สมุนไพรควบคุมน้ำตาล กินอย่างไรถึงปลอดภัย บรรเทาโรค
ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจระดับน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน อีกทั้งยังต้องดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญ ควรควบคุมปริมาณอาหารหรือเลือกกินอาหารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างพืชสมุนไพร คุณกรรณิการ์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรและคลุกคลีอยู่ในวงการสมุนไพรอย่างยาวนาน ได้แนะนำ สมุนไพรควบคุมน้ำตาล ไว้ดังนี้
มะระขี้นก
สมุนไพรรสขมที่มีสาร Plain Insulin ตามธรรมชาติ ประกอบด้วยสารพี่อินซูลิน (P-Insulin) สารคาแรนติน (Charantin) และสารวิซีน (Vicine) ออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลินที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์ โดยทำหน้าที่ดึงนำตาลจากกระแสเลือดออกมาสร้างเป็นพลังงานในชีวิตประจำวัน
ปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับ ทั้งในสัตว์ทดลองและในผู้ป่วยเบาหวาน ยืนยันว่า สารคาแรนตินที่พบในมะระขึ้นกสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง โดยใช้มะระขึ้นกขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน
ซึ่งจากการติดตามผลไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงและไม่พบความเป็นพิษต่อตับ ฉะนั้นสามารถใช้มะระขี้นกเป็นอาหารหรือยาในการรักษาโรคเบาหวานได้อย่างปลอดภัย
คำเตือน: ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หรือผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ไกลพิไซด์โทลบูตาไมค์ ไกลเบนคลาไมด์ ไพโอกลิตาโซน เป็นต้น ควรระมัดระวังในการกิน เนื่องจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจต้องปรับปริมาณยาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
อบเชย
ในต่างประเทศนิยมใช้อบเชยเป็นส่วนผสมในขนม เนื่องจากมีสารให้ความหวานที่ทดแทนน้ำตาลได้ หนังสือ พฤกษบำบัด ยาดีจากธรรมชาติ สำนักพิมพ์บ้านและสวน ให้ข้อมูลว่า สารให้ความหวานที่อยู่ในอบเชยไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด มีสารออกฤทธิ์เทียบเคียงอินซูลิน จึงอาจมีสรรพคุณช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
โดยมีผลการศึกษาในวารสารโภชนศาสตร์คลินิกอเมริกันให้ข้อมูลว่า อบเชย มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลินของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อน และยังมีคุณสมบัติเป็นอาหารต้านจุลชีพ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคที่เรียและเชื้อราได้
คำเตือน: ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลที่ต่ำเกินไปจนเกิดอันตราย
ใบหม่อน
มีสารดีเอ็นเจ (DNJ) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส (α-glucosidase) โดยมีกลไกป้องกันไม่ให้ร่างกายย่อยคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก จึงช่วยยับยั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ สำหรับการศึกษาทางคลินิกพบว่า การกินผงใบหม่อนขนาด 5.4 กรัมในลักษณะชงดื่ม โดยแบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1.8 กรัม เป็นเวลา 3 เดือน มีผลทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดลดลงและไม่พบอาการข้างเดียงใดๆ
อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่า หากกินใบหม่อนติดต่อกัน 8 วัน จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดและทำให้ระดับฮีโมโกลบินกลับมาดีขึ้น
คำเตือน: ควรระมัดระวังในการใช้หม่อนร่วมกับยารักษาเบาหวาน โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส เช่น Acarbose เพราะอาจไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงมาก