารถนอนหลับได้ ก็ควรลุกขึ้นมาหาอะไรทำ ดีกว่าที่จะนอนกลิ้งไปมาบนเตียง
  • กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่ สม่ำเสมอ และควรจะเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง
  • พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบ และมืดพอสมควร ไม่ร้อน หรือหนาวเกินไป
  • ฝึกการทำสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบ

 

โรคที่มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัว โรคประจำตัวหลายโรคก็มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ เช่น  โรคปวดข้อปวดหลังมักจะปวดตอนกลางคืนทำให้ต้องตื่นบ่อย โรคหัวใจวายที่ยังคุมไม่ดีเมื่อนอนราบจะมีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออกต้องตื่นลุกขึ้นนั่งเมื่อหายแน่นจึงนอนต่อ การกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ อาการหอบเหนื่อยจากภาวะถุงลมโป่งพอง ภาวะสมองเสื่อมที่ทำให้การรับรู้เปลี่ยนแปลง เป็นต้น การดูแลเรื่องการนอนหลับให้ดีจึงต้องรักษาปัจจัยเหล่านี้ด้วย

แต่ทั้งนี้ผู้สูงอายุบางรายอาจจะมีปัจจัยด้านจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้รบกวนการนอนได้เช่นกัน  บ่อยครั้งที่พบว่าการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  เช่น  คู่ชีวิต  เพื่อน คนใกล้ชิด หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่อยู่ด้วยกันมานานก็มักจะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า การสูญเสียบทบาทหน้าที่ในสังคม  การสูญเสียภาพลักษณ์ การสูญเสียความเคารพนับถือจากบุคคลรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อจิตใจ ซึ่งทำให้กระทบต่อการนอนได้เช่นกัน

หากผู้ดูแลมีความเข้าใจในข้อจำกัดและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุแล้ว  การดูแลอย่างเข้าใจก็เป็นเรื่องไม่ยาก ทั้งนี้ต้องระลึกเสมอว่าผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ผ่านประสบการณ์ในการใช้ชีวิตผ่านช่วงวัยต่างๆ มา การเคารพนับถือและให้เกียรติในทุกการกระทำจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะในอนาคตตัวเราเองก็จะต้องก้าวเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุเช่นเดียวกัน

ข้อมูลประกอบจาก: โรงพยาบาลเปาโล, ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.