8 วิธีป้องกันโรคนิ้วล็อก ที่ใครๆ ก็ทำตามได้
โรคนิ้วล็อก จะเป็นกับคนที่มีการใช้งานมือมากเกินไป หรือใช้มือผิดวิธี โดยเฉพาะผู้หญิงถึงร้อยละ 80 ที่หิ้วของหนักๆ ซ้ำๆ
นิ้วที่พบปัญหาล็อกบ่อยที่สุด คือ นิ้วหัวแม่มือและนิ้วนาง อาชีพที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อกและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ แม่บ้านที่หิ้วของหนักๆ คนตัดสวน ตัดแต่งกิ่งไม้ ช่างไฟฟ้า หมอนวดแผนโบราณ พนักงานพิมพ์คอมพิวเตอร์ นักกีฬาแบดมินตัน นักกอล์ฟ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบได้ในคนที่มือเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ และพบร่วมกับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบชนิดรูมาทอยด์ หรือผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นมากกว่าคนปกติ
โรคนิ้วล็อกมีสาเหตุชัดเจน และหากรู้จักระมัดระวังการใช้นิ้วอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้ ดังนี้
- ไม่หิ้วของหนัก
เช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำถ้าจำเป็นต้องหิ้ว ควรใช้ผ้าขนหนูรองและหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ แทนที่จะให้น้ำหนักตกที่ข้อนิ้วมือ หรือใช้วิธีการอุ้มประคองช่วยลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือได้
- ไม่ควรบิด
ซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ และซ้ำบ่อยๆ ควรซักด้วยเครื่องซักผ้า และไม่ควรบิดผ้าให้แห้งสนิท เพราะจะยึดปลอกหุ้มเอ็นจนครากและเป็นจุดเริ่มของโรคนิ้วล็อก
- นักกอล์ฟที่ต้องตีแรง ตีไกล ควรใส่ถุงมือ
หรือใช้ผ้าสักหลาดหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่มขึ้น เพื่อลดแรงปะทะ อีกทั้งไม่ควรไดรฟ์กอล์ฟอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
- เวลาทำงานที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่าง ควรระวังการกำ บด เครื่องมือทุนแรง
เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่และนุ่มขึ้น
- ชาวสวนระวังเรื่องการตัดกิ่งไม้ด้วยกรรไกร
ฟันดิน ฟันต้นไม้ด้วยมีด พร้า และอื่นๆ ที่ใช้แรงมือ ควรใส่ถุงมือเพื่อลดการบาดเจ็บของปลอกเอ็นกับเส้นเอ็น ห้ามใช้มือเปล่าหิ้วถังน้ำหนักๆ เป็นประจำ ควรต่อสายยางแทนการหิ้วถังน้ำ
- คนที่ยกของหนักๆ เป็นประจำ
เช่น คนส่งน้ำขวดถังแก๊ส แม่ครัวพ่อครัว ควรหลีกเลี่ยงการยกมือเปล่า ควรมีผ้ามารองจับขณะยก และใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็นรถลากแทน
- หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ หยิบ บีบ เครื่องมือเป็นเวลานานๆ ควรใช้เครื่องทุ่นแรง
เช่น ใช้ผ้าห่อที่จับให้ใหญ่และนุ่ม เช่น ใช้ผ้าห่อด้ามจับตะหลิวในอาชีพแม่ครัว
- งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง
ทำให้มือเมื่อยล้าหรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ เช่น ทำ 45 นาที ควรจะพักมือไปทำภารกิจอื่นสัก 10 นาที
ลองปฏิบัติตามนี้ รับรองนิ้งไม่ล็อกชัวร์ค๊า
ข้อมูลจาก คอลัมน์เกร็ดสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 185